แว่นตา VR สำหรับหนู ช่วยให้นักวิจัยศึกษาสมองของหนูได้
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยในมหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา พัฒนาอุปกรณ์แว่นตา VR สุดพิเศษ เพื่อใช้กับสัตว์เล็กอย่าง “หนูทดลอง” โดยทำให้หนูทดลอง มองเห็นภาพจำลองของเส้นทางและสิ่งกีดขวาง ขณะทดสอบการทำงานของสมอง และช่วยให้นักวิจัย มีเครื่องมือช่วยสังเกตการทำงานของสมอง จากกระบวนการทดสอบนี้ได้ง่ายขึ้น
ชุดแว่นตา AR และหูฟังดังกล่าว ได้รับการพัฒนาโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคอร์เนล (Cornell University) ซึ่งใช้ในการศึกษาว่า “สมองของสิ่งมีชีวิต มีการควบคุมการทำงาน และการควบคุมของหน่วยความจำอย่างไร” เพื่อให้นักวิจัยมีข้อมูลเชิงลึกใหม่ ๆ เกี่ยวกับความผิดปกติของสมอง เช่น โรคอัลไซเมอร์ หรือภาวะสมองเสื่อม และต่อยอดไปสู่วิธีการรักษาที่เป็นไปได้
ดร. แมทธิว ไอแซคสัน (Dr Matthew Isaacson) นักวิจัยร่วมของการศึกษาครั้งนี้ กล่าวกับสื่อรอยเตอร์ว่า ทีมวิจัยกำลังพยายามศึกษาผลของการรักษาโรคอัลไซเมอร์ในหนู โดยการเพิ่มการไหลเวียนของเลือดในเส้นเลือดฝอยเล็ก ๆ ในสมอง ซึ่งเชื่อว่าจะปรับปรุงการทำงานของหน่วยความจำในหนูได้
เพื่อทดสอบการทำงาน พวกเขาจึงตัดสินใจออกแบบอุปกรณ์แว่นตา VR และชุดหูฟังที่สามารถสวมใส่กับตัวหนูได้ และใช้เทคโนโลยี Virtual Reality จำลองสถานที่แบบโลกเสมือนจริง เพื่อให้หนูมองเห็น “โลกจำลอง” และวิ่งไปวิ่งมาตามด่านต่าง ๆ ที่นักวิทยาศาสตร์สร้างไว้
ในระหว่างการทดสอบ หนูจะถูกวางตำแหน่งให้ยืนบนลู่วิ่ง และสวมแว่นตา VR ซึ่งจะทำให้ตรึงส่วนหัวของหนูไว้กับที่ ในขณะที่มันมองเข้าไปในช่องมองภาพคู่ ซึ่งจะปรากฏสถานการณ์จำลองแบบต่าง ๆ โดยนักวิจัยก็จะถ่ายภาพกิจกรรมของเซลล์ประสาทของหนูไว้ด้วย
ปัจจุบันทีมวิจัยวางแผนที่จะพัฒนาแว่นตา VR นี้ต่อไป โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างแว่นตาที่มีความเบาและพกพาสะดวก สำหรับสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เช่น ตุ๊กแก เพื่อศึกษาการทำงานของสมองในสัตว์ประเภทอื่น ๆ ที่มีความหลากหลายมากขึ้น
ข้อมูลจาก reutersconnect, msn
ภาพจาก Reuters, Matthew Isaacson