รีเซต

นักวิจัยฝรั่งเศส เผยฟอสซิลปลาที่เพชรบูรณ์ เป็นกลุ่มปลาปากจระเข้

นักวิจัยฝรั่งเศส เผยฟอสซิลปลาที่เพชรบูรณ์ เป็นกลุ่มปลาปากจระเข้
มติชน
27 เมษายน 2565 ( 14:36 )
61
นักวิจัยฝรั่งเศส เผยฟอสซิลปลาที่เพชรบูรณ์ เป็นกลุ่มปลาปากจระเข้

วันที่ 27 เม.ย.65 ดร.บูเซียน คาลูฟี นักวิจัยชาวฝรั่งเศส สังกัดศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้เชี่ยวชาญซากดึกดำบรรพ์ปลา เปิดเผยภายหลัง การตรวจสอบฟอสซิลปลาที่ค้นพบที่อ.น้ำหนาวและอ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ว่า ซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลปลาที่อุทยานธรณีเพชรบูรณ์ได้นำออกมาให้ตรวจสอบมีทั้งหมดสองชิ้น โดยชิ้นแรก (พบที่น้ำหนาว) แม้ว่าจะมีสภาพค่อนข้างดี แต่ว่าขาดส่วนของกะโหลกซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการศึกษา อย่างไรก็ตามซากดึกดำบรรพ์ชิ้นนี้มีเกล็ดที่หนา เคลือบด้วยชั้นอีนาเมล เป็นรูปแบบเกล็ดแบบกานอยด์ ซึ่งเป็นของกลุ่มปลาโบราณที่พบได้ทั่วไปในมหายุคมีโซโซอิกหรือช่วงเวลาที่ไดโนเสาร์มีชีวิตอยู่

 

ดร.บูเซียน คาลูฟี กล่าวอีกว่า ซากดึกดำบรรพ์ปลาชิ้นที่สอง (พบที่เขาค้อ) มีลักษณะแตกต่างจากชิ้นแรก รวมถึงมีการรักษาส่วนของกะโหลกไว้ด้วยครึ่งหนึ่ง มีลักษณะค่อนข้างยื่นยาว ปลาตัวนี้มีลำตัวค่อนข้างยาวยาว ดูคล้ายกับปลาอัลลิเกเตอร์การ์หรือปลาปากจระเข้ในปัจจุบัน

“ฟอสซิลปลาโบราณมักมีความเสี่ยงต่อการแตกหักเสียหายได้ง่าย หากมีการพบเห็น ท่านสามารถถ่ายภาพและแจ้งมายังเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น อุทยานธรณีพชรบูรณ์ เพื่อให้มีการตรวจสอบอย่างถูกต้อง” นักบรรพชีวินชาวฝรั่งเศส ผู้เชี่ยวชาญด้านฟอสซิลปลาโบราณกล่าว

 

ทีมนักวิจัยฯได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ฟอสซิลปลาโบราณในช่วงมหายุคมีโซโซอิกนั้นพบได้จากหลายหมวดหินในประเทศไทย โดยเฉพาะในกลุ่มหินโคราชที่มีการกระจายตัวมากในภาคอีสาน เนื่องจากฟอสซิลมักถูกรักษาได้ดี ในพื้นที่ที่เป็นแหล่งน้ำโบราณ จึงมักพบสัตว์น้ำโดยเฉพาะปลาอยู่ร่วมด้วยเสมอ แหล่งปลาโบราณที่พบตัวอย่างสมบูณ์และมีจำนวนมากที่สุดของไทยอยู่ที่ ณ วนอุทยานภูน้ำจั้น อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ในสภาพสมบูรณ์ที่ถูกรักษาไว้เป็นอย่างดี นับเป็นค้นพบฟอสซิลปลาโบราณครั้งแรกในประเทศไทย ชนิดที่พบมากที่สุดคือ ปลาไทยอิกธิส พุทธบุตรเอนซิส พบซากสมบูรณ์กว่า 250 ซาก นอกจากนี้ยังพบปลากินเนื้อ อิสานอิกธิส พาลัสทริส

 

 

ต่อมาพบฟอสซิลปลา อิสานอิกธิส เลิศบุศย์ศี ที่แหล่งภูน้อย อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ และปลาหลังโหนก โคราชอิกธิส จิบบัส จากจังหวัดนครราชสีมา ปลาทั้งหมดที่กล่าวเป็นปลาในกลุ่มจิงกลีโมดี ซึ่งมีลักษณะร่วมกันคือมีเกล็ดหนารูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ผิวด้านนอกมีชั้นอีนาเมลเคลือบทำให้มีความแววาว บ่อยครั้งที่ชาวบ้านพบเจอและเชื่อว่า เป็นเกล็ดของพญานาค ปลากลุ่มจิงกลีโมดีมีความหลากหลายและแพร่กระจายอย่างกว้างขวางทั่วโลกในยุคของไดโนเสาร์ แต่ในปัจจุบันพบเพียงกลุ่มปลาปากจระเข้หลงเหลืออยู่เฉพาะในทวีปอเมริกาเหนือเท่านั้น

 

กรณีฟอสซิลที่พบที่อ.น้ำหนาวและอ.เขาค้อดังกล่าว พิจารณาเบื้องต้นได้ว่าน่าจะสะสมตัวอยู่ในชั้นหินของหมวดหินห้วยหินลาด ยุคไทรแอสซิกตอนปลาย และมีลักษณะของปลากลุ่มจิงกลีโมดี แต่เก่าแก่กว่าชนิดที่เคยรายงานมาแล้วในภาคอีสาน หากมีการศึกษาอย่างละเอียดหรือพบตัวอย่างที่สมบูณ์มากขึ้นในอนาคต ก็อาจเป็นปลาชนิดพันธุ์ใหม่ของได้

 

รายงานข่าวแจ้งว่า ในการลงพื้นที่ของคณะศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคามที่จ.เพชรบูรณ์ดังกล่าว นอกจากสำรวจพื้นที่แหล่งค้นพบซากดึกดำบรรพ์กระดูกชิ้นส่วนไดโนเสาร์และมีโอกาสตรวจสอบตัวอย่างฟอสซิลปลาที่พบที่อ.น้ำหนาวและอ.เขาค้อแล้ว ยังลงพื้นที่ต.ท่าพล อ.เมืองเพชรบูรณ์ เพื่อทำการเก็บตัวอย่างที่แหล่งพบฟอสซิลปลาโบราณ สมัยไมโอซีนอายุกว่า 10 ล้านปีเพิ่มเติมอีกด้วย โดยแหล่งฟอสซิลปลาท่าพล ทางศูนย์วิจัยฯได้ดำเนินการศึกษาค้นคว้าโดยมีการเปิดหน้าดินขุดค้นเมื่อปี 2564 มาก่อนแล้ว ฟอสซิลปลาโบราณจากแหล่งบ้านหนองปลาและบ้านท่าพล เป็นปลายุคใหม่จากมหายุคซีโนโซอิก ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังจากที่ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไปแล้ว มีความใกล้เคียงกับปลาที่พบเห็นในแหล่งน้ำจืดปัจจุบัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง