รีเซต

รู้หรือไม่ ? ปี 1816 เป็นปีที่ปราศจากฤดูร้อน ผลกระทบจากภูเขาไฟระเบิดครั้งใหญ่

รู้หรือไม่ ? ปี 1816 เป็นปีที่ปราศจากฤดูร้อน ผลกระทบจากภูเขาไฟระเบิดครั้งใหญ่
TNN ช่อง16
28 สิงหาคม 2567 ( 10:21 )
15
รู้หรือไม่ ? ปี 1816 เป็นปีที่ปราศจากฤดูร้อน ผลกระทบจากภูเขาไฟระเบิดครั้งใหญ่

ฤดูร้อนปี ค.ศ. 1816 นั้นไม่เหมือนฤดูร้อนส่วนใหญ่ เพราะถึงแม้จะเป็น "ฤดูร้อน" แต่กลับมีหิมะตกในรัฐนิวอิงแลนด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ส่วนในยุโรป กลับเกิดฝนตกหนักและท้องฟ้ามืดครึ้ม หรือบางพื้นที่ในโลกกลับเกิดอากาศหนาว มีลมพายุ จนทำให้ชาวยุโรปและอเมริกาเหนือเรียกปี  ค.ศ. 1816 ว่าเป็น “ปีที่ปราศจากฤดูร้อน” 



ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นจากอะไร ?

คำตอบของปรากฏการณ์นี้ เกิดขึ้นในอีกซีกโลกหนึ่ง ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1815 หรือก็คือเมื่อ 209 ปีที่แล้ว ภูเขาไฟแทมโบรา (Mount Tambora) ที่ตั้งอยู่บนเกาะซุมบาวา ในประเทศอินโดนีเซีย ได้เกิดระเบิดครั้งใหญ่ขึ้น และเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ภูเขาไฟระเบิดครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ การระเบิดครั้งนี้ ได้พ่นเศษชิ้นส่วนหินขึ้นไปยังอากาศ และตกลงสู่พื้นดินบริเวณใกล้เคียง ทำให้เมืองเต็มไปด้วยเถ้าถ่าน และทำให้บ้านเรือนเสียหาย


ส่วนเถ้าถ่านและละอองฝุ่นขนาดเล็กที่ถูกพ่นขึ้นไปยังอากาศ พวกมันลอยขึ้นไปถึงชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์ ซึ่งมีความสูง 12 - 50 กิโลเมตรเหนือพื้นดิน ก่อเกิดเป็นเมฆละอองลอย (Aerosol Cloud) ที่มีขนาดเทียบเท่ากับประเทศออสเตรเลีย จนทำให้แสงแดดส่องผ่านลงมาไม่ได้ 


นอกจากนี้ ยังทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกลดลงประมาณ 3 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนทั่วโลกลดลง และส่งผลกระทบสืบเนื่อง ทำให้พืชผลทั่วยุโรปและสหรัฐอเมริกาล้มตายไปจำนวนมาก เนื่องจากอากาศหนาวเและขาดแสงแดด รวมถึงมีฝนตกหนักท่วมพืชผลในประเทศไอร์แลนด์ เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้เกิดภาวะอาหารขาดแคลน รวมถึงราคาธัญพืชและข้าวโอ๊ตพุ่งสูง นอกจากนี้ยังเกิดโรคอหิวาตกโรคสายพันธุ์ใหม่ในประเทศอินเดีย ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปหลายล้านคน 


ไม่เพียงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น เหตุการณ์ภูเขาไฟระเบิดครั้งนี้ ยังส่งผลกระทบทางอ้อมอีกด้วย หนึ่งในนั้นคือทำให้เกิดการสร้างสิ่งประดิษฐ์ที่พวกเราคุ้นเคยอย่างเช่น "จักรยาน" เนื่องจากการขาดแคลนพืชผล ทำให้ข้าวโอ๊ตซึ่งเป็นอาหารหลักของม้ามีราคาแพงขึ้น ทำให้ค่าโดยสารด้วยม้าแพงขึ้น สิ่งนี้ทำให้นักประดิษฐ์ชาวเยอรมัน อย่าง คาร์ล ไดรส์ (Karl Drais) เจ้าหน้าที่ป่าไม้และนักประดิษฐ์ ได้คิดค้นวิธีเดินทางโดยไม่ใช้ม้า ซึ่งก็คือจักรยาน


นอกจากนี้สภาพอากาศที่ผิดแปลกในฤดูร้อน ยังเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดผลงานวรรณกรรมที่มีชื่อเสียง โดยในช่วงฤดูร้อนนั้น กวีและนักเขียนหลายคน คือ แมรี เชลลีย์ (Mary Shelley) เพอร์ซี เชลลีย์ (Percy Shelly) ลอร์ด ไบรอน (Lord Byron) แคลร์ แคลร์มอนต์ (Claire Clairmont) และ ดร. จอห์น วิลเลียม โพลิโดรี (Dr. John William Polidori) ได้เดินทางไปพักผ่อนที่ทะเลสาบเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดฝนตกและท้องฟ้ามืดมน 


ดังนั้นไบรอนจึงแนะนำให้สมาชิกเขียนเรื่องสยองขวัญเพื่อให้เข้ากับบรรยากาศ ไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้น แมรี เชลลีย์เขียนเรื่อง แฟรงเกนสไตน์ (Frankenstein) ซึ่งในเรื่องมีฉากที่เกี่ยวกับพายุบ่อยครั้ง และได้กลายเป็นวรรณกรรมสยองขวัญระดับโลก ส่วน ลอร์ด ไบรอน (Lord Byron) ก็ได้เขียนบทกวีที่ชื่อว่า ความมืด (Darkness) ซึ่งเริ่มต้นด้วยท่อนที่ว่า "ฉันฝันไป ซึ่งมิใช่แค่เพียงความฝัน ดวงตะวันส่องแสงดับสูญสิ้นลง (I had a dream, which was not all a dream. The bright sun was extinguish’d.)" 


นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกัน จอห์น ดี. โพสต์ (John D. Post) เรียกช่วงเวลาแห่งความวิกฤติที่เกิดจากเหตุการณ์นี้ว่าเป็น “วิกฤตการณ์ยังชีพครั้งยิ่งใหญ่ครั้งสุดท้ายในโลกตะวันตก (last great subsistence crisis in the Western World.)” และก็นับว่าเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์โลกที่สะท้อนให้เห็นว่าทุกสิ่งอย่างบนโลกมีความเกี่ยวเนื่องกันในทุกมิติ




ที่มาข้อมูล Scied.Ucar, NPS, CNN

ที่มารูปภาพ Wikipedia

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง