“ภัยแล้งหิมะ” ความเสี่ยงใหม่ในยุคโลกเดือด

ภัยแล้งในยุคโลกร้อนอาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่ฝนที่หายไปในช่วงฤดูฝนอีกต่อไป เพราะการศึกษาใหม่ล่าสุดจากสถาบันนิเวศวิทยาและภูมิศาสตร์ซินเจียง สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน ซึ่งเผยแพร่ผ่านวารสารวิชาการ Geophysical Research Letters พบว่า ภาวะโลกร้อนกำลังเพิ่มความถี่และความรุนแรงของ “ภัยแล้งหิมะ” (snow drought) ซึ่งจะส่งผลกระทบกว้างขวางในระยะยาวต่อแหล่งน้ำธรรมชาติ ระบบเกษตรกรรม และโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำในหลายภูมิภาคทั่วโลก โดยเฉพาะพื้นที่ที่พึ่งพาหิมะละลายเป็นแหล่งน้ำต้นทุน
“ภัยแล้งหิมะ” หมายถึง ภาวะที่ปริมาณหิมะที่ละลายตามฤดูกาลมีน้อยกว่าปกติ ซึ่งส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำไหลลงสู่แม่น้ำ ลำธาร อ่างเก็บน้ำ และระบบชลประทานในช่วงฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน อันเป็นช่วงเวลาที่ความต้องการใช้น้ำสูงสุด นักวิจัยแบ่งภัยแล้งหิมะออกเป็นสามประเภท ได้แก่
1. ภัยแล้งหิมะแบบแห้ง (dry snow drought) เกิดจากปริมาณน้ำฝนหรือหิมะในฤดูหนาวน้อยกว่าค่าปกติ
2. ภัยแล้งหิมะแบบอบอุ่น (warm snow drought) เกิดจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น จนฝนตกมากกว่าหิมะตก หรือทำให้หิมะละลายเร็วกว่าที่ควร
3. ภัยแล้งหิมะแบบผสม (compound snow drought) เป็นการผสมกันของสภาพแห้งและสภาพอบอุ่น กล่าวคือ ทั้งมีฝนน้อยและอุณหภูมิสูงกว่าค่าเฉลี่ย
ซึ่งนักวิจัยพบว่า ภัยแล้งหิมะแบบอบอุ่นจะมีบทบาทสำคัญยิ่งขึ้นในอนาคต โดยคาดว่าจะกลายเป็นภัยแล้งหิมะประเภทหลัก คิดเป็นสัดส่วนถึงประมาณ 65% ของภัยแล้งหิมะทั้งหมดภายในปี 2050 และหากไม่มีการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ความถี่ของภัยแล้งหิมะแบบอบอุ่นอาจเพิ่มสูงถึง 6.6 เท่าในช่วงเวลาเดียวกัน
โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งหิมะมากที่สุดตามผลการศึกษาคือบริเวณละติจูดกลางและสูงของซีกโลกเหนือเช่นแถบอาร์กติก ยุโรปตอนกลางและตอนเหนือ สหรัฐอเมริกาตอนเหนือ จีนตอนเหนือญี่ปุ่นตอนกลางและเกาหลีใต้เป็นต้น ซึ่งรวมถึงภูมิภาคที่มีประชากรจำนวนมากพึ่งพาน้ำจากการละลายของหิมะ เช่น ภูเขาร็อกกี้ของสหรัฐฯ เทือกเขาแอลป์ในยุโรป และเทือกเขาหิมาลัยในเอเชีย
ความสำคัญของหิมะไม่ได้มีเพียงแค่เป็นผลผลิตจากฤดูหนาวเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่เป็น "ธนาคารน้ำ" ธรรมชาติ ที่ช่วยกักเก็บน้ำไว้ในช่วงที่อุณหภูมิต่ำ และค่อย ๆ ปล่อยน้ำอย่างช้า ๆ เมื่ออากาศเริ่มอุ่นขึ้นในฤดูใบไม้ผลิ การละลายของหิมะอย่างค่อยเป็นค่อยไปมีความสำคัญต่อระบบนิเวศ การเกษตร และการบริหารจัดการน้ำของมนุษย์ หากปริมาณหิมะลดลง หรือหิมะละลายรวดเร็วผิดปกติในช่วงต้นฤดู น้ำจำนวนมากจะสูญหายไปโดยไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในฤดูร้อนได้ และยังเพิ่มความเสี่ยงต่ออุทกภัยในบางพื้นที่ รวมถึงไฟป่าในช่วงฤดูแล้ง
ก็จะเห็นว่า หิมะนั้น มีบทบาทสำคัญต่อวัฏจักรน้ำทั่วโลก ถ้าหากหิมะลดลงเรื่อย ๆ ในอนาคตก็จะทำให้ภัยพิบัติทางธรรมชาตินั้นรุนแรงขึ้นเป็นเท่าตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แน่นอน