บทเรียน "เวเนซุเอลา" อดีตชาติมั่งคั่งที่ล่มสลาย เพราะเน้นแต่ "น้ำมัน" | Exclusive
อีกหนึ่งประเทศที่ถือเป็น “รัฐล้มเหลว” (Failed State) ที่น่าสนใจ คือ เวเนซุเอลาที่มีระดับเงินเฟ้อ “มากที่สุดในโลก”
พวกเขาไม่ได้มีผู้นำบริหารงานผิดพลาดจนน่าเกลียด หากแต่ผู้นำ “แทงม้าตัวเดียว” และ “ทำตัวเป็นเสือนอนกิน” หวังพึ่งพาการส่งออกทรัพยากรปิโตรเลียม โดยไม่สนใจเรื่องอื่น ๆ
ในที่สุด นำมาสู่ผลลัพธ์ที่เรียกว่า “Dutch Disease” หรือ “การพึ่งพิงบางสิ่งมากเกินไปจนเกิดหายนะทางเศรษฐกิจ” เรื่องนี้อาจเป็นบทเรียนต่อประเทศที่พึ่งพาอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง อย่างไทย ที่ค่อนข้างเน้นการท่องเที่ยวได้ด้วย แต่เราไปดูกันว่า เกิดอะไรขึ้นกับเวเนซุเอลา
พรจากสวรรค์
เวเนซุเอลานับว่าได้รับ “พรประทานจากสวรรค์” ด้วยการค้นพบปิโตรเลียมในปี 1922 ทำให้ประเทศพลิกฟื้นจากสังคมเกษตรกรรม เป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของละตินอเมริกา โดยเฉพาะในช่วงปี 1973 ที่เกิดวิกฤตการณ์น้ำมันจากการที่โลกอาหรับไม่ขายน้ำมันให้สหรัฐอเมริกา ยิ่งทำให้น้ำมันจากเวเนซุเอลาได้รับความนิยมอย่างมาก
และในปี 1976 เวนเซุเอลาได้ดึงสัมปทานน้ำมันกลับมาเป็นของรัฐ ภายใต้ชื่อ PDVSA Petróleos de Venezuela.S.A. เพื่อให้ประเทศได้กำไรจากน้ำมันมากยิ่งขึ้น มากกว่าการให้บริษัทต่างชาติเข้ามาสำรวจและขุดเจาะ
หมายความว่า รัฐบาลจะต้องอุ้มชูกิจการน้ำมันแบบ 100% ซึ่งเป็นเรื่องดีหากราคาน้ำมันนั้นยังอยู่ในระดับสูงและทรงตัว หากแต่ราคาน้ำมันในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1900 กลับผันผวนและปรับระดับลดลงอย่างมาก
ยิ่งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ 1997 ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะในแถบเอเชียที่กำลังเติบโต ต่างได้รับผลกระทบและต้องยกเลิกการนำเข้าน้ำมัน ส่งผลให้เวเนซุเอลาขาดดุลการส่งออกน้ำมันอย่างหนัก
รัฐสวัสดิการพาระทม
เท่านั้นยังไม่พอ การขึ้นเป็นประธานาธิบดีของ “อูโก ชาเวซ” ที่มีแนวนโยบายแบบรัฐสวัสดิการและสังคมนิยม เน้นให้รัฐบาลจัดการทุกสิ่งทุกอย่างเพื่ออุ้มชูประชาชน ยิ่งทำให้เกิด “ภาระทางการคลัง” ของประเทศอย่างหนัก
อย่าลืมว่า เวเนซุเอลาไม่พึ่งพิงการส่งออกทรัพยากรอื่น ๆ นอกเหนือจากน้ำมัน หมายความว่า น้ำมันคือรายได้เดียว ทั้งดำเนินนโยบายแบบรัฐสวัสดิการ ที่จะต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล สวนทางกับกำไรที่ลดลงจากขาดดุลส่งออกน้ำมัน ตรงนี้เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เวเนซุเอลาเริ่มเสื่อมสลาย
เงินเฟ้อของประเทศเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ แม้จะเปลี่ยนผู้นำเป็น นิโคลัส มาดูโร ที่มีแนวทางเศรษฐกิจแบบผ่อนปรน แต่ปัญหาเรื่อง Dutch Disease คือเรื่องคาราคาซัง เพราะจะให้ไปมองหาการส่งออกทรัพยากรอื่น ๆ ที่ใช่ว่าจะสร้างได้ภายในวันเดียว
ทำให้ผลลัพธ์คือ ไม่ว่าจะแก้ปัญหาแบบใด เงินเฟ้อนั้นก็เฟ้อไม่หยุด จนในปี 2018 ถึงขั้นเฟ้อในอัตรา 1,000,000% แต่ยังไม่สิ้นสุดเพียงเท่านั้น เพราะตามรายงานของ 2019 World Economic Outlook พบว่าเมื่อสิ้นสุดปี 2019 อัตราเงินเฟ้อของเวเนซูเอลา ทะลุไปถึง 10,000,000% เลยทีเดียว
ณ ตอนนี้สถานการณ์ของเวเนซูเอลา ก็นับว่าดีขึ้นมาก เพราะอัตราเงินเฟ้อธนาคารกลางของประเทศได้ออกรายงานว่า สามารถควบคุมได้อย่างน้อย 50% แล้ว
แต่เรื่องนี้ ทำให้เกิดบทเรียนราคาแพงที่ว่า บางครั้งการหวังพึ่งสิ่งใดเพียงอย่างเดียวมากเกินไป จนไม่มีแนวทางอื่น ๆ เป็นทางหนีทีไล่ไว้ก่อน เวลาเกิดหายนะก็อาจทำให้สถานการณ์ยากเกินแก้ให้กลับมาดีดังเดิม
Exclusive by วิศรุต หล่าสกุล [เฮย์เดน วิศว์]
แหล่งอ้างอิง
- บทความ Understanding Venezuela's Crisis: Dutch Diseases, Money Doctors, and Magicians
- บทความ Analysis of Dutch Disease Phenomenon in Case of Venezuela
- https://www.cfr.org/backgrounder/venezuela-crisis