รีเซต

จับตา "แลมบ์ดา" เชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ ระบาดแล้ว 30 ประเทศ

จับตา "แลมบ์ดา" เชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ ระบาดแล้ว 30 ประเทศ
TNN ช่อง16
7 กรกฎาคม 2564 ( 08:50 )
349

วันนี้ (7 ก.ค.64) แลมบ์ดา (Lambda) ชื่อเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ใหม่ที่ต้องขีดเส้นให้ระวัง หลังมีความเป็นไปได้ที่เชื้อตัวนี้อาจระบาดแรงกว่า เชื้อเดลต้าที่กำลังระบาดในเกือบ 100 ประเทศทั่วโลกทั้งๆ ประเทศที่ฉีดวัคซีนกันเยอะแล้วก็เจอคนติดเชื้อพุ่ง ส่วนประเทศฉีดวัคซีนน้อย เผชิญศึกเชื้อกลายพันธุ์ไม่แตกต่างกันนัก 

สำหรับเชื้อกลายพันธุ์แลมบ์ดา รหัส C.37 นั้น โลกเพิ่งจะรู้จักไปเมื่อช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แต่จริงๆ แล้วพบครั้งแรกในประเทศเปรู เมื่อเดือนสิงหาคม ก่อนมีรายงานว่า เชื้อระบาดเร็วมาก ทำให้เปรูมีอัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 สูงที่สุดในโลก เมื่อเทียบอัตราประชากร  ซึ่งตามรายงานของหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทม์ส ระบุว่า ประมาณ 80% ของผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ใหม่ในเปรู เป็นเชื้อไวรัสแลมบ์ดา ซึ่งอัตราการเสียชีวิตสูง คิดเป็น 600 คนต่อประชากร 1 แสนคน

เชื้อไวรัสพันธุ์นี้หลักๆ พบในทวีปอเมริกาใต้ อย่างในชิลีพบว่าเชื้อไวรัสสายพันธุ์นี้พบในอัตราส่วนเกือบ 1 ใน 3 ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ เช่นเดียวกับเอกวาดอร์และอาร์เจนตินา ที่กำลังมีการระบาดอย่างรวดเร็วของไวรัสสายพันธุ์นี้ 

ทว่า ในระยะเวลา 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา กลับพบเชื้อตัวนี้ใน 30 ประเทศทั่วโลกแล้ว กลุ่มประเทศที่ตรวจพบการติดเชื้อแลมบ์ดา รวมถึง สหราชอาณาจักร ตรวจพบ 6 ราย นักวิทยาศาสตร์แสดงความวิตกว่า ไวรัสแลมบ์ดามีความร้ายแรงในการติดเชื้อ มากกว่าไวรัสเดลต้า หรือไวรัสสายพันธุ์อินเดีย และมีภูมิต้านทานวัคซีนมากกว่าไวรัสชนิดอื่นๆ รวมถึงไวรัสแกมม่า และไวรัสอัลฟ่า 

เมื่อสหราชอาณาจักรรายงานผู้ติดเชื้อในหลายพื้นที่ของประเทศภารกิจสู้โควิด-19 ยิ่งตึงกว่าเดิมเพราะตอนนี้ สหราชอาณาจักร และประเทศอื่นแถบยุโรปเองก็กำลังต่อสู้อย่างต่อเนื่องกับเชื้อเดลต้ากันอยู่  

ขณะที่ ใกล้เอเชีย ก็มีประเทศออสเตรเลียที่ออกมาประกาศแล้วว่า พบเชื้อแลมบ์ดาในประเทศแล้ว โดยไปนักเดินทางต่างชาติติดเชื้อกลายพันธุ์ตัวใหม่ หลังกักตัวอยู่ภายในโรงแรมในรัฐนิวเซาท์เวลส์ในเดือนเมษายน ในเบื้องต้นยังมีข่าวดี ว่า ทางการยังไม่พบว่าเชื้อตัวนี้แพร่กระจายในหมู่ชุมชนในออสเตรเลีย 

การศึกษาวิจัยของคณะนักวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติชิลี ในกรุงซันติอาโก เพื่อตรวจสอบผลกระทบของไวรัสแลมบ์ดาที่มีต่อคนงานที่ได้รับการฉีดวัคซีนโคโรนาแวคของจีน 2 เข็ม พบว่า ไวรัสแลมบ์ดาสามารถติดเชื้อได้รวดเร็วและรุนแรงกว่าไวรัสแกมม่าและไวรัสอัลฟ่า และสามารถหลบหลีกสารภูมิต้านทาน ที่ผลิตโดยวัคซีนต้านโควิด-19 ได้ดีกว่า

ส่วนประเด็นว่า เชื้อติดกันง่ายกว่า เชื้อกลายพันธุ์ชนิดอื่นหรือไม่ ต้องเปิดทางให้ทีมผู้เชี่ยวชาญศึกษาเพิ่มเติมในประเด็นนี้ เพราะตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ไวรัสแลมบ์ดามีการเปลี่ยนแปลงหลากหลายรูปแบบ ทำให้มันแพร่เชื้อได้ง่าย และมีฤทธิ์ต้านทานโปรตีนต่อต้านเชื้อโรคในร่างกายมนุษย์ โปรตีนหนามที่ไวรัสแลมบ์ดาใช้ในการแพร่เชื้อสู่เซลล์ของมนุษย์ มีรูปแบบกลายพันธุ์เป็นเอกลักษณ์จำเพาะ ถึง 7 รูปแบบ มีส่วนที่ทำให้ติดเชื้อได้ง่ายขึ้น 

ในเวลานี้ เชื้อกลายพันธุ์ "แลมบ์ดา" จัดอยู่ใน สายพันธุ์ “variant of interest" หมายถึงเป็นเชื้อสายพันธุ์น่าจับตามอง ต่างจากสายพันธุ์ "variant of concern" หรือสายพันธุ์ที่น่ากังวล

อย่างสายพันธุ์เดลต้า ที่พบครั้งแรกในอินเดีย ถูกจัดเป็นสายพันธุ์ที่ต้องให้ความสนใจ ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม เนื่องจากมีการแพร่กระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว

สำหรับเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์กลายพันธุ์ที่ผู้เชี่ยวชาญกังวลกันมากที่สุดในปัจจุบันมีอยู่ 4 สายพันธุ์คือ

อัลฟ่า (Alpha) ตรวจพบครั้งแรกในสหราชอาณาจักร

เบต้า (Beta) ตรวจพบครั้งแรกในแอฟริกาใต้

แกมม่า (Gamma) ตรวจพบครั้งแรกในบราซิล

เดลต้า (Delta) ตรวจพบครั้งแรกในอินเดีย

การจัดกลุ่ม "เชื้อกลายพันธุ์ที่น่ากังวล" เพราะมีความเสี่ยงที่จะเป็นภัยคุกคามด้านสาธารณสุข เช่น สามารถทำให้เชื้อโรคโควิดติดต่อกันได้ง่ายขึ้น ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยรุนแรง หรือทำให้เชื้อต้านทานวัคซีนได้  

วงจรระบาดจะเปลี่ยนจากเชื้อกลายพันธุ์แบบเก่าไปใหม่มาหรือไม่ ขึ้นอยู่กับ การฉีดวัคซีน จะไปถึง 70% ของประชากรโลกสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ภาพใหญ่ แต่จะติดอุปสรรคประเทศที่มีรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำที่วัคซีนไม่พอ 

ดังนั้น แผนระยะยาวจะต้องดูที่การบริหารจัดการป้องกันตามพรมแดนประเทศที่พบการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ มาตรการตรวจเข้มคนที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง จะสร้างความแข็งแกร่งให้ระบบสาธารณสุขทุกประเทศทั่วโลกได้หรือไม่



ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง