รีเซต

MILL ดัน Circular Economy เล็งหาพันธมิตรสร้างมูลค่าเพิ่ม “ขยะอุตสาหกรรม”

MILL ดัน Circular Economy เล็งหาพันธมิตรสร้างมูลค่าเพิ่ม “ขยะอุตสาหกรรม”
ทันหุ้น
1 กุมภาพันธ์ 2565 ( 09:42 )
118
MILL ดัน Circular Economy เล็งหาพันธมิตรสร้างมูลค่าเพิ่ม “ขยะอุตสาหกรรม”

ข่าววันนี้ “มิลล์คอน สตีล” เดินหน้าสู่การเป็นผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรม เฟ้นหาพันธมิตรเสริมความแกร่งด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy สร้างมูลค่าเพิ่มจากขยะอุตสาหกรรมในพื้นที่ EECส่วนภาพรวมผลการดำเนินงานปีนี้ คาดรายได้ทะลุเป้าหมาย 2หมื่นล้าน รับอานิสงส์การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ

 

นายประวิทย์ หอรุ่งเรือง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน) หรือ MILL  หนึ่งในผู้ผลิตและจำหน่ายเหล็กครบวงจร เปิดเผยว่า จากแผนยุทธศาสตร์หลักของกลุ่มมิลล์คอนฯที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ทำให้บริษัทมีแนวคิดที่จะหาพันธมิตรเข้ามาเสริมความแข็งแกร่ง เพื่อเดินหน้าสู่การเป็นผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในส่วนของการสร้างมูลค่าเพิ่มขยะอุตสาหกรรม

 

โดยในปี 2564 กลุ่มมิลล์คอนฯ รีไซเคิลเศษเหล็กจากซากรถยนต์มากกว่า 2.8 แสนตัน โดยซากรถยนต์ 1 คันประกอบด้วยเหล็กประมาณ 70% ซึ่งสามารถนำกลับมาหลอมใช้งานใหม่ได้ และอีก 30% ชิ้นส่วนต่างๆ ประกอบด้วย สายไฟ พลาสติก ฟองน้ำ เบาะ พรม จัดเป็นขยะอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ขยะที่เหลือจากการรีไซเคิลสามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าชีวะมวลได้

 

“ที่ผ่านมา MILL ในฐานะผู้ผลิตเหล็ก ทุกขั้นตอนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำเราให้ความสำคัญด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผลักดันให้เกิดระบบการกำจัดของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ (Waste Management)ของเสียจากขั้นตอนการบดย่อยเศษเหล็กจะถูกคัดแยกนำไปใช้เป็นพลังงานเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า มีการใช้พลังงานทดแทนเพื่อลดการปล่อย CO2 อีกทั้งตระกรัน (Slag) จากการหลอมเหล็กสามารถนำมาใช้ผสมคอนกรีตในการทำถนนตามหลัก Zero Waste ได้ นอกจากนี้ยังศึกษาและพัฒนารถบรรทุกพลังงานไฟฟ้ามาใช้ในการดำเนินกิจการเพื่อลดมลภาวะ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะผลักดันให้กลุ่มธุรกิจเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ของกลุ่มอุตสาหกรรมได้” นายประวิทย์ กล่าว

 

กลุ่มมิลล์คอน สตีล ดำเนินธุรกิจด้านการผลิตและจำหน่ายเหล็ก โดยมี บริษัท ซันเทค รีไซเคิล แอนด์ ดีคาร์บอน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ดำเนินกิจการด้านการบริหารจัดการเศษเหล็กและขยะอุตสาหกรรม มองเห็นโอกาสการสร้างมูลค่าเพิ่มจาก “ขยะอุตสาหกรรม” โดยเฉพาะในเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นับเป็นพื้นที่เป้าหมายที่สำคัญในการลงทุนด้านการบริหารจัดการขยะอุตสาหกรรม พร้อมเล็งหาพันธมิตรที่มีความพร้อมและความเชี่ยวชาญร่วมลงทุนเพื่อสร้างความแข็งแกร่ง

 

ส่วนภาพรวมผลการดำเนินในปี 2565 บริษัทคาดการณ์ว่ารายได้จะเติบโตมากกว่าเป้าหมายที่ 2 หมื่นล้านบาท ปัจจัยมาจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ประกอบกับราคาเหล็กสำเร็จรูปปรับตัวสูงขึ้นราวๆ 23% ในขณะความต้องการบริโภคเหล็กภายในประเทศเริ่มกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ซึ่งมีความต้องการใช้งานประมาณ 19 ล้านตัน/ปี

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง