“อิฐอวกาศ” แรงบันดาลใจจาก LEGO ทำจากฝุ่นอุกกาบาตอายุ 4,500 ล้านปี
ทีมนักวิทยาศาสตร์จากองค์กรอวกาศยุโรป (European Space Agency) สร้างก้อนอิฐอวกาศที่ได้แรงบันดาลใจมาจากตัวต่อเลโก้ (LEGO) โดยทำจากฝุ่นอวกาศ (Space Dust) ของอุกกาบาตอายุ 4,500 ล้านปี เพื่อเอาอิฐที่ได้นี้ ไปใช้ออกแบบเป็นที่พักของนักบินอวกาศบนดวงจันทร์ในอนาคต
ผลงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการอาร์ทีมิส (Artemis) โครงการที่จะส่งมนุษย์กลับไปสำรวจดวงจันทร์อีกครั้ง โดยทีมวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์ขององค์กรอวกาศของยุโรป ได้เลือกใช้เศษฝุ่นจากอุกกาบาตอายุ 4,500 ล้านปี ที่ค้นพบในแอฟริกาเหนือเมื่อปี ค.ศ. 2000 เพื่อใช้ในการทดสอบว่าวัสดุนี้ สามารถนำมาใช้สร้างเป็นที่พักพิงบนดวงจันทร์ได้หรือไม่
โดยทีมวิจัยได้บดอุกกาบาตให้เป็นเศษเล็ก ๆ และผสมเข้ากับพลาสติกพอลิแลกไทด์ (polylactide) ซึ่งเป็นพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ รวมกับหินดวงจันทร์เทียม (regolith simulant) อีกเล็กน้อย จากนั้นจึงเอาวัสดุที่ได้เข้าเครื่องพิมพ์ 3 มิติ เพื่อพิมพ์ออกมาเป็นก้อนอิฐที่มีหน้าตาคล้ายกับบล็อกของตัวต่อ LEGO
โดยทีมวิจัยระบุว่าอิฐอวกาศที่ได้นี้ ทำให้ทีมงานสำรวจวิธีการสร้างอาคารต่าง ๆ โดยใช้วัสดุที่พบในอวกาศ เช่น หินหรือตะกอนฝุ่นบนดวงจันทร์ในการทำเป็นวัสดุก่อสร้างได้ ซึ่งทีมวิจัยพบว่า อิฐอวกาศที่ทำออกมานี้ แม้ว่าตัวอิฐอาจดูหยาบกว่าปกติเล็กน้อย แต่มันยังสามารถเกาะติดกับก้อนอิฐก้อนอื่น ๆ เหมือนกับเวลาเราประกอบตัวต่อเลโก้เข้าหากันได้ดี ทำให้พวกเขาสามารถใช้ก้อนอิฐอวกาศเหล่านี้ ในการทดสอบเทคนิคการก่อสร้าง ที่แตกต่างกันออกไป
สำหรับโครงการสร้างอิฐจากอวกาศนี้ องค์กรอวกาศของยุโรปได้มีการพัฒนามาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ก่อนที่จะร่วมมือกับทางเลโก้ เพื่อหาช่องทางใหม่ ๆ ในการออกแบบก้อนอิฐมากขึ้น
โดยผลงาน “ก้อนอิฐอวกาศ” จะถูกจัดแสดงที่ร้านขายสินค้าของเลโก้ที่ได้รับเลือกทั่วโลก รวมถึงสำนักงานใหญ่ของบริษัทในประเทศเดนมาร์ก นับตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน จนถึงวันที่ 20 กันยายนนี้
ข้อมูลจาก brickfanatics, space, autoevolution, blocksmag, allprintok, esa, ego