จุฬาฯ เตรียมทดลองวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ในอาสาสมัคร พ.ค.นี้
วันนี้ (18 ก.พ.64) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน แถลงข่าวความก้าวหน้าการพัฒนาวัคซีนโควิด19 ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่จะเริ่มทดลองในมนุษย์ระยะที่ 1 โดยใช้กลุ่มอาสาสมัคร ช่วงต้นเดือนพฤษภาคมนี้
นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้บริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ระบุว่า เบื้องต้น วัคซีน ChulaCov19 ชนิด mRNA สามารถป้องกันโรคโควิด-19 และลดจำนวนเชื้อได้อย่างมากมายในหนูทดลอง หลังจากหนูทดลองได้รับการฉีดวัคซีนจุฬาฯ ครบ 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์ เมื่อหนูทดลองได้รับเชื้อโคโรนาไวรัสเข้าทางจมูก สามารถป้องกันหนูทดลองไม่ให้ป่วยเป็นโรคและยับยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าสู่กระแสเลือด รวมทั้งสามารถลดจำนวนเชื้อในจมูกและในปอดลงไปอย่างน้อย 10,000,000 เท่า
อีกทั้ง วัคซีนจุฬาฯ ชนิด mRNA สามารถเก็บในอุณหภูมิตู้เย็นปกติคือ 2-8 องศาได้ อย่างน้อย 1 เดือน ขณะนี้กำลังรอผลวิจัยที่ 3 เดือน ดังนั้นการขนส่งกระจายวัคซีนไปยังต่างจังหวัดทั่วประเทศจึงสามารถทำได้อย่างสะดวก โดยวัคซีนจุฬาฯ คาดว่าจะผลิตเสร็จเพื่อนำมาทดสอบในอาสาสมัครได้ ประมาณต้นเดือนพฤษภาคมนี้
ขณะนี้ กำลังเตรียมพัฒนาวัคซีนรุ่น 2 เพื่อทดสอบในหนูทดลองเพื่อรองรับเชื้อดื้อวัคซีนในอนาคต เพราะเนื่องจากมีเชื้อโคโรนาสายพันธุ์ใหม่กำลังระบาดในหลายประเทศและบางสายพันธุ์พบว่าเริ่มดื้อต่อวัคซีนในปัจจุบัน เทคโนโลยีวัคซีน mRNA มีจุดเด่น คือสามารถออกแบบวัคซีนรุ่นที่สองเพื่อตอบโต้เชื้อที่ดื้อวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว