รีเซต

สหรัฐฯ เปิดโปรเจ็กต์พัฒนาฮัมวีเป็นรถขับเคลื่อนอัตโนมัติ

สหรัฐฯ เปิดโปรเจ็กต์พัฒนาฮัมวีเป็นรถขับเคลื่อนอัตโนมัติ
TNN ช่อง16
20 มิถุนายน 2566 ( 09:31 )
98

กระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา ประกาศแผนการพัฒนาให้รถยนต์ทหารฮัมวี (High Mobility Multipurpose Wheeled Vehicle - Humvees) หรือยานยนต์ล้อยางอเนกประสงค์ความคล่องตัวสูง มีความสามารถขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเอง โดยแผนการพัฒนานี้อยู่ภายใต้โครงการระบบสำรวจและติดตั้งภาคพื้นดินแบบอัตโนมัติ หรือ GEARS (Ground Expeditionary Autonomy Retrofit System)


ที่มาของแผนการพัฒนา เริ่มต้นจากหน่วยงานนวัตกรรมด้านกลาโหมสหรัฐฯ (Defense Innovation Unit - DIU) ต้องการยกระดับยุทโธปกรณ์ของกองทัพให้มีขีดความสามารถในการขับเคลื่อนอัตโนมัติภายในเวลาอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยเหตุผลหลักของการยกระดับครั้งนี้ คือต้องการปกป้องคนขับหรือผู้ปฏิบัติงานที่เป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นส่วนที่เปราะบางที่สุดของยานพาหนะทางทหาร



ปกติแล้ว ในเขตสมรภูมิการสู้รบ รถขนส่งเสบียงและกองกำลังมักจะเป็นเป้าหมายถูกโจมตี และการโจมตีรถขนส่งกองกำลังต่าง ๆ ซึ่งสามารถหยุดยั้งปฏิบัติการทางทหาร หรือทำลายขวัญกำลังใจของกองทัพได้ เช่นในเขตที่ถูกกองกำลังยึดครอง หรือพื้นที่ที่มีผู้ก่อความไม่สงบ ดังนั้น หากมียานพาหนะขนส่งกำลังบำรุงเป็นหุ่นยนต์และทำงานอัตโนมัติได้เต็มรูปแบบ ยานพาหนะของกองทัพที่ถูกจู่โจมจนเสียหายจะเป็นเพียงยุทโธปกรณ์ที่สูญเสียไป แต่ไม่ใช่ชีวิตมนุษย์ที่ต้องสูญสิ้น


ด้วยเหตุนี้ หน่วยนวัตกรรมด้านกลาโหมสหรัฐฯ จึงกำหนดให้วันที่ 13 มิถุนายน ที่ผ่านมา เป็นวันแห่งการรวบรวมแนวคิดว่าจะพัฒนายานพาหนะอัตโนมัติอย่างไรให้ดีที่สุด ซึ่งมีการกำหนดให้เหล่าบริษัทผู้ขายอาวุธยุทโธปกรณ์ ยื่นประกวดโครงการแผนพัฒนาความสามารถในการพัฒนายานพาหนะอัตโนมัติ ซึ่งมีเงื่อนไขว่า เมื่อทำสัญญากับกองทัพแล้ว บริษัทเหล่านั้น จะต้องสามารถส่งมอบรถฮัมวีส์ขับเคลื่อนอัตโนมัติจำนวน 50 คันต่อปี หรือมากกว่านั้นภายในระยะเวลา 2 ปีครึ่งให้กับกองทัพสหรัฐฯ


โดยหน่วยนวัตกรรมด้านกลาโหมสหรัฐฯ ประกาศในแถลงการณ์ว่า “กระทรวงกลาโหมมีกองยานพาหนะทางทหารสำหรับปฏิบัติการด้านขนส่งอยู่จำนวนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ยานพาหนะเหล่านี้ต้องใช้คนควบคุมในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ยานพาหนะที่มีคนควบคุมจะสร้างความเสี่ยงที่ไม่จำเป็นต่อชีวิตของผู้ปฏิบัติงาน” 




ผู้ปฏิบัติงานที่เป็นมนุษย์ยังมีวงจรการทำงานจนถึงเวลาพัก ส่งผลให้เกิดข้อจำกัดด้านเวลา ขณะที่ในสถานการณ์ความขัดแย้งที่อาจยกระดับอย่างรวดเร็ว การเคลื่อนย้ายเสบียงจากพื้นที่หนึ่งไปยังอีกพื้นที่อย่างต่อเนื่อง จะยกระดับขีดความสามารถปฏิบัติการทางการทหาร ในขณะที่ยังคงปกป้องความปลอดภัยของกองกำลังเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานไว้ได้อย่างต่อเนื่อง” หน่วยนวัตกรรมด้านกลาโหมสหรัฐฯ เสริม


หน่วยนวัตกรรมด้านกลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่า ยานยนต์อัตโนมัติคันใหม่ต้องมีความสามารถปฏิบัติการในสภาพแวดล้อมทางทหารได้ โดยภารกิจที่ต้องการจะประกอบไปด้วย การขับเคลื่อนแบบขบวน, การนำทางแบบเวย์พอยต์ (กำหนดเส้นทางล่วงหน้า) และเทเลโอเปอเรชั่น (การควบคุมปฏิบัติการจากระยะไกล)  


นอกจากนี้ ยานยนต์อัตโนมัติเหล่านี้ควรเป็นสถาปัตยกรรมแบบเปิดที่เป็นมาตรฐานเดียวกันสำหรับกองทัพ และสามารถผสมผสานระบบฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และคุณลักษณะการใช้งานใหม่ ๆ โดยที่ยังมีความอิสระในการปรับแต่งอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่กล่าวไว้ในเบื้องต้นอีกด้วย 


สำหรับวัตถุประสงค์สูงสุดของยานยนต์อัตโนมัติ คือการเพิ่มยานพาหนะกองทัพที่สามารถทำงานได้โดยไม่ต้องการการควบคุมจากมนุษย์ โดยการพัฒนาอาจเป็นได้ทั้งการใช้ระบบควบคุมระยะไกล โดยใช้คนขับอยู่ในศูนย์ควบคุม หรือแม้กระทั่งการไม่ใช้คนขับเลยก็ตาม โดยรถบรรทุกเสบียงจะกลายเป็นตู้สินค้าที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ ลดความเสี่ยงในการตกเป็นเป้าหมายสำคัญทางทหาร และแม้ว่าอุปกรณ์ หรือสินค้าที่อยู่ในการขนส่งจะสูญหายไปหากถูกโจมตี แต่การนำทางระยะไกลจะช่วยให้เจ้าหน้าที่ทหารได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับเวลาและตำแหน่งของเหตุการณ์ดังกล่าว 



ด้วยเหตุนี้ กองทัพจึงสามารถใช้ฐานทัพทหารเป็นศูนย์ปฏิบัติการในเครือข่ายการขนส่งขนาดใหญ่ แทนที่จะเป็นกองคาราวานที่สามารถเกิดความสูญเสียในชีวิตของผู้ปฏิบัติงาน ภายใต้สถานการณ์สู้รบและโจมตีอย่างต่อเนื่อง 


ทั้งนี้ กองทัพอื่น ๆ เช่น กองทัพออสเตรเลียกำลังทดลองพัฒนายานพาหนะควบคุมอัตโนมัติเช่นเดียวกัน


ที่มาของข้อมูล Interestingengineering

ที่มาของรูปภาพ AM General

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง