รีเซต

ADVANC ซื้อไฟฟ้า-ว่าจ้าง GULF 532 ล. ติดตั้ง Solar Cell 16.5 MW

ADVANC ซื้อไฟฟ้า-ว่าจ้าง GULF 532 ล. ติดตั้ง Solar Cell 16.5 MW
ทันหุ้น
21 กันยายน 2566 ( 18:35 )
75
ADVANC ซื้อไฟฟ้า-ว่าจ้าง GULF 532 ล. ติดตั้ง Solar Cell 16.5 MW

บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC แจ้งว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ได้มีมติอนุมัติให้ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ("AWN") และ บริษัท แฟกซ์ ไลท์ จำกัด ("FXL") ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ AIS ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ( Power Purchase Agreement: PPA) และสัญญาจ้างออกแบบวิศวกรรมจัดหา และก่อสร้าง (Engineering, Procurement and Construction: EPC) กับ บริษัท กัลฟ์1 จำกัด ("GULF1") ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ("GULF") ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 99.99 โดยมีลักษณะเป็นโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้งรวมโดยประมาณ 16.5 เมกะวัตต์ รวมมูลค่า 531.80 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 10 - 25 ปี

ความร่วมมือทางธุรกิจนี้ สืบเนื่องจากบริษัทประกอบธุรกิจเป็นผู้ให้บริการโครงข่ายและบริการโทรคมนาคม โดยครอบคลุมถึงโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ โครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และโครงข่ายสำหรับบริการลูกค้าองค์กร ซึ่งการให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคมที่ครอบคลุมทั่วประเทศต้องใช้พลังงานไฟฟ้าปริมาณมาก และปริมาณการใช้พลังงานยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการขยายบริการโครงข่ายเละบริการเพื่อตอบสนองความต้องการใช้งานอย่างต่อเนื่อง  ดังนั้น การเข้าทำสัญญาเพื่อผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์จะช่วยลดต้นทุนในการดำเนินงานของบริษัทในระยะยาว

 

นอกจากนี้ ความร่วมมือทางธุรกิจนี้ยังเป็นไปตามกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของ AIS ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อสนับสนุนเป้าหมายของประเทศไทยในการลดการปล่อยก๊ซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าในประเทศไทยยังใช้เชื้อเพลิงจากพลังงานฟอสซิลเป็นหลักซึ่งก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก

 

การใช้พลังงานทดแทนหรือพลังงานแสงอาทิตย์ในโครงการดังกล่าว จะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 11,268 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2e) ต่อปี รวมถึงยังสอดคล้องกับเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนเป็นร้อยละ 5 ของการใช้พลังงานรวม เพื่อส่งเสริมและขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

 

การลงทุนดังกล่าวถือเป็นรายการที่เกี่ยวโยงกันของบริษัท ประเภทรายการได้มาซึ่งสินทรัพย์และบริการ และการทำรายการได้มาซึ่งสินทรัพย์ บริษัทจึงมีหน้าที่รายงานและเปิดเผยสารสนเทศ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

 

1. วัน เดือน ปี ที่มีการตกลงเข้าทำรายการ : 21 กันยายน 2566

2. คู่สัญญาที่เกี่ยวข้องและความสัมพันธ์กับบริษัท

ผู้ซื้อ : บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ("AWN") และ บริษัท แฟกซ์ ไลท์ จำกัด ("FXL") ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ AIS

ผู้ขาย : บริษัท กัลฟ์1 จำกัด ("GULF 1") ซึ่งเป็นบุคคลที่เกี่ยวโยงกันของ AWN และ FXL เนื่องจากเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ("GULF") ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ("INTUCH") โดย GULF ถือหุ้นใน INTUCH ในสัดส่วนร้อยละ 46.57 และ INTUCH เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ AIS โดยถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 40.44 (ข้อมูลตามรายชื่อที่ปรากฎในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 21 สิงหาคม 2566)

 

3. ลักษณะโดยทั่วไปของรายการ

3.1การทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement: PPA) รวมทั้งสิ้น 5 โครงการ ประกอบด้วย (1) โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนพื้นดิน (Solar Farm ) ที่ศูนย์ข้อมูลคอมพิวเตอร์ 2 โครงการ และ (2) โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา ( Solar Rooftop) ที่ศูนย์ AIS Contact Center และที่ชุมสาย 3 โครงการ เป็นระยะเวลา 10 - 15 ปี และโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้บริษัทเมื่อครบกำหนดสัญญา

3.2การทำสัญญาจ้างออกแบบวิศวกรรม จัดหา และก่อสร้าง (Engineering, Procurement and Construction: EPC) ประกอบด้วย ( 1) โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) ที่ อาคารสื่อสัญญาณหลัก 38 แห่ง และ (2) โครงการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับสถานีฐาน 4,500 แห่ง เป็นระยะเวลา 25 ปี

 

4. หลักเกณฑ์การกำหนดมูลค่าและมูลค่ารวมของรายการ

4.1มูลค่ารวมของรายการ รวมมูลค่าทั้งสิ้น 531.80 ล้านบาท

 

4.2รายการที่เกี่ยวโยงกัน

รายการดังกล่าวเข้าข่ายเป็นรายการที่เกี่ยวโยงกัน ประเภทที่ 4รายการเกี่ยวกับสินทรัพย์ ตามประกาศคณะกรรมการตลาดทุนที่ ทจ. 212551 เรื่อง หลักเกณฑ์ในการทำรายการที่เกี่ยวโยงกัน และประกาศคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่อง การเปิดเผยข้อมูลและการปฏิบัติการของบริษัทจดทะเบียนในรายการที่เกี่ยวโยงกัน พ.ศ. 2546 (ตามที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม) เมื่อนำมูลค่ารวมของสิ่งตอบแทนที่ชำระให้ซึ่งมีมูลค่าเท่ากับ 531.80 ล้านบาท มาคำนวณขนาดรายการตามประกาศรายการเกี่ยวโยงกัน จะพบว่ามีขนาดของรายการเท่ากับร้อยละ 0.86ของมูลค่าสินทรัพย์ที่มีตัวตนสุทธิของบริษัท ตามงบการเงิน ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566

เนื่องจากการเข้าทำรายการเกี่ยวโยงกันมีขนาดของรายการเกินกว่าร้อยละ 0.03 แต่ไม่เกินกว่าร้อยละ 3 ของสินทรัพย์ที่มีตัวตนสุทธิของบริษัท ดังนั้น บริษัทจึงต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทและเปิดเผยสารสนเทศต่อตลาดหลักทรัพย์

 

4.3รายการได้มาซึ่งสินทรัพย์

รายการดังกล่าวเข้าข่ายเป็นรายการได้มาซึ่งสินทรัพย์ เมื่อคำนวณขนาดรายการตามเกณฑ์มูลค่ารวมของสิ่งตอบแทน รายการมีขนาดเท่ากับร้อยละ 0.16 ของสินทรัพย์ววม (สินทรัพย์รวมของบริษัท ณ วันที่ 30มิถุนายน 2566 เท่ากับ 326,646 ล้านบาท) ซึ่งน้อยกว่าร้อยละ 15 ของสินทรัพย์รวมของบริษัท นอกจากนี้ เมื่อพิจารณานับรวมรายการได้มาซึ่งสินทรัพย์ที่เกิดขึ้นในระหว่าง 6 เดือนก่อนวันที่จะตกลงเข้าทำรายการนี้ รายการมีขนาดน้อยกว่าร้อยละ 15ของสินทรัพย์รวมของบริษัท ดังนั้น การเข้าทำรายการนี้จึงไม่ถือเป็นรายการได้มาซึ่งทรัพย์สินที่จะต้องเปิดเผยสารสนเทศและปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทจ. 20/2551 เรื่อง หลักเกณฑ์ในการทำรายการที่มีนัยสำคัญที่เข้าข่ายเป็นการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สิน และประกาศคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่อง การเปิดเผยข้อมูลและการปฏิบัติการของบริษัทจดทะเบียนในการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ พ.ศ. 2547 (ตามที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม)

 

5. ผลประโยชน์ที่บริษัทคาดว่าจะได้รับ

คณะกรรมการบริษัทมีความเห็นว่า บริษัทจะได้ประโยชน์จากการเข้าทำในการลดต้นทุนในการดำเนินงานของบริษัทในระยะยาว รวมถึงเป็นไปตามกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของ AIS ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนเป็นร้อยละ 5 ของการใช้พลังงานรวม เพื่อส่งเสริมและขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

 

6. บุคคลที่เกี่ยวโยงกันและลักษณะส่วนได้เสีย

กรรมการของบริษัท ได้แก่ นายสารัช รัตนาวะดี, นายปรีดี ดาวฉาย, นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์, และนายสมิทธ์ พนมยงค์ ถือเป็นกรรมการที่มีส่วนได้เสียในการทำรายการที่เกี่ยวโยงกันในครั้งนี้ ดังนั้น จึงไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในการอนุมัติการเข้าทำรายการดังกล่าว

7. แหล่งที่มาของเงินทุน

กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัท

 

8. ความเห็นของคณะกรรมการบริษัทเกี่ยวกับการตกลงเข้าทำรายการ

คณะกรรมการบริษัทเห็นว่า การทำรายการนี้มีความสมเหตุสมผล ผ่านกระบวนการเปรียบเทียบราคากับผู้ให้บริการรายอื่น ๆ ในตลาดอย่างเป็นธรรมและการคำนวณในเชิงการเงินอย่างรอบด้าน โดยได้พิจารณาถึงประโยชน์ในการบริหาร ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการดำเนินงานของบริษัท รวมถึงสอดคล้องกับกลยุทธ์และเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนตามที่ปรากฏในข้อ 5 ของสารสนเทศฉบับนี้ ทั้งนี้ ในการพิจารณาการเข้าทำรายการในครั้งนี้ กรรมการที่มีส่วนได้เสียและเหรือกรรมการที่เป็นบุคคลที่เกี่ยวโยงกันไม่เข้าร่วมประชุมและไม่มีสิทธิออกเสียงในที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท

9. ความเห็นของกรรมการตรวจสอบและ/หรือ ของกรรมการบริษัทฯ ที่แตกต่างจากความเห็นของคณะกรรมการบริษัท

- ไม่มี -

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง