รีเซต

ชาวสวนมะพร้าวกังวล ผู้ส่งออกเลี่ยงซื้อจากสวนใช้ลิง หันนำเข้าจากเพื่อนบ้าน ทำราคารับซื้อตกเกือบเท่า

ชาวสวนมะพร้าวกังวล ผู้ส่งออกเลี่ยงซื้อจากสวนใช้ลิง หันนำเข้าจากเพื่อนบ้าน ทำราคารับซื้อตกเกือบเท่า
บีบีซี ไทย
18 กรกฎาคม 2563 ( 16:03 )
193

Reuters
ชาวสวนมะพร้าว ใน จ.สุราษฎร์ธานี

 

ชาวสวนมะพร้าวร้อง ผู้ส่งออกเลี่ยงซื้อจากสวนใช้ลิง หันนำเข้าจากเพื่อนบ้าน ทำราคารับซื้อตกเกือบเท่า หลังจากที่องค์กรพิทักษ์สิทธิสัตว์ หรือ พีตา ออกมากล่าวหาเรื่องการใช้แรงงานลิงในการเก็บมะพร้าวในประเทศไทยอย่างทารุณ เป็นผลให้ซูเปอร์มาร์เก็ตหลักในอังกฤษระงับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์มะพร้าว จากไทย

 

ชาวสวนในพื้นที่ปลูกมะพร้าวหลัก ทั้งภาคกลาง และภาคใต้บอกว่า ราคารับซื้อจากสวนในช่วงนี้ตกลงไปเกือบครึ่งจาก่อนหน้านี้

"จากช่วงก่อนที่จะมีข่าวของพีตาลูกละ 18-19 บาทที่ชาวบ้านพออยู่ได้ เพราะพอหักต้นทุนแล้วยังพอมีกำไรอยู่บ้าง ตอนนี้เหลือลูกละ 10-13 บาท" จินตนา แก้วขาว ชาวบ้านใน ต.ธงชัย อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ สมาชิกเครือข่ายชาวสวนมะพร้าวบางสะพาน บอกกับบีบีซีไทย

 

ยังไม่มีข่าวออกมาว่ากระทรวงพาณิชย์จะช่วยเหลือเกษตรกรมะพร้าวอย่างไร ส่วนรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บอกว่าเริ่มเดินหน้าแจก มะพร้าวพันธุ์เตี้ยให้ชาวสวนมะพร้าวได้นำไปปลูกแทนพันธ์สูง เพื่อลดการใช้งานของลิง

 

แต่ภาคเอกชนกลับมองเห็นว่าโจทย์ที่ใหญ่กว่าของรัฐบาลในการแก้ปัญหาและเรียกความเชื่อมั่นจากนานาชาติกลับมาคือการพิสูจน์ให้เห็นได้ว่า ไม่มีการทรมานสัตว์ระหว่างขั้นตอนการผลิต

AFP
ชาวสวนใน จ. นราธิวาส

 

ข้ออ้างเพื่อนำเข้ามะพร้าวนอก

จินตนา เจ้าของสวนมะพร้าวขนาด 1 ไร่ เชื่อว่าราคาที่ตกลง มาจากการส่งออกที่ลดลงจากข้อกล่าวหาของพีตา ทำให้ผู้ผลิตกะทิในประเทศใช้เป็นข้ออ้างนำเข้ามะพร้าวมาจากประเทศเพื่อนบ้าน

 

"เราเชื่อว่ามีการนำเข้ามะพร้าวเกินจากที่รัฐบาลอนุญาตหลายเท่าตัว แอบเอามาปนกับมะพร้าวไทยแล้วก็สวมรอยเป็นมะพร้าวไทย ยิ่งพอมีเรื่องพีตาก็ยิ่งใช้เป็นข้ออ้างว่าต้องนำเข้ามะพร้าวทั้งจากเวียดนามและอินโดนีเซีย และดูเหมือนว่ารัฐบาลก็อยากให้นำเข้าอยู่แล้ว แต่ชาวสวนมะพร้าวคัดค้านมาตลอด เพราะการนำเข้ามะพร้าวทำให้ปริมาณผลผลิตมะพร้าวในประเทศมีมากขึ้น จึงทุบราคามะพร้าวให้ตกลงมา ทั้งที่มะพร้าวของไทยเกรดดีกว่ามะพร้าวจากเพื่อนบ้านเยอะ เพราะมีความหอมความมัน ต้นทุนในการผลิตก็มากกว่า เมื่อทุบราคาลงมาได้ผู้ประกอบการก็ได้ประโยชน์" เธอกล่าว

 

ยุทธศาสตร์มะพร้าวเพื่ออุตสาหกรรม พ.ศ. 2561 -2579 ที่จัดทำโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า ไทยเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มะพร้าวลำดับที่ 7 ของโลก

 

Getty Images

"ที่ผ่านมาโรงงานที่รับซื้อมะพร้าวกับชาวสวนมะพร้าวต่อรองเรื่องราคากันมาตลอด เขาเคยต่อราคาเหลือลูกละ 8 บาทให้เราปอกเปลือกไปเสร็จเรียบร้อยส่งหน้าโรงงานเลย เขาอ้างว่ามะพร้าวนำเข้าเขาได้ราคานี้ แต่ชาวสวนมะพร้าวไทยบอกว่าเพราะต้นทุนการผลิตของเราก็ 7-8 บาทแล้ว เราคิดว่าลูกละ 13-15 บาท ถ้ากดราคาลงมาก็ไม่เป็นธรรม เพราะมะพร้าวเราคุณภาพดีกว่า มีปริมาณความมัน ไขมัน ความหวานเยอะกว่า"

 

สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องดี

บีบีซีไทยพยายามติดต่อผู้ผลิตและผู้ส่งออกกะทิ 2 รายใหญ่ คือ "ชาวเกาะ" และ "อร่อยดี" เพื่อขอคำชี้แจงในเรื่องนี้ แต่ทั้งสองบริษัทยังไม่ตอบรับคำขอ

 

ก่อนหน้านี้ นายเกรียงศักดิ์ เทพผดุงพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท อำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายกะทิชาวเกาะ และ "รอยไท" ให้สัมภาษณ์ นายสุทธิชัย หยุ่น เมื่อ 10 ก.ค. ว่า ข้อกล่าวหาเรื่องการทรมานลิงมีมา 5 ปีแล้ว ถูกสอบถามจากผู้นำเข้าไปขายตามห้างสรรพสินค้าในต่างประเทศ ให้ทางผู้ผลิตยืนยันว่าไม่มีเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้น ซึ่งทางบริษัทก็ได้ดำเนินการแก้ไขคำกล่าวอ้างมาตลอด แต่ไม่ได้ช่วยอะไรเลยเพราะทำเฉพาะในส่วนของบริษัท แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือพีตากล่าวหาทั้งกระบวนการผลิตของทั้งประเทศไทย

 

Getty Images

"ที่พีตาเอารูปที่ลิงถูกทรมานมาเผยแพร่ ถ้าถามผม ผมคิดว่าเป็นเรื่องจริง แต่มันอาจจะเป็นเหตุการณ์ 1 ใน 100 หรือ 1 ใน 1,000 จากเหตุการที่เกิดขึ้น จะให้บอกว่าเราจะไม่ใช้มะพร้าวที่เก็บมาจากลิงก็จะบอกว่ามันเป็นไปไม่ได้ การใช้การใช้ลิงเก็บมะพร้าวมันเป็นวิธีไทยที่มีมาเป็นร้อยปี แล้วผมมองว่านี่เป็นรากเหง้าของคนไทยประเภทหนึ่ง" เขากล่าวกับผู้ดำเนินรายการ

 

Getty Images

"สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญคือเราต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า เราไม่ได้ทรมานสัตว์ ที่เค้าทำอยู่นี่มันเป็นวิธีการอันหนึ่ง ของคนไทยในการเก็บมะพร้าว เหมือนคนเลี้ยงช้างเค้าก็ไปเอาช้างมาใช้งาน ผมคิดว่านี่มันเป็นผมคิดว่านี่มันเป็นเรื่องของวัฒนธรรมอันหนึ่ง เป็นวิธีของคนไทย"

 

กระทรวงเกษตรฯแจกมะพร้าวพันธ์เตี้ย

มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บอกกับบีบีซีไทยไปในทางเดียวกับชาวสวนว่า ข่าวการใช้แรงงานลิงกับการเก็บมะพร้าวทำให้ชาวสวนเดือดร้อนมาก ทำให้ราคามะพร้าวตกลงทุกวัน

 

"ชาวสวนบางคนบอกว่าอยากขอความเป็นธรรมกับพวกเขาบ้าง เพราะนี่คืออาชีพเดียวของพวกเขา ยิ่งบางคนที่ที่อาชีพเป็นคนสอยมะพร้าวยิ่งได้รับผลกระทบหนักจากราคามพร้าวที่ตกต่ำ เพราะเขาได้ค่าแรงต่อลูกที่น้อยลง มันสะเทือนไปหมดเลยตั้งแต่ในระดับแรงงาน อุตสาหกรรมมะพร้าว" มนัญญากล่าว

 

รมช. เกษตรฯ บอกว่า เรื่องการเยียวยาส่วนต่างราคามะพร้าวเป็นเรื่องของกระทรวงพาณิชย์ แต่ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็ให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นโดยการปรับปรุงมะพร้าวสายพันธุ์เตี้ยไปแจกเกษตรกรให้มากขึ้น

 

"ตอนนี้ให้นโยบายไปกับกรมวิชาการเกษตรให้เพาะพันธ์มะพร้าวเตี้ยออกไปให้ได้มากที่สุด และพยายามจะผลักดันไปให้ได้มากที่สุด เพราะเกษตรกรเองก็อยากเปลี่ยนมาเป็นมะพร้าวพันธุ์เตี้ย เพราะว่ามันง่ายต่อการเก็บเกี่ยว ตอนนี้มีคนเข้าคิวรับเป็นล้านคนแล้ว แต่เพิ่งทำได้สามแสนกว่าเอง"

 

"ถ้าจะให้มองกันดี ๆ มะพร้าวของประเทศไทยมันมีมากกว่ามะพร้าวนะ มันยังมีเอาไว้แบ่งแนวเขต สมัยก่อนถ้าจะดีว่าที่ใครอยู่มานานขนาดไหน เขาก็จะดูที่ข้อมะพร้าว และมะพร้าวเหล่านี้เป็นมะพร้าวที่สูงมาก ถ้าคนขึ้นไปก็จะเป็นอันตราย และตอนนี้มะพร้าวสูงเองก็น้อยลงไปมากแล้วในประเทศไทย"

 

มนัญญาอธิบายว่าประเทศไทยมีพื้นที่สำหรับการปลูกมะพร้าวตกล้านไร่ แต่ก็ยังไม่พอต่อความต้องการจากภาคอุตสาหกรรมเพื่อผลิตส่งออก

 

Getty Images

"จริง ๆ แล้วมะพร้าวในประเทศไทยเองไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงทำให้ต้องนำเข้ามาปีละหลายแสนตัน ที่ผ่านมาทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องไปกำชับทางด่านตรวจว่ามะพร้าวที่นำเข้ามาว่าต้องเป็นมะพร้าวที่ถูกต้องเพื่อช่วยไม่ให้มะพร้าวในประเทศไทยราคาตกต่ำไปกว่าเดิม"

 

"กัง" กับสถานะที่เปรียบเสมือนลูก

จินตนา ชาวสวนมะพร้าวบางสะพาน บอกว่า บอกว่าในพื้นที่ อ.บางสะพาน มีชาวสวนที่ใช้ลิงกังหรือที่ชาวบ้านเรียกสั้น ๆ ว่า "กัง" อยู่บ้าง เธอไม่มีลิงเป็นของตัวเอง แต่จ้างลิงของเพื่อนบ้านมาเก็บมะพร้าวเป็นครั้งคราว และชาวสวนไม่ได้ใช้กังเก็บมะพร้าวทุกต้น ใช้เก็บมะพร้าวเฉพาะต้นที่สูงมาก ๆ ใช้ตะขอเกี่ยวไม่ได้เพราะสูงเกินไป ซึ่งในแต่ละสวน มีมะพร้าวที่สูงเต็มที่อยู่ไม่กี่ต้น บางสวนก็ไม่ได้ใช้ลิงเลยเพราะมีแต่มะพร้าวต้นเตี้ย ซึ่งชาวสวนจะใช้ตะขอสอยมะพร้าวเพราะเก็บได้เร็วกว่า

 

อีกประเด็น ที่เธออยากให้คนนอกเข้าใจ คือ ชาวสวนเข้าใจสิทธิของสัตว์ ชาวสวนที่เลี้ยงลิงไว้เก็บมะพร้าวไม่ได้เลี้ยงลิงเหมือนเป็นทาส

 

"เราเลี้ยงลิงเหมือนเลี้ยงลูก เพราะถือว่าลิงทำงานให้ แล้วเราอยู่กันแบบนี้มาเป็นร้อยปีแล้ว ลิงก็ต้องออกกำลังเหมือนกัน ถ้าไม่ให้มันออกกำลังทำงาน มันก็จะดุร้าย"

 

นายพงษ์ศักดิ์ บุตรรักษ์ ผู้ประสานงานกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และเจ้าของสวนสวนมะพร้าวอินทรีย์กว่า 30 ไร่ เสริมว่า ทั้งตำบลธงชัยมีสวนมะพร้าวอยู่ประมาณ 30,000 ไร่ มีลิงกังเก็บมะพร้าวอยู่ไม่เกิน 20 ตัว และกำลังใช้ลิงเก็บมะพร้าวน้อยลงเรื่อย ๆ เพราะชาวสวนเริ่มเปลี่ยนมาปลูกมะพร้าวต้นเตี้ยแทนมะพร้าวพันธุ์ต้นสูง

 

EPA

เกรียงศักดิ์ ผู้ผลิตกะทิ "ชาวเกาะ" บอกว่า การทรมานสัตว์ ควรแก้ด้วยกการใช้ฎหมายที่มีอยู่แล้วลงโทษ แทนการเหมารวม

"มันมีกฎหมายคุ้มครองสัตว์อยู่ เราก็ควรนำมาใช้ การเหมารวมทั้งประเทศแบบนี้ถือว่าไม่ถูก คนเลี้ยงสุนัขก็มีทรมานสุนัขไม่รู้เท่าไหร่ ถ้าจะหาเรื่องโยงมันก็ทำได้ แต่ตอนนี้น่าจะเป็นเรื่องของการทำยังไงที่จะเดินให้ถูกทาง ว่าจะทำการรณรงค์อย่างไรให้มีการดูแลลิงที่เก็บมะพร้าว ดูแลเขาด้านสวัสดิภาพเรื่องการเลี้ยงดูไม่ให้มีการทรมาน หัวใจน่าจะอยู่ตรงนี้มากกว่า ไม่ใช่เรื่องของการประกาศไม่ใช้ลิงเก็บมะพร้าว ไม่งั้นลิงจะตกงานกันหมด" เขากล่าวในรายการ

 

มูลค่าส่งออก

มาถึงวันนี้ ผลกระทบจากข่าวเรื่องการใช้แรงงานสัตว์ในอุตสาหกรรมมะพร้าวไม่ได้ตกอยู่แค่ที่ผู้ผลิตและผู้ส่งออก แต่ยังส่งผลกระทบต่อราคามะพร้าวในประเทศไทย ผู้ผลิตหลายรายเริ่มถูกชะลอการสั่งซื้อ ซึ่งส่งผลให้ราคาวัตถุดิบภายในประเทศก็เริ่มตกต่ำลง แรงงานที่ใช้ในการแปรรูปมะพร้าวก็เริ่มมีปัญหา ซึ่งส่งผลกระทบต่อคนนับหมื่น

 

ข้อมูลจากไทยรัฐออนไลน์ ระบุว่า ไทยเป็นหนึ่งในผู้ผลิตผลิตภัณฑ์มะพร้าวรายใหญ่ที่สุดในโลก มีผลผลิตประมาณ 1.3 ล้านตันต่อปี ในปี 2562 ประเทศไทยสามารถส่งออก กะทิสำเร็จรูป ไปทั่วโลก สร้างรายได้ถึง 12,764 ล้านบาท มีตลาดสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดหลัก รองลงมาคือ ออสเตรเลีย 1,088 ล้านบาท และสหราชอาณาจักรที่กำลัง

 

สำหรับปี 2563 นี้ ช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-พ.ค.) ตลาดสหราชอาณาจักรขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 2 แต่ก็ยังถือเป็นตลาดส่งออกที่มีสัดส่วนน้อยเพียง 8% เท่านั้น ตลาดใหญ่ของการส่งออก 'กะทิไทย' ยังคงเป็นสหรัฐอเมริกา ที่มีสัดส่วนมากถึง 34.73%

 

EPA
กะทิสำเร็จรูปหลายยี่ห้อเป็นที่นิยมทั้งในและต่างประเทศ

 

ส่งเสริมลิง

เกรียงศักดิ์บอกด้วยว่า ประเทศไทยไม่ใช่ผู้ผลิตกะทิได้มากที่สุดในโลก แต่ผู้ที่ผลิตได้มากที่สุดคือประเทศอินโดนิเซีย เนื่องจากประเทศไทยเป็นผู้ผลิตกะทิมาก่อนเป็นรายแรกของโลก เพราะฉะนั้นหลายหลายแบรนด์ในประเทศไทยติดตลาดโลก และครองส่วนแบ่งการตลาดทั่วโลกมากกว่า 50% สำหรับกะทิสำเร็จรูป

 

"ตั้งแต่มีข่าวออกมาผมไม่เห็นด้วยกับการห้ามใช้แรงงานลิงเพราะมันเป็นวัฒนธรรมที่ควรค่าต่อการอนุรักษ์ ผมเองยังอยากทำแบรนด์ออกมาแบรนด์หนึ่งที่ใช้ลิงเป็นสัญลักษณ์ และระบุให้ชัดเจนเลยว่ารายได้จากการขายส่วนหนึ่งจะนำไปบริจาคให้มูนิธิที่ดูแลลิง เราไม่ควรกีดกันมะพร้าวจากที่ลิงเก็บ ผมคิดว่าลิงเก็บน่าจะทำราคาได้มากกว่าที่คนเก็บ กว่าลิงจะเก็บได้ต้องใช้เวลาฝึกนาน แต่ที่สำคัญคือต้องป้องกันไม่ให้ลิงถูกทรมาน" เกรียงศักดิ์กล่าวเอาไว้ในรายการ

 

"ลิงเก็บมะพร้าวน่าจะเหลือไม่เกิน 5% หลาย ๆ คนที่มีลิงอยู่ที่บ้านก็ไม่สามารถเก็บมะพร้าวได้ แต่มันเป็นเรื่องของความสุขทางใจมากกว่าเหมือนที่มีใครหลายหลายคนเลี้ยงสุนัขไว้ที่บ้าน"

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง