โครงการรถวิ่งในอุโมงค์ใต้ดิน Vegas Loop ได้รับอนุมัติเพิ่ม 69 สถานี
บริษัท เดอะบอริงคอมพานี (The Boring Company) ของอีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีชื่อดังได้รับใบอนุญาตเพิ่มเติมจาก คณะกรรมาธิการของคลาร์กเคาน์ตี หน่วยงานปกครองท้องถิ่นในรัฐเนวาดา ประเทศสหรัฐอเมริกา ให้สามารถขยายโครงการเวกัส ลูป (Vegas Loop) สถานีรับส่งผู้โดยสารจำนวน 69 สถานี และเส้นทางอุโมงค์ใต้ดินความยาวกว่า 104.6 กิโลเมตร
การอนุมัติขุดอุโมงค์ใต้ดินเพิ่มเติมของโครงการเวกัส ลูป (Vegas Loop) ในครั้งนี้เพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 2 เท่าตัว จากแผนการเดิมที่เคยเสนอเอาไว้ที่ 46.6 กิโลเมตร ซึ่งประกอบด้วยสถานีรับส่งผู้โดยสาร 51 สถานี การอนุมัติที่เกิดขึ้นได้รับคะแนนเสียง 6 ต่อ 1 จากคณะกรรมาธิการที่รับผิดชอบโครงการดังกล่าว โดยบริษัท เดอะบอริงคอมพานี (The Boring Company) จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการขุดอุโมงค์และก่อสร้างสถานีทั้งหมด
รายละเอียดของเส้นทางอุโมงค์และสถานีรับส่งผู้โดยสารในโครงการเวกัส ลูป (Vegas Loop) ที่จะก่อสร้างขึ้นใหม่ผ่านจุดสำคัญของเมือง เช่น Las Vegas Boulevard บริเวณใกล้สนามบิน, ยานไชน่าทาวน์ Chinatown, มหาวิทยาลัยเนวาดา ลาสเวกัส (University of Nevada Las Vegas), ยานกลางเมือง Town Square Las Vegas และ Harmon Square แม้จะมีเสียงคัดค้านจากผู้ที่ไม่เห็นด้วยบางส่วนที่มองว่าโครงการดังกล่าวเป็นเพียงสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักท่องเที่ยวไม่ได้ช่วยในการเดินทางขนส่งของเมืองดีขึ้นอย่างแท้จริง
ปัจจุบันโครงการเวกัส ลูป (Vegas Loop) เปิดให้บริการมาได้ระยะหนึ่งแล้วโดยเป็นเส้นทางอุโมงค์ใต้ดินที่มีรถยนต์พลังงานไฟฟ้าขับเคลื่อนอัตโนมัติของบริษัท เทสลา (Tesla) วิ่งอยู่ภายในอุโมงค์ใต้ดิน ระยะทางรวมกันประมาณ 3.5 กิโลเมตร รองรับการขนส่งผู้โดยสาร 1,200 คน ต่อชั่วโมง และยังคงห่างไกลเป้าหมายสูงสุดของโครงการที่ต้องการพัฒนาโครงข่ายระบบการขนส่งใต้ดินความเร็วสูงที่มีความซับซ้อน
อีลอน มัสก์เปิดตัวแนวคิดระบบขนส่งในอุโมงค์ใต้ดินครั้งแรกในช่วงปี 2016 โดยเกิดขึ้นจากความเบื่อหน่ายรถติดบนท้องถนนและเขามองว่าระบบขนส่งบนถนนหรือทางด่วนล้มเหลว การสร้างระบบขนส่งใต้ดินทำได้ง่ายกว่าด้วยการขุดอุโมงค์ซ้อนกันหลาย ๆ ชั้น และนำรถยนต์พลังงานไฟฟ้าหรือแคปซูลขนส่งผู้โดยสารความเร็วสูงไปวิ่งในระบบอุโมงค์ การเดินทางในอุโมงค์ใต้ดินมีข้อดีหลายอย่าง เช่น ปลอดจากอิทธิพลสภาพอากาศ ระบบขนส่งทำงานได้ต่อเนื่องโดยไม่ต้องมีสัญญาณไฟจราจร อย่างไรก็ตามดูเหมือนแนวคิดนี้ยังคงต้องรอเวลาการพัฒนาและพิสูจน์ประสิทธิภาพการใช้งานอยู่
ที่มาของข้อมูล Interestingengineering, Theverge
ที่มารูปภาพ The Boring Company