รีเซต

ยุค "โลกเดือด" พายุไต้ฝุ่นขึ้นฝั่งอ่อนกำลัง แต่ฝนตกหนักมากกว่าปกติ

ยุค "โลกเดือด" พายุไต้ฝุ่นขึ้นฝั่งอ่อนกำลัง แต่ฝนตกหนักมากกว่าปกติ
TNN ช่อง16
2 ตุลาคม 2567 ( 17:33 )
31
ยุค "โลกเดือด" พายุไต้ฝุ่นขึ้นฝั่งอ่อนกำลัง แต่ฝนตกหนักมากกว่าปกติ

ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โพสต์เฟซบุ๊ก Sonthi Kotchawat ระบุว่า ในยุคโลกเดือด พายุไต้ฝุ่นจะอ่อนกำลังลงเมื่อเคลื่อนเข้าสู่แผ่นดิน แต่ฝนจะตกหนักมากกว่าปกติร้อยละ 25 ถึง 30


1. พายุก่อตัวขึ้นและเมื่อเคลื่อนที่ผ่านทะเล หรือมหาสมุทร จะกลายเป็นพายุไต้ฝุ่นหรือซูเปอร์ไต้ฝุ่น เพราะอะไร ?


ในภาวะโลกร้อนเกือบถึง 1.5 องศาฯ น้ำในมหาสมุทรจะมีอุณหภูมิที่สูงกว่าปกติ (น้ำอุ่น) รวมทั้งอากาศเหนือมหาสมุทรมีอุณหภูมิที่สูงขึ้นด้วย ทำให้เกิดการระเหยของน้ำได้มากขึ้นกว่าเมื่อก่อน ลมพายุที่พัดผ่านจะดูดเอาความชื้นที่ระเหยขึ้นมา รวมทั้งอากาศร้อนเข้าไว้ในตัวพายุ กลายเป็นมวลความกดอากาศต่ำขนาดใหญ่ขึ้น และกลายเป็นพายุหมุนไต้ฝุ่นที่รวบรวมเอาทั้งความชื้นและอากาศร้อนไว้ในตัวเอง โดยจะเคลื่อนที่ด้วยความเร็วมากกว่า 118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง


การที่โลกมีอุณหภูมิที่ร้อนขึ้นเฉลี่ย 1.5 องศาจะทำให้เกิดพายุไต้ฝุ่นในมหาสมุทรจำนวนมาก และรุนแรงมากกว่าเมื่อก่อนถึงร้อยละ 25


2.เมื่อพายุไต้ฝุ่นเคลื่อนเข้ามาในแผ่นดินจะอ่อนกำลัง และมีความเร็วลดลงด้วยสาเหตุ 2 ประการ


2.1 ประเด็นหลักคือเมื่อพัดเข้าใกล้หรือขึ้นมาบนฝั่งจะปะทะอากาศที่เย็นกว่าจะทำให้เกิดฝนตกในปริมาณมาก อาจเกิดน้ำท่วมได้ และจะทำให้ตัวพายุหมุนมีความชื้นและไอน้ำในตัวเองลดลง ขณะที่บนแผ่นดินไม่มีปริมาณน้ำมหาศาลที่ระเหยขึ้นให้พายุดูดเหมือนอยู่ในมหาสมุทร รวมทั้งอากาศที่อยู่เหนือแผ่นดินมีอุณหภูมิที่ต่ำกว่าในมหาสมุทร จึงเป็นสาเหตุให้ความเร็วของพายุไต้ฝุ่นลดลงเรื่อย ๆ กลายเป็นพายุโซนร้อน (มีความเร็วอยู่ระหว่าง 63-118 กม.ต่อชม.) และกลายเป็นพายุดีเปรสชั่น (ความเร็วต่ำกว่า 63 กม.ต่อชม.) สุดท้ายเป็นเพียงแค่หย่อมความกดอากาศต่ำและสลายตัวไปเอง


2.2 หากพายุพัดเข้าสู่แผ่นดินผ่านสภาพภูมิประเทศที่สูงกว่าพื้นราบ เช่น ภูเขา ที่ราบสูง เป็นต้น จะทำให้เกิดแรงเสียดทาน (friction) ระหว่างลมพายุกับพื้นภูเขามากขึ้น จึงทำให้ความเร็วลมพายุลดลงบ้าง แต่จะมีฝนตกหนักที่หน้าภูเขา หากเป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธาร ฝนจะตกหนักมากขึ้น หากมีการเปิดหน้าดินบนภูเขาด้วยน้ำจะไหลเชี่ยวกรากจากที่สูงลงที่ต่ำและจะพัดพาเอาหน้าดินและโคลนต่าง ๆ ไหลลงพื้นที่ราบด้านใต้ ซึ่งคาดการณ์ว่าในยุคโลกร้อนจะเกิดฝนตกหนักมากขึ้นถึง 25-30 % ทุก ๆ อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น1 องศาฯ อย่างไรก็ตามหากเป็นยอดเขาที่สูง และมีพายุที่มีกำลังแรงพัดผ่าน อาจทำให้เกิดกระแสลมหมุนรุนแรงหลังภูเขา(Eddy current) ก่อให้เกิดความเสียหายได้มากขึ้น ทำความเสียหายได้มากขึ้น


3. ปัจจัยที่ทำให้ประเทศไทยใกล้พื้นที่สูงเกิดน้ำท่วมหนัก ดินโคลนถล่มมากขึ้นทุก 2 ถึง 5 ปี คือ ในยุคโลกร้อน ฝนจะตกมากขึ้นและนานกว่าปกติ , ป่าไม้บนยอดดอยถูกทำลายและมีการบุกรุกจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมากขึ้น , ผังเมืองและผังการใช้ที่ดินในพื้นที่ราบเกิดการเปลี่ยนแปลง มีการก่อสร้างถนนและบ้านเรือนขวางทางน้ำ , พื้นที่แม่น้ำลำคลองที่รองรับน้ำตื้นเขิน , แม่น้ำโขงล้นตลิ่งและฝนตกหนัก ทำให้เขื่อนรับน้ำไม่ได้ , น้ำทะเลหนุน เป็นต้น



ข้อมูลและภาพ : เฟซบุ๊ก Sonthi Kotchawat

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง