ตาลีบันรุกคืบทั่วอัฟกานิสถาน หวั่นหากตาลีบันยึดประเทศได้ เขย่าเสถียรภาพโลก
Afghanistan: ตาลีบันรุกคืบทั่วอัฟกานิสถาน นักวิเคราะห์หวั่นหากตาลีบันยึดประเทศได้ อาจเขย่าเสถียรภาพโลก
กลุ่มตาลีบันได้โจมตีพื้นที่ต่าง ๆ ในอัฟกานิสถานต่อเนื่องในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ทำให้กองทัพฝ่ายรัฐบาลต้องล่าถอย จนทำให้หลายคนเชื่อว่าตาลีบันจะยึดประเทศได้อีกครั้ง หลังจากที่ถูกสหรัฐฯ ยกทัพเข้าไปโค่นอำนาจลงเมื่อปี 2004
ล่าสุด จังหวัดเฮลมานด์ในกลายเป็นสมรภูมิเดือด ที่เกิดการต่อสู้อย่างหนักในเมืองลัชคาห์ การ์ เมืองเอกของจังหวัด และมีรายงานว่ากลุ่มตาลีบันได้เข้ายึดครองสถานที่สำคัญ ๆ ของเมืองแล้ว
ด้านพลเอกซามี ซาดัต หนึ่งในเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทัพอัฟกานิสถานเผย ยังคงมั่นใจว่าตาลีบันจะไม่สามารถยึดเมืองเอกของจังหวัดเฮลมานด์ได้ แต่ยอมรับว่าขณะนี้ ตาลีบันได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มติดอาวุธกลุ่มอื่นๆ รวมถึงกลุ่มรัฐอิสลาม หรือ IS ซึ่งก่อให้เกิดความหวั่นวิตกว่า หากตาลีบันมีชัยชนะในสงครามครั้งนี้ ก็จะเกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพและความมั่นคงของทั้งโลก เนื่องจากอาจเป็นแรงผลักดันให้แนวร่วมหัวรุนแรงอื่น ๆ ในยุโรปและอเมริกาหันมาเคลื่อนไหวก่อความรุนแรงได้
ขณะที่ประธานาธิบดีอัชราฟ กานี ของอัฟกานิสถาน กล่าวโทษว่า ความรุนแรงและความเพลี่ยงพล้ำที่เกิดขี้นเป็นเพราะสหรัฐฯ ถอนตัวออกไปอย่างเร่งด่วนเกินไป เขาได้ปราศรัยในรัฐสภาล่าสุด เรียกร้องให้มีปฏิบัติการระดับชาติเพื่อสกัดกั้นกลุ่มตาลีบันที่ไม่ได้ยึดมั่นแนวทางสันติภาพเลย แม้ว่าจะมีความพยายามหาทางออกผ่านการเจรจา ดังนั้น รัฐบาลของเขาจะมุ่งปกป้องชุมชนเมือง และเมืองเอกของจังหวัดต่าง ๆ
รัฐบาลอัฟกานิสถานประกาศเคอร์ฟิวนาน 1 เดือน เกือบทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม หวังหยุดยั้งกลุ่มตาลีบัน หลัง 2 ฝ่ายเปิดฉากสู้รบกันอย่างดุเดือดตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา แต่ก็ไม่เป็นผลนัก เพราะขณะนี้ กลุ่มตาลีบันได้เข้าตั้งฐานทัพในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะทางตอนเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ อย่างจังหวัดกาซนี และจังหวัดไมดานวาร์ดัก ถึงแม้ว่าสหรัฐฯ จะคอยสนับสนุนการโจมตีทางอากาศ
กองทัพสหรัฐฯ และพันธมิตรกองกำลังสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือ NATO ขับไล่รัฐบาลตาลิบันเมื่อปี 2004 หลังเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน 2001 หรือเหตุการณ์ '9/11'
นักวิเคราะห์มองว่า ตาลีบันอาจยึดประเทศอัฟกานิสถานได้อีกครั้งภายใน 6 เดือน โดยช่วงชิงความได้เปรียบที่ทหารอเมริกันถอนตัวตามนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ ของประธานาธิบดี โจ ไบเดน เพื่อยุติสงครามที่ยาวนานที่สุดถึง 20 ปี