รีเซต

ฮือฮา! โคราชค้นพบ ฟอสซิลปลาพันธุ์ใหม่ของโลก อายุ 115 ล้านปี

ฮือฮา! โคราชค้นพบ ฟอสซิลปลาพันธุ์ใหม่ของโลก อายุ 115 ล้านปี
TNN ช่อง16
8 มิถุนายน 2566 ( 18:40 )
105
ฮือฮา! โคราชค้นพบ ฟอสซิลปลาพันธุ์ใหม่ของโลก อายุ 115 ล้านปี

โคราชค้นพบ "ฟอสซิลปลา"  อายุ 115 ล้านปีพันธุ์ใหม่ของโลก ในแหล่งขุดค้นไดโนเสาร์ พร้อมเปิดงานมหกรรมจีโอพาร์คและฟอสซิล 2023 เฉลิมฉลองความยิ่งใหญ่สู่การรับรองเป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก


วันนี้ (8 มิถุนายน 2566) ที่ศูนย์การค้าเซนทรัลโคราช อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ดร.อรนุช หล่อเพ็ญศรี อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี รองศาสตราจารย์ ดร.มงคล อุดชาชน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยามหาวิทยาลัยมหาสารคาม, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานรรต ใจสำราญ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการสภามหาวิทยาลัย กิจการพิเศษ และวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐินี ทองดี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุทุมพร ดีศรี อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคามและ Assistant Professor Dr. Paul Joseph Grote นักวิจัย สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ร่วมกันเปิดงาน มหกรรมจีโอพาร์คและฟอสซิล (Geopark and Fossil Festival 2023) เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองวาระสำคัญของจังหวัดนครราชสีมาที่ได้รับการพิจารณาเป็นจีโอพาร์คโลก Khorat Global Geopark จากองค์กรยูเนสโก เป็นการยกระดับการทำงานเครือข่ายของอุทยานธรณีประเทศไทย 


ภาพจาก ผู้สื่อข่าวโคราช

 


การแลกเปลี่ยนความรู้ด้านจีโอพาร์ค และการท่องเที่ยว Geotourism ตลอดจนการประชาสัมพันธ์จีโอพาร์คประเทศไทย พร้อมทั้งพัฒนากลไก การขับเคลื่อนอุทยานธรณีในประเทศไทยให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงภูมิศาสตร์ ในจังหวัดนครราชสีมาและภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งการจัดงานครั้งนี้ จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 8 – 10 มิถุนายน 2566 


โดยมีกิจกรรมประกอบด้วย การประชุมทางวิชาการเครือข่ายอุทยานธรณีประเทศไทย ครั้งที่ 2 ซึ่งได้รับความสนใจตอบรับร่วมงานจากนักวิจัยทั่วโลก เพื่อนำเสนอผลงานวิชาการ งานวิจัย มากถึง 82 ผลงานวิชาการ เป็นการนำเสนอรูปแบบ Oral Presentation จำนวน 52 ผลงาน และนำเสนอแบบ Poster จำนวน 30 ผลงาน , โดยในมหกรรมจีโอพาร์คและฟอสซิล 2023 มีนิทรรศการ และการแสดงสินค้าชุมชน, นิทรรศการภาคีเครือข่ายจีโอพาร์คประเทศไทย, งานสถาปนาสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดนครราชสีมา


การเสวนาพิเศษ เยาวชนกับการสร้างสรรค์ในพื้นที่จีโอพาร์ค, เสวนาพิเศษ การสร้างสรรค์พิพิธภัณฑ์ฟอสซิลเพื่อการเรียนรู้สาหรับเด็ก, เสวนาพิเศษ สร้างสรรค์งานคราฟท์จากอัตลักษณ์งานคราฟท์ เสวนาพิเศษ การสร้างสรรค์อาหารจีโอพาร์ค จากอัตลักษณ์ท้องถิ่น การประกวดการแต่งกาย เชิงสร้างสรรค์ ด้วยแนวคิดจีโอพาร์คและฟอสซิล, การแข่งขัน สร้างของเล่น...จนเป็นเรื่อง จากฟอสซิลดินแดนอีสาน, , การแข่งขันสุดยอดอาหารจากดินแดนจีโอพาร์คและพื้นที่การอนุรักษ์ทางธรรมชาติ, การแข่งขันสุดยอดไอเดียผลิตภัณฑ์ชุมชนจีโอพาร์คโกกรีน, และปิดท้ายด้วยการแข่งขันตอบคำถาม TOP FAN : Khorat Fossil และ TOP FAN : Thailand Geopark” ระดับมัธยมศึกษา


ภาพจาก ผู้สื่อข่าวโคราช

 



 


นอกจากนี้ยังได้มีการแถลงข่าว การค้นพบฟอสซิล ปลาพันธุ์ใหม่ของโลกอายุ 115 ล้านปี “โคราชเอเมีย ภัทราชันไน” และพันธุ์พืชโบราณชนิดใหม่ของโลก 3 ชนิดในแหล่งขุดค้นไดโนเสาร์ ที่บ้านโกรกเดือนห้า ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ตั้งพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินฯ ตำบลสุรนารี อำเภอเมืองนครราชสีมา ซึ่งการวิจัยดำเนินการโดย ผศ.ดร.อุทุมพร ดีศรี จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับนักวิจัยจากสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ, พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ฟูกุอิ ประเทศญี่ปุ่น , มหาวิทยาลัยเจนีวา และพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติกรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ 


ซึ่งการค้นพบครั้งนี้มีผลการวิจัยว่า ฟอสซิลปลาดังกล่าว เป็นปลากระดูกแข็งก้านครีบอ่อน คล้ายสกุลเอเมีย (Amia) แต่เป็นสกุลใหม่และชนิดใหม่ของโลก คณะผู้วิจัยจึงได้ตั้งชื่อใหม่ว่า “ปลาภัทราชัน” หรือชื่อวิทยาศาสตร์ โคราชเอเมีย ภัทราชันไน (Khoratamia phattharajani) 


ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชฯ รัชกาลที่ 9 ที่เป็นกษัตริย์ ผู้ทรงเชี่ยวชาญเรื่องปลาและรักปลา รวมทั้งมีสายพระเนตรยาวไกล เช่น การทรงขอพันธุ์ปลานิลจากสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศมกุฎราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่น เมื่อ พ.ศ. 2508 จำนวน 50 ตัว มาขยายพันธุ์ในพระราชวังนับหมื่นตัว และมอบให้กรมประมงนำไปขยายพันธุ์ต่อ แจกจ่ายให้ประชาชนทั่วประเทศนำไปเลี้ยงเพื่อการขายและบริโภคจนสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนโปรตีนของประชาชนไทยได้ทั้งนี้คำว่า“ภัทราชัน” มาจากคำว่า “ภัทร+ราชัน” อันหมายถึง “พระภัทรมหาราช” ที่ประชาชนถวายพระราชสมัญญานามแด่รัชกาลที่ 9


 



ภาพจาก ผู้สื่อข่าวโคราช

 


อีกทั้งนักวิจัยของสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พอล.เจ.โกรดิ และคณะ ยังได้วิจัยพบพืชพันธุ์ใหม่ของโลกอีก 3 ชนิด ได้แก่ มะพอกโคราช หรือชื่อวิทยาศาสตร์ Parinari khoratensis โดยชื่อชนิด “khoratensis” มาจากจังหวัดนครราชสีมาที่เป็นแหล่งค้นพบซากดึกดำบรรพ์ ส่วนมะพอกของฮิลล์หรือชื่อวิทยาศาสตร์ Parinari hilliana โดยชื่อชนิด “hilliana” ตั้งเพื่อเป็นเกียรติให้กับ Arthur Hill ซึ่งเป็นนักพฤกษศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องผล ซากดึกดำบรรพ์ทั้งสองชนิดนี้พบในสมัยไมโอซีนตอนปลาย แหล่งบ่อทรายพระพุทธ ตำบลพระพุทธ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา 


การค้นพบซากดึกดำบรรพ์ทั้งสองชนิดนี้เป็นการค้นพบผลมะพอก สกุล Parinari เป็นครั้งแรกของเอเชียและคาบสมุทรแปซิฟิก รวมถึงแสดงให้เห็นว่าพืชสกุลนี้ปรากฎในเขตร้อนในสมัยไมโอซีน ก่อนหน้านี้มีการค้นพบแล้วในสมัยไมโอซีนที่แอฟริกา (เขตเอธิโอเปีย) และปานามา (เขตนีโอโทรปิก) โดยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Acta Palaeobotanica เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2565 และชนิดที่สาม คือ สนห้าใบหนองหญ้าปล้อง หรือ Pinus nongyaplongensis โดยชื่อชนิด“nongyaplongensis” มาจากแอ่งหนองหญ้าปล้องที่เป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ซึ่งอยู่ในสมัยโอลิโกซีนตอนปลาย หรือไมโอซีนตอนต้น แหล่งเหมืองสแกงาม แอ่งหนองหญ้าปล้อง อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี 



ภาพจาก ผู้สื่อข่าวโคราช

 



ซากดึกดำบรรพ์ดังกล่าวเป็นการค้นพบสนห้าใบครั้งแรกของประเทศไทย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พอล.เจ.โกรดิ ร่วมกับ นายพลาเดช ศรีสุข ดำเนินการวิจัยและได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Review of Palaeobotany and Palynology เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2564


ภาพจาก ผู้สื่อข่าวโคราช

 



ภาพจาก ผู้สื่อข่าวโคราช

 



ข่าวที่เกี่ยวข้อง