เตือนภาวะ “สายตาสั้นเทียม” อายุ 15-30 ปี จ้องจอนานต้องระวัง!
TNN Health
1 ตุลาคม 2564 ( 17:24 )
165
ยุค Social Media คนไทยใช้เวลาจ้องจอแทบทั้งวัน เฉลี่ยวันละมากกว่า 10 ชม. ก่อให้เกิดความเสี่ยงตามัวบางขณะ หรือมีปวดตาจนกระทบต่อการทำงาน และการใช้ชีวิตประจำวันได้ อาการเหล่านี้ในทางการแพทย์เรียกว่า “ภาวะสายตาสั้นเทียม” ซึ่งปัจจุบับนับเป็นปัญหาสุขภาพที่ไม่ควรละเลย
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบัน “ภาวะสายตาสั้นเทียม” พบได้มากขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมในการใช้ Social Media ทางสมาร์ทโฟน แท็บเลต รวมไปถึงการใช้งานคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน เมื่อใช้สายตาในการเพ่งหรือจ้องมากเกินไป จะผลกระทบต่อการหดตัวของกล้ามเนื้อในตาอย่างมาก ก่อให้เกิดความผิดปกติในการมองเห็น โดยมีอาการมองไม่ชัดชั่วคราว หลังจากการใช้สายตาในระยะใกล้เป็นเวลานาน ในรายที่มีอาการมากอาจปวดตา ปวดหัว บางครั้งอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย
ด้าน พน.เกรียงไกร นามไธสง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาวะสายตาสั้นเทียมนั้น พบได้ในกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน ที่มีสายตาปกติในช่วงอายุ 15-30 ปี จากพฤติกรรมจ้องจอ และคนที่อ่านหนังสือในที่แสงสว่างน้อยหรืออ่านในที่มืด ดังนั้น หลังการใช้งานคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน ในระยะใกล้เป็นเวลาต่อเนื่องนานเกิน 30 นาที ควรพักสายตาเป็นเวลา 5 นาที ด้วยการมองไกลๆ ส่วนคนที่มีสายตายาวแต่กำเนิด ตั้งแต่อายุ 30 ปีขึ้นไปก็พบได้บ่อยเช่นกัน ในคนกลุ่มนี้แก้ไขได้โดยการใช้แว่นสายตา
“สำหรับการบริหารดวงตา หรือการโยคะกล้ามเนื้อดวงตา ที่มีการแนะนำกันต่อๆ มานั้น เนื่องจากเป็นการบริหารกล้ามเนื้อกลอกลูกตา จึงไม่ช่วยบรรเทาภาวะสายตาสั้นเทียม ซึ่งเกิดจากการเกร็งกล้ามเนื้อภายในลูกตา ในรายที่เป็นมาก ควรเข้ารับการตรวจเช็คอย่างละเอียดจากจักษุแพทย์ เพราะหากปล่อยให้เป็นนานๆ อาจนำไปสู่สายตาสั้นจริงได้” พน.เกรียงไกร กล่าว
ที่มา :TNN Health