โลกจ่อย้ายโรงงานออกจากจีน หลังโควิดส่อแววกระทบระยะยาว
สำนักข่าว South China Morning Post รายงานว่า สถานการณ์เศรษฐกิจจีนอาจยังไม่ฟื้นตัวอย่างที่คาด หลังมีแนวโน้มว่า บรรดาโรงงานต่าง ๆ อาจทยอยย้ายฐานการผลิตออกจากจีนแผ่นดินใหญ่
---วิกฤตโควิดกระทบจีนระยะยาว---
เมื่อวันเสาร์ (15 มกราคม) ที่ผ่านมา หลิว กุ้ยผิง รองผู้ว่าการธนาคารกลางจีน (PBOC) กล่าวในงาน Global Asset Management Forum ณ กรุงปักกิ่ง โดยระบุว่า ผลกระทบจากโควิด-19 เร่งให้เกิดการกระจายกำลังการผลิตออกจากจีนแผ่นดินใหญ่
“นอกเหนือจากอิทธิพลของการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ ภาคอุตสาหกรรมของจีนกำลังเผชิญกับแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า หลังอุตสาหกรรมต่าง ๆ ย้ายฐานไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงกลับไปตั้งฐานการผลิตในประเทศของตัวเอง” หลิว กล่าว
เขายังระบุถึงภัยคุกคามอื่น ๆ ที่มีต่อเศรษฐกิจจีน ทั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19, อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และนโยบายการเงินที่เข้มงวด รวมถึงการต่อต้านโลกาภิวัตน์และการป้องกันการผูกขาดที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ปัญหาการขาดแคลนชิปและการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานการผลิต ยังคุกคามต่อการลงทุนทั่วโลกอีกด้วย
---ย้ายโรงงานสู่ประเทศค่าแรงต่ำ---
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนได้เห็นภาพการอพยพของโรงงาน ที่ย้ายฐานไปยังประเทศที่ค่าแรงถูกกว่า อย่างเช่น ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สหรัฐฯ และญี่ปุ่น รวมถึงประเทศอื่น ๆ ที่พัฒนาแล้ว ต่างพยายามลดการพึ่งพาการผลิตของจีน และดึงงานด้านการผลิตกลับมาทำในประเทศตนเองมากขึ้น ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทานในจีน
ขณะที่ การแข่งขันระหว่างจีน-สหรัฐฯ และการเก็บภาษีสินค้านำเข้าที่สูงขึ้นในยุคอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้สร้างโอกาสให้ประเทศต่าง ๆ มีบทบาทในด้านการค้ามากขึ้น เช่น เวียดนาม และเม็กซิโก
ทั้งนี้ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership - RCEP) ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา ยังได้กระตุ้นการเก็งกำไร หลังความน่าสนใจที่เพิ่มขึ้นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาจเร่งให้ภาคการผลิต “ย้ายฐานออกจากประเทศจีน”
---จีนมุ่งสู่ยุทธศาสตร์วงจรคู่ขนาน---
หลิว ยังเตือนถึงความเสี่ยงของกระแสเงินทุนไหลออกจำนวน “มหาศาล” จากตลาดเกิดใหม่ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินในประเทศเศรษฐกิจหลัก
และยังคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งธนาคารกลางสหราชอาณาจักรและอินเดียได้ดำเนินการไปก่อนแล้ว และธนาคารกลางยุโรปกำลังพิจารณาอยู่ด้วย
หลิว กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อาจทำให้สินทรัพย์ในสกุลเงินยูโรและดอลลาร์สหรัฐฯ ไหลย้อนกลับไปยังยุโรปและสหรัฐฯ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในตลาดการเงินโลก และส่งผลกระทบต่อจีนรุนแรงยิ่งกว่าเดิม
อย่างไรก็ตาม เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับสภาพแวดล้อมโลกที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน หลิว ยังเน้นถึงความสำคัญของการกระตุ้นตลาดภายในประเทศ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของยุทธศาสตร์วงจรคู่ขนานของจีน
---พัฒนาตลาดในประเทศ-ดึงดูดต่างชาติ---
หลิวกล่าวด้วยว่า นโยบายดังกล่าว จำเป็นต้องขยายขอบเขต และเพิ่มนโยบายการเงินที่เหมาะสม เพื่อช่วยให้จีนเตรียมพร้อมรับมือกับการหดตัวของอุปสงค์, ภาวะอุปทานหยุดชะงัก และเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มอ่อนแอลง
เขาเสริมว่า จีนควร “ใช้ประโยชน์จากศักยภาพมหาศาลของตลาดภายในประเทศอย่างเต็มที่”
“จีนควรจัดหาเงินทุนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ, ส่งเสริมการสร้างผลิตภัณฑ์ และบริการทางการเงินที่เอื้อต่อการเพิ่มรายได้ให้กับตัวเมืองและพื้นที่ชนบท รวมถึงส่งเสริมการเพิ่มอำนาจการใช้จ่ายของผู้บริโภค” หลิว กล่าว
ด้าน โหลว จี้เหว่ย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงานเดียวกันว่า จีนกำลังพยายามดึงดูดการลงทุนจากบริษัทต่างชาติ ด้วยการเปิดกว้างและปรับปรุงสภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบ เพื่อให้แน่ใจว่า ผู้ประกอบการต่างชาติได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม
—————
แปล-เรียบเรียง: พัชรี จันทร์แรม
ภาพ: Reuters