รีเซต

Microneedle ทางออกใหม่ในการรักษาแผลติดเชื้อเรื้อรัง

Microneedle ทางออกใหม่ในการรักษาแผลติดเชื้อเรื้อรัง
TNN ช่อง16
19 กันยายน 2564 ( 09:58 )
143
Microneedle ทางออกใหม่ในการรักษาแผลติดเชื้อเรื้อรัง

หนึ่งในปัญหาของผู้ป่วยติดเตียงรวมถึงผู้ป่วยโรคเบาหวานต้องเผชิญ คือภาวะแผลเรื้อรังที่รักษาได้ยาก เนื่องจากโรคที่ผู้ป่วยเป็นไปสามารถรักษาให้หายขาดได้ แผลเรื้อรังเดิมจะยิ่งรุนแรงขึ้นและอาจเกิดแผลในจุดใหม่เพิ่มขึ้นได้




จุดสำคัญที่ทำให้แผลเรื้อรังในผู้ป่วยเหล่านี้รักษาได้ยาก คือการเกิดไบโอฟิล์ม (Biofilm) สร้างขึ้นโดยเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในแผล ไบโอฟิล์มจะมีลักษณะเป็นเมือกเคลือบแผลเอาไว้ ทำให้ยาปฏิชีวนะต่าง ๆ หรือน้ำยาฆ่าเชื้อไม่สามารถซึมลงไปในแผลได้ อีกทั้งยังทำให้เชื้อเกิดการดื้อยามากขึ้น เนื้อเยื่อที่อยู่บริเวณแผลจึงเกิดการติดเชื้อไปเรื่อย ๆ รวมถึงลุกลามไปยังบริเวณอื่น แผลในผู้ป่วยบางรายอาจถูกกินลึกไปถึงกระดูกเลยก็มี


แต่มันก็ไม่ใช่ว่าไม่มีวิธีกำจัดไบโอฟิล์มเหล่านี้ วิธีง่ายที่สุดที่แพทย์นิยมใช้กันคือการขัดผิวหน้าของแผลเรื้อรังให้เห็นเนื้อสีชมพูหรือเลือดซิบ ๆ ซึ่งคุณลองนึกดูว่าผู้ป่วยจะเจ็บปวดแค่ไหนในระหว่างทำแผลแต่ละครั้ง นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาเพอร์ดู สหรัฐอเมริกา จึงคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ที่จะช่วยให้การรักษาแผลเรื้อรังมีประสิทธิภาพขึ้น สิ่งนั้นเรียกว่า แผ่นไมโครนีเดิล (Microneedle patch) นั่นเอง


แผ่นไมโครนีเดิลจะประกอบด้วยเข็มขนาดเล็กจำนวนมากที่ทำจากพอลิเมอร์ เมื่อแปะลงบนผิวหน้าของแผลเรื้อรังแล้ว เข็มขนาดเล็กเหล่านี้จะทำหน้าที่เจาะทะลุผ่านไบโอฟิล์มให้ถึงเนื้อเยื่อของแผล แล้วค่อย ๆ ปล่อยยาฆ่าเชื้อลงไปในแผล กระบวนการทั้งหมดนี้จะไม่สร้างความเจ็บปวดให้กับผู้ป่วย เพราะตัวเข็มจะมีขนาดเล็กและสั้น ไม่เจาะทะลุถึงเส้นประสาทที่ผิวหนัง


การทดสอบประสิทธิภาพในห้องทดลองกับหมู ปรากฏว่าแผ่นไมโครนีเดิลนี้สามารถส่งผ่านยาฆ่าเชื้อ Calcium peroxide ทะลุชั้นไบโอฟิล์มลงไปยังเนื้อเยื่อได้ ทั้งหมดใช้เวลาเพียง 5 นาทีในการทำแผลแต่ละครั้ง ซึ่งน้ำยา Calcium peroxide จะช่วยทั้งฆ่าเชื้อแบคทีเรียและกระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ ไม่นานแผลเรื้อรังของหมูทดลองก็ดีขึ้นเป็นลำดับ


แม้โรคเรื้อรังของผู้ป่วยจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่เราสามารถปรับปรุงคุณภาพชีวิตของพวกเขาให้ดีขึ้นได้ตลอดอายุขัย ในอนาคตนักวิทยาศาสตร์จะเริ่มนำไมโครนีเดิลมาทดลองใช้ในมนุษย์ หากสำเร็จก็อาจจะเริ่มวางจำหน่ายเพื่อทดลองใช้ในกลุ่มคนที่กว้างขึ้นต่อไป


ขอขอบคุณข้อมูลจาก New Atlas

ข่าวที่เกี่ยวข้อง