รีเซต

ทีมแพทย์นิวยอร์กปลูกถ่าย "ไตหมู" ในมนุษย์ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก !!

ทีมแพทย์นิวยอร์กปลูกถ่าย "ไตหมู" ในมนุษย์ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก !!
TNN ช่อง16
22 ตุลาคม 2564 ( 11:43 )
152
ทีมแพทย์นิวยอร์กปลูกถ่าย "ไตหมู" ในมนุษย์ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก !!

การปลูกถ่ายอวัยวะในมนุษย์ คือสิ่งที่ท้าทายวงการแพทย์เป็นอย่างมาก กว่าแพทย์จะหาอวัยวะที่เหมาะสมกับผู้ป่วยมาได้นั้นต้องทดสอบความเข้ากันได้ที่ยุ่งยาก ขนาดอวัยวะจากมนุษย์ด้วยกันยังไม่สามารถนำมาใช้ร่วมกันได้แบบสุ่ม ๆ เพราะฉะนั้น อวัยวะจากสัตว์ก็แทบที่จะเป็นไปไม่ได้เลยที่ทำจะนำมาปลูกถ่ายในมนุษย์ 


ทว่า ล่าสุดศัลแพทย์จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก นำโดยคุณหมอโรเบิร์ต มอนต์โกเมอรี สามารถปลูกถ่ายไตหมูในมนุษย์ได้สำเร็จเป็นครั้งแรก อีกทั้งยังไม่ถูกปฏิเสธโดยภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยอีกด้วย !!




กระบวนการปลูกถ่ายโดยใช้อวัยวะจากสัตว์ต่างสายพันธุ์ เรียกว่า Xenotransplantation ปกติแล้วการปลูกถ่ายอวัยวะนั้น แพทย์จะต้องตรวจความเข้ากันได้ระหว่างร่างกายของผู้ป่วยและอวัยวะที่จะนำมาปลูกถ่าย ซึ่งต้องไม่ทำปฏิกิริยาต่อกัน มิฉะนั้นจะเกิดเหตุการณ์ Graft rejection (ภูมิคุ้มกันผู้ป่วยทำลายอวัยวะปลูกถ่าย) หรือ Graft-vesus-host (ภูมิคุ้มกันในอวัยวะปลูกถ่ายทำลายเซลล์ในร่างกายผู้ป่วย) สุดท้ายการรักษาก็จะไม่ได้ผลและอาจเกิดผลเสียต่อตัวผู้ป่วยด้วย


ด้วยความยากในการหาความเข้ากันได้ของอวัยวะปลูกถ่าย รวมถึงจำนวนผู้บริจาคอวัยวะมีน้อยกว่าจำนวนผู้ป่วยมาก ผลสำรวจจาก New York Times เผยว่า มีผู้ป่วยกว่า 90,240 รายในสหรัฐฯ ที่รอรับการปลูกถ่ายไต และมีผู้ป่วยเสียชีวิตระหว่างรอการปลูกถ่ายไตจำนวน 12 รายต่อวัน ดังนั้น จะเห็นได้ว่าหากผู้ป่วยโรคไตระยะสุดท้ายเหล่านี้ได้รับการปลูกถ่ายไตอย่างเหมาะสม ก็จะช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตของพวกเขาให้ดีขึ้นจากหน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียว

ที่มาของภาพ Euro News

 


จริง ๆ การปลูกถ่ายอวัยวะหรือส่วนประกอบจากสัตว์เริ่มต้นตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 17 โดยครั้งแรกเป็นความพยายามในการถ่ายเลือดสัตว์ให้กับผู้ป่วยที่เสียเลือดมาก ไปจนถึงการปลูกถ่ายหัวใจของลิงบาบูนให้กับผู้ป่วย ทว่า ความพยายามแต่ละครั้งไม่ประสบความสำเร็จ อีกทั้งผู้ป่วยที่เข้ารับการปลูกถ่ายยังเสียชีวิตทุกรายด้วย การปลูกถ่ายอวัยวะของสัตว์สู่มนุษย์จึงเป็นความท้าทายทั้งในแง่กระบวนการรักษาและด้านจริยธรรมต่อผู้ป่วย


สำหรับความพยายามครั้งใหม่นี้ ทีมแพทย์จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์กทำได้สำเร็จ ด้วยความช่วยเหลือจากนักวิจัยจากสถาบัน Revivicor ซึ่งใช้เทคโนโลยีพันธุวิศวศาสตร์ตัดแต่งยีนของหมูที่จะนำไตมาใช้ในการปลูกถ่าย เนื่องจากจากการศึกษาพบว่าเซลล์หมูจะมีสาร อัลฟากาแลคโตส (Alpha-galactose) สารนี้พบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั่วไปแต่ไม่พบในมนุษย์ หากปลูกถ่ายอวัยวะของหมูหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นที่ยังไม่ถูกตัดแต่งยีน สารอัลฟากาแลคโตสที่เข้าไปในร่างกายมนุษย์ แล้วกระตุ้นภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยให้ทำลายอวัยวะของสัตว์ที่นำมาปลูกถ่าย ดังนั้น ถ้ากำจัดสารอัลฟากาแลคโตสนี้ได้ ก็จะลดการปฏิเสธอวัยวะโดยภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยได้

ที่มาของภาพ Insider

 


การทดลองปลูกถ่ายไตหมูในมนุษย์นี้ เป็นการทดลองที่เกิดขึ้นกับร่างของหญิงรายหนึ่งที่เสียชีวิตจากการรอปลูกถ่ายไต (ใช่แล้ว การทดลองนี้เป็นการทดลองในศพมนุษย์) ร่างของหญิงสาวผู้นี้ได้รับการประคับประคองให้เซลล์ยังสามารถมีชีวิตอยู่ได้ชั่วขณะหนึ่งเพื่อการทดลองนี้ ทีมแพทย์ได้นำไตมาปลูกถ่ายพร้อมต่อหลอดเลือดใหญ่เข้าสู่ไตหมู (ซึ่งคาดว่าเลือดยังสามารถไหลเวียนอยู่ได้ด้วยเครื่องสูบฉีดที่ต่อจากภายนอก) เพื่อให้เกิดการทำงานของไตหมูเหมือนไตจริงในมนุษย์

ที่มาของภาพ Daily Mail UK

 


จากการติดตามผลนาน 54 ชั่วโมง พบว่าไตหมูที่นำมาปลูกถ่ายสามารถกรองของเสียได้ตามปกติ สามารถสร้างปัสสาวะที่มีความเข้มข้นเท่า ๆ กับปัสสาวะของมนุษย์สุขภาพดีทั่วไป ค่าไตต่าง ๆ อยู่ในสภาวะปกติ (ในที่นี้คือการติดตามค่าครีเอทินีน (Creatinine) ซึ่งเป็นสารที่สามารถบ่งบอกถึงภาวะไตวายได้ในกรณีที่ครีเอทินีนมีค่าสูงขึ้น) อีกทั้งยังไม่เกิดการทำลายโดยภูมิคุ้มกันในร่างกายด้วย

ที่มาของภาพ Daily Nation Today

 


การทดลองนี้ถือว่าเป็นก้าวแรกแห่งความสำเร็จทางการแพทย์ ที่อาจช่วยชีวิตของผู้ป่วยโรคไตได้อีกมากมายทั่วโลก ทั้งนี้ ทางมหาวิทยาลัยนิวยอร์กและนักวิจัยจาก Revivicor ยังต้องศึกษาผลการปลูกถ่ายอวัยวะเพิ่มเติมในมนุษย์ที่ยังมีชีวิตอยู่ พร้อมติดตามผลในระยะยาว เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ประจักษ์มากขึ้น และที่สำคัญยังต้องมีการพิจารณาด้านจริยธรรมทางการแพทย์อย่างเลี่ยงไม่ได้ 


ที่มา Interesting Engineering


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง