รีเซต

"โรคไตจากเบาหวาน" ภาวะความเสี่ยง ที่อาจนำไปสู่ไตวายเรื้อรัง

"โรคไตจากเบาหวาน" ภาวะความเสี่ยง ที่อาจนำไปสู่ไตวายเรื้อรัง
TNN ช่อง16
4 พฤษภาคม 2568 ( 00:20 )
9

เมื่อผู้เป็นเบาหวานมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรัง จะมีผลทำลายหลอดเลือดขนาดเล็กในไต ส่งผลให้การทำงานของไตผิดปกติ และนำไปสู่โรคไตเรื้อรังที่เรียกว่า โรคไตจากเบาหวาน ในระยะแรกผู้ป่วยมักไม่แสดงอาการ แต่จะเริ่มตรวจพบอัลบูมินในปัสสาวะ ต่อมาจะเริ่มมีการทำงานของไตลดลง ซึ่งตรวจจากค่าระดับครีเอตินินในเลือด (serum creatinine) สูงขึ้น เมื่อการทำงานของไตลดลงมากขึ้น จะเริ่มมีอาการของโรคไตเรื้อรัง เช่น ปัสสาวะผิดปกติ (ได้แก่ ปัสสาวะเป็นฟอง ปัสสาวะเป็นเลือดหรือสีน้ำล้างเนื้อ และปัสสาวะบ่อย) ตัวบวม หน้าบวม ขาบวม น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร เป็นต้น จนนำไปสู่โรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย


ปัจจัยเสี่ยงโรคไตจากเบาหวาน

-เป็นโรคเบาหวานมานาน

-ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี

-มีโรคความดันเลือดสูงร่วมด้วย

-มีโรคหัวใจร่วมด้วย

-สูบบุหรี่

-น้ำหนักตัวเกินเกณฑ์

-มีประวัติครอบครัวเป็นโรคไตเรื้อรัง

การตรวจคัดกรอง แนะนำให้ตรวจในผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ที่เป็นมานานกว่า 5 ปี หรือ ผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ทุกคนตั้งแต่แรกวินิจฉัยโรค โดยแนะนำให้ตรวจระดับครีเอตินินในเลือด (serum creatinine) ร่วมกับ ตรวจระดับอัลบูลมินหรือโปรตีนในปัสสาวะ อย่างน้อย 1-4 ครั้งต่อปี ทั้งนี้ขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละราย

วิธีดูแลไตให้แข็งแรงสำหรับผู้เป็นเบาหวาน

-ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด โดยส่วนใหญ่ตั้งเป้าหมายค่าระดับน้ำตาลในเลือดสะสม (HbA1C) ไม่เกิน 7 mg%* เพื่อชะลอการลุกลามของโรคไตจากเบาหวาน

-ควบคุมความดันเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เป้าหมายความดันเลือดไม่เกิน 130/80 มม.ปรอท*

-ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ดีต่อสุขภาพ

-จำกัดการบริโภคเกลือและโซเดียม เพื่อลดการทำงานของไต

-เลิกสูบบุหรี่ เพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและไต

-ออกกำลังกายเป็นประจำ ปรับให้เป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรประจำวัน

-รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม หรือพยายามลดน้ำหนักหากมีภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน

-นอนหลับให้เพียงพอ แนะนำระยะเวลานอนหลับ 6-8 ชั่วโมง

-รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด

-หลีกเลี่ยงการใช้ยาหรือสารต่างๆที่อาจมีอันตรายต่อไต เช่น ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) การฉีดสารทึบรังสีเพื่อถ่ายภาพรังสี เป็นต้น ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยาดังกล่าว


เป้าหมายระดับน้ำตาลในเลือดและความดันเลือด ควรปรึกษาแพทย์เพื่อกำหนดเป้าหมายที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง