รีเซต

ทดสอบรถบินได้ระหว่างสนามบินในสโลวาเกีย

ทดสอบรถบินได้ระหว่างสนามบินในสโลวาเกีย
ข่าวสด
1 กรกฎาคม 2564 ( 16:25 )
276
  •  

รถยนต์บินได้ต้นแบบทดสอบบินเป็นเวลา 35 นาทีระหว่างสนามบินนานาชาติในเมืองนิทราและบราติสลาวา ของสโลวาเกีย

 

 

แอร์คาร์ (AirCar) ยานพาหนะลูกผสมระหว่างรถยนต์และเครื่องบิน ใช้เครื่องยนต์ของ บีเอ็มดับเบิลยู (BMW) และใช้เชื้อเพลิงปกติทั่วไป

 

 

 

ศ.สเตฟาน ไคลน์ ผู้สร้างยานพาหนะนี้ กล่าวว่า มันสามารถบินได้ราว 1,000 กิโลเมตร ที่ระดับความสูง 2,500 เมตร และจนถึงขณะนี้สามารถเดินทางกลางอากาศได้นาน 40 ชั่วโมง

 

 

โดยใช้เวลา 2 นาที 15 วินาที ในการแปลงจากรถยนต์เป็นเครื่องบิน

 

 

 

'น่าพอใจอย่างยิ่ง'

ปีกที่แคบจะพับเก็บแนบอยู่ข้างรถ

ศ.ไคลน์ขับมันไปตามทางขึ้นลงเครื่องบินและขับเข้าไปในเมืองเมื่อเดินทางมาถึง ท่ามกลางการเฝ้าชมของผู้สื่อข่าวที่ได้รับเชิญ

เขาบรรยายประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเช้าตรู่ของวันจันทร์ (28 มิ.ย.) ว่า "ปกติ" และ "น่าพอใจอย่างยิ่ง"

ช่วงที่บินอยู่กลางอากาศ ยานพาหนะนี้สามารถเร่งความเร็วได้ถึง 170 กม.ต่อชั่วโมง สามารถบรรทุกคนได้ 2 คน ซึ่งมีน้ำหนักตัวรวมกันไม่เกิน 200 กิโลกรัม

 

 

 

 

 

แต่ต่างจากแท็กซี่โดรนต้นแบบ ยานพาหนะนี้ไม่สามารถบินขึ้นและลงในแนวดิ่งได้ จำเป็นต้องใช้ทางขึ้นลงเครื่องบิน

มีความคาดหวังสูงมากในตลาดรถยนต์บินได้ที่กำลังเริ่มขึ้น ซึ่งในวัฒนธรรมสมัยนิยม มองว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งโลกอนาคต

ในปี 2019 มอร์แกน สแตนลีย์ บริษัทที่ปรึกษา ทำนายว่า ตลาดนี้อาจมีมูลค่าสูงถึง 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 48 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2040

ไมเคิล โคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ ฮุนได มอเตอร์ ยุโรป (Hyundai Motors Europe) เรียกแนวคิดนี้ว่า "ส่วนหนึ่งของอนาคตของเรา"

ถือว่าเป็นทางออกที่เป็นไปได้ของการขนส่งที่แออัดในปัจจุบัน

 

 

"ตลาดใหญ่"

ไคลน์ วิชัน (Klein Vision) บริษัทที่อยู่เบื้องหลังแอร์คาร์ ระบุว่า ใช้เวลาราว 2 ปี ในการพัฒนาพาหนะต้นแบบนี้ และใช้เงินลงทุน "ไม่ถึง 2 ล้านยูโร" (ประมาณ 76 ล้านบาท)

แอนตัน ราจัก (Anton Rajac) ที่ปรึกษาและนักลงทุนในไคลน์ วิชัน กล่าวว่า ถ้าทางบริษัทสามารถแบ่งส่วนแบ่งมาจากยอดขายแท็กซี่หรือสายการบินทั่วโลกมาได้สัดส่วนเพียงเล็กน้อย ก็ถือเป็นการประสบความสำเร็จครั้งใหญ่แล้ว

 

 

เขากล่าวว่า "ในสหรัฐฯ เพียงแห่งเดียว มีคำสั่งซื้อเครื่องบินราว 40,000 ลำ"

"ถ้าเราเปลี่ยนเครื่องบินมาเป็นรถยนต์บินได้ในสัดส่วน 5% ก็ถือเป็นตลาดใหญ่"

 

 

"เจ๋งมาก"

ดร.สตีเฟน ไรต์ นักวิจัยอาวุโสในด้านเครื่องบินและวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเกี่ยวกับอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์แห่งการบิน มหาวิทยาลัยเวสต์ออฟอิงแลนด์ (University of the West of England) กล่าวว่า เขาไม่คิดว่า ยานพาหนะนี้จะช่วยประหยัดในแง่ของต้นทุนเชื้อเพลิงได้ เมื่อเทียบเครื่องบินแบบอื่น

 

 

ดร.ไรต์ กล่าวว่า "ผมต้องยอมรับว่า มันดูเจ๋งมาก แต่ผมมีคำถามนับร้อยคำถามเกี่ยวกับเอกสารรับรอง"

"ใคร ๆ ก็ทำเครื่องบินได้ แต่จะทำยังไงให้บินได้นานนับล้าน ๆ ชั่วโมง โดยมีคนบนเครื่องและไม่เกิดอุบัติเหตุ"

"ผมเฝ้ารอที่จะเห็นเอกสารที่บอกว่า เครื่องบินนี้ปลอดภัยในการบินและปลอดภัยในการขาย"

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง