ตะลึง! จีนพบหลุมบูชายัญ บรรจุวัตถุโบราณราว 3,000 ปี
วันนี้( 21 มี.ค.64) สำนักบริหารมรดกวัฒนธรรมแห่งชาติจีน หรือ NCHA แถลงว่าคณะนักโบราณคดีมีการค้นพบหลุมบูชายัญใหม่ 6 หลุม และขุดพบวัตถุมากกว่า 500 รายการ ซึ่งมีความเก่าแก่ราว 3,000 ปี ที่ซากโบราณซานซิงตุย มณฑลเสฉวนทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน
ปัจจุบันคณะนักโบราณคดีขุดพบวัตถุวัฒนธรรมสำคัญมากมายจากหลุมบูชายัญ 4 หลุม อาทิ ชิ้นส่วนหน้ากากทองคำ แผ่นทองคำเปลว หน้ากากสัมฤทธิ์ ต้นไม้สัมฤทธิ์ งาช้าง รวมถึงชิ้นส่วนงาช้างแกะสลักขนาดเล็ก เมล็ดข้าวที่กลายเป็นถ่านและเมล็ดพันธุ์ต้นไม้
เจ้าหน้าที่สถาบันวิจัยวัตถุวัฒนธรรมและโบราณคดีมณฑลซื่อชวนกล่าวว่า นับเป็นเรื่องน่าตื่นตาตื่นใจ เราขุดพบเครื่องสัมฤทธิ์บางส่วนที่ไม่เคยพบมาก่อน ตัวอย่างเช่น เครื่องสัมฤทธิ์ขนาดใหญ่และประณีตที่มีลวดลายมังกร หรือ วัวรูปลักษณ์แปลกประหลาด
ด้านหัวหน้าทีมขุดสำรวจและผู้อำนวยการสถาบันฯ ระบุว่ามีการขุดพบกากใยไหมและสิ่งทอในซากโบราณซานซิงตุยเป็นครั้งแรกด้วย ซึ่งบ่งชี้ “อาณาจักรสู่ (SHU) ในอดีตกาลเป็นหนึ่งในต้นกำเนิด ‘ไหม’ แห่งสำคัญในยุคจีนโบราณ”
หลุมบูชายัญกลุ่มใหม่มีรูปทรงสี่เหลี่ยม ขนาดระหว่าง 3.5-19 ตารางเมตร ตั้งอยู่ถัดจากหลุมบูชายัญ 2 หลุม ที่ค้นพบเมื่อปี 1986 (พ.ศ.2529) โดยหลุมบูชายัญทั้งหมดถือเป็นสถานที่ที่ผู้คนในอารยธรรมสู่ใช้บวงสรวงสวรรค์ โลก และบรรพบุรุษ รวมถึงขอความร่ำรวยและความสงบสุข
สำนักบริหารมรดกวัฒนธรรมแห่งชาติระบุว่าปฏิบัตการขุดสำรวจรอบล่าสุดมีสถาบันต่างๆ เข้าร่วมมากกว่า 30 แห่ง และมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ตลอดการบูรณาการการขุดสำรวจและการอนุรักษ์เข้าด้วยกัน
ซากโบราณซานซิงตุยเป็นหนึ่งในสุดยอดการค้นพบทางโบราณคดีอันยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติแห่งศตวรรษที่ 20 ซึ่งถูกค้นพบโดยเกษตรกรที่กำลังขุดดินในช่วงทศวรรษ 1920 มีขนาด 12 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ในเมืองก่วงฮั่น เชื่อกันว่าเป็นซากอาณาจักรสู่ที่มีความเก่าแก่ราว 4,800 ปี ปัจจุบันนักโบราณคดีขุดพบโบราณวัตถุจากซากโบราณซานซิงตุยมากกว่า 50,000 รายการแซึ่งทางการจีนจัดให้ซากโบราณซานซิงตุยอยู่ภายใต้การคุ้มครองระดับรัฐในปี 1988