รีเซต

ปั๊มหัวใจไฮเปอร์ลูป เนเธอร์แลนด์สร้างท่อยาว 420 เมตร เตรียมทดลองเทคโนโลยีสุดล้ำ

ปั๊มหัวใจไฮเปอร์ลูป เนเธอร์แลนด์สร้างท่อยาว 420 เมตร เตรียมทดลองเทคโนโลยีสุดล้ำ
TNN ช่อง16
30 มีนาคม 2567 ( 16:31 )
50
ปั๊มหัวใจไฮเปอร์ลูป เนเธอร์แลนด์สร้างท่อยาว 420 เมตร เตรียมทดลองเทคโนโลยีสุดล้ำ

หน่วยงานเทคโนโลยีพัฒนาด้านไฮเปอร์ลูปสัญชาติเนเธอร์แลนด์อย่าง ยูโรเปียน ไฮเปอร์ลูป เซ็นเตอร์ (European Hyperloop Center หรือ EHC) ประกาศความสำเร็จในการติดตั้งท่อทดลองไฮเปอร์ลูป ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานของการขนส่งความเร็วสูงในอนาคต ที่เมืองวีนดัม จังหวัดโกรนิงเกน ประเทศเนเธอร์แลนด์ และคาดว่าจะทดสอบไฮเปอร์ลูปอีกไม่กี่สัปดาห์ 




ท่อทดลองไฮเปอร์ลูปที่เพิ่งติดตั้งเสร็จสิ้นนี้มีความยาว 420 เมตร มีลักษณะเป็นท่อเหล็กสีขาวประกอบกันทั้งหมด 34 ท่อ เส้นผ่านศูนย์กลางของท่อกว้าง 2.5 เมตร วางทอดยาวไปตามรางรถไฟทางตอนเหนือของเนเธอร์แลนด์ นอกจากนี้ยังมีส่วนที่แยกท่อออกเป็น 2 เลน ซึ่งเป็นการจำลองการสับเปลี่ยนเลนในอนาคต มีปั๊มดูดอากาศติดตั้งอยู่ข้างท่อ สำหรับดูดอากาศออกเพื่อลดแรงดันภายใน ช่วยลดการลาก และช่วยให้แคปซูลเดินทางด้วยความเร็วสูงได้



ด้าน มารินัส ฟาน เดอร์ ไมจ์ส (Marinus van der Meijs) ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้อำนวยการด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมของฮาร์ด ไฮเปอร์ลูป บริษัทเทคโนโลยีที่พัฒนาไฮเปอร์ลูปสัญชาติเนเธอร์แลนด์ ผู้ผลิตท่อที่นำมาทดลองทั้งหมด ให้ความเห็นว่า “ท่อทดลองของ EHC เป็นโครงสร้างที่สมบูรณ์ ช่วยให้เราสาธิตเทคโนโลยีที่จำเป็น เช่น การลอยด้วยแม่เหล็ก การขับเคลื่อน การทรงตัว หรือแม้กระทั่งการเปลี่ยนเลนด้วยความเร็ว 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งนับว่ามีความสำคัญมากสำหรับไฮเปอร์ลูป เพราะมันจะช่วยให้ยานพาหนะเดินทางจากต้นทางไปยังปลายทางใดก็ได้”


ขณะที่ ซาชา แลมมี (Sascha Lamme) ผู้อำนวยการของ EHC กล่าวว่า “ผมคาดว่าเราจะมีเส้นทางไฮเปอร์ลูปเส้นแรกที่อาจจะมีความยาวประมาณ 5 กิโลเมตร ภายในปี 2030 ซึ่งไฮเปอร์ลูปนี้จะสามารถขนส่งผู้คนได้”


สำหรับการติดตั้งท่อทดลองไฮเปอร์ลูปนี้ มีหลายองค์กรที่เกี่ยวข้อง เช่น ท่อไฮเปอร์ลูปทำจากเหล็กที่พัฒนาโดยบริษัทสัญชาติเกาหลีโพสโค (POSCO) ร่วมกับบริษัทสัญชาติเนเธอร์แลนด์ ทาทา สตีล (Tata Steel) จากนั้นถูกประกอบเป็นท่อไฮเปอร์ลูปสำเร็จรูปโดยบริษัทสัญชาติเนเธอร์แลนด์ เมอร์คอน (Mercon) และติดตั้งโดยบริษัทด้านโครงสร้างพื้นฐานสัญชาติเบลเยี่ยม เดนิส (Denys) 


ทั้งนี้ EHC เป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรม ไฮเปอร์ลูป ดีเวโลปเมนท์ โปรแกรม (Hyperloop Development Program หรือ HDP) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนมากกว่า 25 รายเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีไฮเปอร์ลูป ซึ่งจะทำการทดสอบระบบในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า แต่ยังไม่มีการกำหนดวันอย่างเป็นทางการ 


สำหรับแนวคิดเรื่องไฮเปอร์ลูป เป็นหลักการสร้างระบบขนส่งที่ให้ห้องโดยสาร (Pod) เคลื่อนตัวไปตามแนวท่อสุญญากาศเพื่อลดแรงต้านอากาศและแรงเสียดทาน และตั้งเป้าเป็นระบบขนส่งมวลชนที่สามารถทำความเร็วสูงสุด 760 ไมล์ต่อชั่วโมง หรือมากกว่า 1,200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือคิดเป็นการเดินทางระหว่างกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา ใช้เวลาน้อยกว่า 30 นาที แนวคิดนี้มีมานานแล้ว แต่ในปี 2013 เจ้าพ่อเทคโนโลยีอย่างอีลอน มัสก์ (Elon Musk) ได้หยิบยกขึ้นมาพูดถึงอีกครั้ง นับจากนั้นก็มีหลายบริษัทได้เริ่มพัฒนาเทคโนโลยีไฮเปอร์ลูป เช่น ในปี 2014 มีการก่อตั้งบริษัทไฮเปอร์ลูป วัน (Hyperloop One) และถือเป็นผู้เล่นหลักในการพัฒนาเทคโนโลยีนี้ แต่ก็ต้องปิดตัวลงในเดือนธันวาคมปี 2023 หลังจากที่ไม่สามารถชนะการประมูลกับหน่วยงานใด ๆ เพื่อสร้างไฮเปอร์ลูปได้ จนทำให้เกิดคำถามตามมาว่า “ไฮเปอร์ลูปถือเป็นคำตอบสำหรับระบบขนส่งมวลชนความเร็วสูงในอนาคตหรือไม่ ?”


แต่อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวครั้งนี้ดูเหมือนว่า EHC จะยังเชื่อว่านี่คือการขนส่งแห่งอนาคต โดยในเว็บไซต์ของ EHC ได้เผยวิสัยทัศน์ของหน่วยงานว่า โครงสร้างเทคโนโลยีไฮเปอร์ลูปจะมีต้นทุนที่ถูกกว่ารถไฟความเร็วสูง การใช้พื้นที่ก็จะง่ายกว่าโครงสร้างพื้นฐานประเภทอื่น รวมถึงพลังงานที่ใช้ขับเคลื่อนไฮเปอร์ลูป ก็คาดว่าจะน้อยกว่าการเดินทางด้วยรถยนต์หรือเครื่องบินถึง 10 เท่าด้วย




ที่มาข้อมูล ApnewsTNN ThailandFuturismHyperloopcenterHyperloopcenterTech.EU

ที่มารูปภาพ Hyperloopcenter

ข่าวที่เกี่ยวข้อง