รีเซต

เมื่อจีนเดินหน้าสู่ความเจริญรุ่งเรืองถ้วนหน้า โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เมื่อจีนเดินหน้าสู่ความเจริญรุ่งเรืองถ้วนหน้า โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร
TNN ช่อง16
14 กันยายน 2564 ( 20:07 )
120
เมื่อจีนเดินหน้าสู่ความเจริญรุ่งเรืองถ้วนหน้า โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ภายหลังความสำเร็จในการขจัดปัญหาความยากจนให้หมดสิ้นจากแผ่นดินจีน พรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาลจีนก็ไม่รอช้า ใส่เกียร์เดินทางไกลสู่ศตวรรษที่ 2 เพื่อหวังให้จีนเข้าสู่ยุคแห่ง “ความเรืองรอง” ภายใต้สังคมนิยมยุคใหม่ในทันที 

ภายหลังจากการประชุมฤดูร้อนเป่ยไต้เหอ (Beidaihe) มณฑลเหอเป่ย สี จิ้นผิง ก็สร้างความฮือฮาอีกครั้งด้วยการประกาศขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนพื้นฐานของการเติบโตเชิงคุณภาพ โดยมี “ความเจริญรุ่งเรืองถ้วนหน้า” (Common Prosperity) เป็นเป้าหมายของการพัฒนาของจีนในอนาคต ... 

อันที่จริง ความคิดในเรื่องความเจริญรุ่งเรืองถ้วนหน้าไม่ใช่ของใหม่ เพราะเคยปรากฏครั้งแรกในการประชุมคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์เกี่ยวกับการพัฒนาสหกรณ์การผลิตสินค้าเกษตรในสมัยของ เหมา เจ๋อตงเมื่อปี 1953 

เติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำคนต่อมาก็เดินตามแนวคิดดังกล่าว โดยระบุว่าภารกิจพื้นฐานของพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้แก่ การดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เติ้ง เสี่ยวผิง ยังเคยกล่าวไว้เมื่อครั้งเปิดประเทศใหม่ๆ ว่า “ความยากจนไม่ใช่ระบอบสังคมนิยม” และภายใต้ความพยายามในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว “จะมีคนบางส่วนที่รวยก่อน และคนที่เหลือจะมีฐานะดีขึ้นตามมา” 

สี จิ้นผิง ผู้นำจีนในปัจจุบันก็เห็นด้วยว่า ความเจริญรุ่งเรืองถ้วนหน้าเป็นเป้าหมายสูงสุดของพรรคฯ และให้ความสำคัญยิ่งกับเรื่องนี้ โดยในช่วงที่ผ่านมาของปี 2021 สี จิ้นผิงได้กล่าวถึงการกระจายความมั่งคั่งของภาคประชาชนที่สะท้อนถึงความเจริญรุ่งเรืองถ้วนหน้าในสุนทรพจน์และการประชุมรวมอย่างน้อย 65 ครั้ง เทียบกับ 30 ครั้งของทั้งปีก่อน 

ในถ้อยคำแถลงต่อที่ประชุมคณะกรรมการกลางด้านการเงินและเศรษฐกิจหลังการประชุมครั้งที่ 10 เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ที่ผ่านมา ระบุว่า “พวกเราสามารถปล่อยให้คนบางส่วนร่ำรวยไปก่อน และนำทางคนอื่นๆ สู่ความร่ำรวยตามหลัง ...” 

แม้ว่าความสำเร็จในการเปลี่ยนจากระบบการวางแผนจากส่วนกลางไปสู่ระบบทุนนิยม (ที่จีนนิยมเรียกว่า “สังคมนิยมยุคใหม่”) ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ได้ช่วยให้เศรษฐกิจจีน “ก้าวกระโดด” เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และปลดปล่อยจีนจากความยากจน จนสามารถลบคำสบประมาทที่นักวิชาการชาติตะวันตกที่ประเมินว่า จีนต้องใช้ถึง 100 ปีในการหลุดพ้นจากความยากจน 

แต่ในอีกด้านหนึ่ง จีนก็ต้องเผชิญปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ช่องว่างระหว่างฐานะและชีวิตความเป็นอยู่ระหว่างคนในเมืองใหญ่กับเมืองรอง คนในเมืองกับชนบท ซีกตะวันออกกับตะวันตก และระหว่างภาคเกษตร-อุตสาหกรรม-บริการ ถ่างกว้างมากขึ้น จนชาวจีนพูดกันเสมอว่า หาก เหมา เจ๋อตง ฟื้นคืนชีพมาเห็นจีนเปลี่ยนแปลงแตกต่างกันขนาดนี้ ท่านคงเป็นลมสิ้นสติไปอีกรอบเป็นแน่

ตามแผนพัฒนา 5 ปีฉบับที่ 14 จีนมุ่งเน้นโมเดลการพัฒนาคุณภาพสูงที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางบนพื้นฐานของความเสมอภาคของภาคประชาชน โดยตั้งเป้าที่จะเพิ่มจำนวนคนชั้นกลางให้มีจำนวน 800 ล้านคนภายในปี 2025 

ว่าง่ายๆ หากบรรลุเป้าหมายก็หมายความว่า คนชั้นกลางจะกลายเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศซึ่งนั่นเป็นที่มาของ “โมเดลลูกรักบี้” ที่ป่องกลาง และเรียวในส่วนหัวและท้าย ปรากฏการณ์ “โมเดลลูกรักบี้” จะเกิดขึ้นได้ จีนก็ต้องเพิ่มจำนวนคนชั้นกลางจากปัจจุบันอีกราวเท่าตัวภายในปี 2025 

เป้าหมายดังกล่าวนับว่ามีความท้าทายสูงมาก ซึ่งผู้นำจีนได้เรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง “ทำให้ดีที่สุดในการจัดตั้งระบบนโยบายสาธารณะที่เป็นวิทยาศาสตร์ที่จะนำไปสู่การกระจายรายได้ที่เป็นธรรมมากขึ้น” ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า แนวทางการดำเนินนโยบายขจัดปัญหาความยากจนนับเป็นหนึ่งในต้นแบบของความมุ่งหวังดังกล่าว 

จากข้อมูลของสมาพันธ์อุตสาหกรรมและพาณิชย์ของจีนโดยรวม (All-China Federation of Industry and Commerce) เมื่อมิถุนายน 2020 ระบุว่า จีนมีกิจการจำนวน 109,500 รายที่มีส่วนร่วมในแคมเปญการบรรเทาความยากจน “10,000 บริษัทช่วย 10,000 หมู่บ้าน” ซึ่งช่วยคนยากจนของจีนรวมกว่า 15.6 ล้านคนผ่านอุตสาหกรรมการผลิตและการจ้างงาน

เพื่อปกป้องวิสัยทัศน์ เอาชนะความท้าทาย และบรรลุเป้าหมายดังกล่าว พรรคฯ และรัฐบาลจีนต้องพยายามสร้างความเท่าเทียมกันผ่านวงจรเศรษฐกิจภายในประเทศและระหว่างประเทศ โดยมุ่งเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เพื่อมิให้วงจรแห่งความยากจนหวนกลับมาเกิดขึ้นอีก ซึ่งคณะกรรมการกลางด้านการเงินฯ ดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องสร้างความสมดุลระหว่างประสิทธิภาพและความเป็นธรรมควบคู่กันไป

ในทางปฏิบัติ จีนจึงต้องระดมทรัพยากรและงัดเอาทุกวิถีทางมาใช้ประโยชน์ราวกับการปรับปรุงคฤหาสน์หลังใหญ่ให้แข็งแรงและงดงามยิ่งขึ้น อาทิ การเพิ่มรายได้ของกลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำ การควบคุมกลุ่มที่มีรายได้สูงอย่างสมเหตุสมผล และการขจัดรายได้ที่ไม่ถูกกฎหมาย 

และไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า ผลการประชุมดังกล่าวได้สร้างแรงกระเพื่อมอย่างคาดไม่ถึง และไม่เคยมีครั้งใดที่ส่งสัญญาณชัดเจนเท่าครั้งนี้ รัฐบาลจีนได้ออกกฎเหล็กและการดำเนินการมากมายอย่างจริงจังตามมาเป็นระลอก เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม

อันที่จริง ในช่วงหลายเดือนหลังนี้ เราเห็นรัฐบาลจีน “ร่ายกระบี่” กับกิจการน้อยใหญ่ที่กระทำผิดกฎหมายด้วยหลากหลายเพลงยุทธ์ อาทิ การจัดส่งข้อมูลลูกค้าเข้าบิ๊กดาต้ากลางของรัฐ การจัดระเบียบพฤติกรรมทางเศรษฐกิจที่นำไปสู่การผูกขาดตลาด การกำหนดให้สถาบันการศึกษานอกเวลาต้องอยู่ในรูปของเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร และการจำกัดเวลาเล่นเกมส์ออนไลน์ของเด็กจีน

ผู้คนต่างพูดถึงการจัดระเบียบทางเศรษฐกิจและสังคมครั้งใหญ่ในจีน และกระตุ้นให้เศรษฐีและกิจการขนาดใหญ่เข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มใจและมีพฤติกรรมที่ถูกต้องและสอดคล้องกับแนวทาง “รวยแล้วต้องแบ่งปัน”

กิจการรายใหญ่ต่างตระหนักดีว่า งวดนี้รัฐบาลจีนเอาจริงแน่ ไม่เลือกหน้าอินทร์หน้าพรหม และไม่อาจต้านทานพลังอำนาจของพรรคฯ และรัฐบาลจีน จึงเลือกยึดหลักคิดตามสุภาษิตไทยที่ว่า “น้ำเชี่ยวอย่าเอาเรือขวาง” 

เราจึงเห็นว่า บิ๊กเทคหลายรายของจีนดาหน้ากันออกมาบริจาคเงินและสิ่งของจำนวนมากเพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้หรือผู้ประสบภัยพิบัติมากอย่างไม่เคยเห็นมาก่อน อาทิ โควิด-19 ภัยแล้ง และอุทกภัย ทั้งนี้ในช่วงปีที่ผ่านมา เราได้เห็นมหาเศรษฐีจีนอย่างน้อย 7 คนที่บริจาคเงินรวมกันกว่า 33,000 ล้านหยวน ซึ่งมากกว่า 20% ของยอดการบริจาคโดยรวมของปี 2020 

ขณะเดียวกัน ผู้บริหารระดับสูงของกิจการขนาดใหญ่รู้สึกว่า หากสถานการณ์ดำเนินไปเช่นนี้ ภัยก็อาจมาถึงตัวในอนาคตอันใกล้ บางราย อาทิ ซีอีโอของจินตง (JD.com) ถึงขนาดประกาศก้าวลงจากตำแหน่งเร็วกว่ากำหนด และขยับไปทำงานเบื้องหลัง เหมือนกับที่แจ็ก หม่า เคยทำก่อนหน้านี้ก็มี

เพื่อสนองตอบนโยบายดังกล่าวของพรรคฯ อย่างเป็นลำดับ รัฐบาลจีน “เดินข้ามลำธารโดยใช้เท้าสัมผัสหิน” อีกครั้งโดยได้กำหนดให้มณฑลเจ้อเจียง ที่ตั้งอยู่ด้านซีกตะวันออกของจีน เป็นพื้นที่นำร่องสำหรับความเจริญรุ่งเรืองถ้วนหน้า ซึ่งตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี 2025 คนในชนบทในพื้นที่ดังกล่าวจะมีรายได้เฉลี่ยต่อหัว 44,000 หยวนต่อปี เทียบกับระดับรายได้เฉลี่ยของคนในชนบททั้งประเทศที่ 17,000 หยวนในปี 2020

กิจการขนาดใหญ่หลายรายได้ประกาศตั้งกองทุนเพื่อบรรษัทภิบาลและการรับผิดชอบต่อสังคมด้วยวงเงินจำนวนมหาศาล และมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เทนเซ็นต์ (Tencent) และอาลีบาบา (Alibaba) ตั้งกองทุนมูลค่ารายละ 100,000 ล้านหยวน เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางสังคม โดยรายแรกมุ่งช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อยในด้านสุขภาพ การศึกษา และการพัฒนาชนบท 

แต่รายหลังดำเนินโครงการตามแนวคิด “สอนให้ตกปลาดีกว่าการให้ปลา” โดยการนำเอาเทคโนโลยีไปช่วยสนับสนุน SMEs ในการขยายธุรกิจสู่ต่างประเทศ การพัฒนาชนบท และการจ้างงานที่สร้างเสริมรายได้พิเศษแก่กลุ่มคนที่ด้อยโอกาส เป็นต้น

ขณะที่พินตัวตัว (Pinduoduo) ก็ตั้งงบ 10,000 ล้านหยวน เพื่อสนับสนุนโครงการพัฒนาด้านการเกษตร และดูแลช่วยเหลือเกษตรกรที่ส่วนใหญ่อยู่ในชนบท

นักวิเคราะห์ยังประเมินว่า รัฐบาลจีนต้องดำเนินการด้วยมุมมองที่ดีอย่างระมัดระวัง ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงที่ผ่านมา จีนได้ปฏิรูปกิจการของรัฐด้วยการลดขนาดของรัฐวิสาหกิจ และขายกิจการของรัฐที่ไม่มีผลิตภาพให้กับเอกชนในราคาที่ต่ำ ทำให้เกิดความสูญเสียทรัพย์สินของภาครัฐในหลายกรณี และทำให้คนบางกลุ่มได้รับประโยชน์จำนวนมหาศาล ซึ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำให้มากขึ้น

ขณะเดียวกัน การกระจายความมั่งคั่งก็ควรถูกดำเนินการอย่างเท่าเทียมและเหมาะสม รวมทั้งป้องกันการเกิดฟองสบู่ในธุรกิจที่ดำเนินไปอย่างผิดรูปผิดร่าง ยกตัวอย่างเช่น บทบาทภาคการเงินในระบบเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นควรกระตุ้นเศรษฐกิจที่แท้จริงและเพิ่มผลิตภาพ แต่ก็ต้องไม่เติมเชื้อไฟให้กับการเก็งกำไรซึ่งเป็นอันตรายกับการพัฒนาเชิงสังคม การจำแนกแรงงานที่มีผลิตภาพสูงและต่ำ 

การกำหนดผลตอบแทนที่เหมาะสมในแต่ละสาขาอาชีพ ก็นับเป็นสิ่งสำคัญ คนที่สร้างผลประโยชน์อย่างแท้จริง อาทิ นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยพื้นฐาน ควรได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม ในทางตรงกันข้าม ศิลปินดาราจำนวนมากทำงานสบายผ่านการพัฒนาด้านเทคโนโลยี แต่กลับได้รับผลตอบแทนที่สูงเว่อร์

ด้วยเหตุนี้เราจึงเห็นความพยายามของภาครัฐในการชะลอบทบาทของธุรกิจออนไลน์ดังที่กล่าวก่อนหน้านี้ และเดินหน้าจัดระเบียบวงการบันเทิงครั้งใหญ่ อาทิ การห้ามจัดอันดับศิลปินในวงการบันเทิง และกิจกรรมที่สร้างรายได้ของศิลปิน จนชาวจีนบางส่วนรู้สึกว่า ยุค “ดาวรุ่ง” ของศิลปินเปลี่ยนสู่ “ดาวดับ” ในชั่วพริบตา 

ภายใต้การเรียนรู้จากแนวทางขจัดความยากจนจากแผ่นดินจีนและนำมาประยุกต์ใช้กับความเจริญรุ่งเรืองถ้วนหน้า จีนยังควรการกระจายความมั่งคั่งเกิดขึ้นบนพื้นฐานของความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชน โดยรัฐบาลจีนควรเข้าไปมีบทบาทนำในการจัดสรรทรัพยากร และประสานผลประโยชน์ระหว่างกลุ่มทุนและแรงงาน เพื่อนำไปสู่การเข้าถึงบริการสาธารณะและได้รับโอกาสที่เท่าเทียมกันทางสังคมที่ดีขึ้น 

ดังนั้น จีนจึงต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาสินค้าและบริการสาธารณะที่ประชาชนใช้ร่วมกัน ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การรักษาพยาบาล และการสร้างโอกาสทางสังคมที่เท่าเทียมกัน เพื่อให้ทุกคนได้รับความเป็นธรรมในการเข้าถึงโอกาสความสำเร็จในชีวิตที่ดีขึ้น

นั่นหมายความว่า จีนต้องพัฒนาระบบการประสานและสนับสนุนการกระจายความมั่งคั่งในทุกระดับอย่างสร้างสรรค์ และเพิ่มขีดความสามารถและความแม่นยำของการใช้เงินภาษี เงินประกันสังคม และการถ่ายโอนเงินให้ลงไปยังพื้นที่และตรงกับกลุ่มเป้าหมาย 

ในประเด็นนี้ เราได้เห็นการเชิญชวนทุกภาคส่วนออกมาช่วยกันประหยัดทรัพยากรอาหาร และอื่นๆ แล้วก่อนหน้านี้ ยกตัวอย่างเช่น แคมเปญ “ปฏิบัติการกินเรียบ” (Guang Pan Xing Dong) ที่ผู้นำจีนเรียกร้องทุกภาคส่วนมาร่วมกันเปลี่ยนพฤติกรรมการสั่งและบริโภคอาหาร โดยถ่ายรูปและแชร์ภาพอาหารที่เกลี้ยงจานหลังรับประทานอาหารเสร็จ แทนรูปภาพอาหารเต็มจานก่อนเริ่มรับประทาน ผลจากการดำเนินแคมเปญนี้ ทำให้จีนสามารถประหยัดอาหารที่นำไปเลี้ยงผู้คนได้ถึง 200 ล้านคนต่อปี

กิจการบางรายก็กระจายความมั่งคั่งจากภาคเอกชนสู่ภาคประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม จีลี่ (Geely) ผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่ของจีน ประกาศแจกหุ้น 1.67 ล้านหุ้นให้กับพนักงานจำนวนกว่า 10,000 คน ขณะที่ SMEs หลายรายก็ดำเนินกลยุทธ์การตลาดเพื่อสังคมอย่างสร้างสรรค์ 

อาทิ เอ๋อร์เคอ (Erke) แบรนด์เสื้อผ้ากีฬา “เบอร์เล็ก แต่ใจใหญ่” ของจีน ที่บริจาคเงิน 50 ล้านหยวนช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม จนเกิดกระแสความนิยมสวมใส่ชุดกีฬาของ “เอ๋อร์เคอ” ในหลายหัวเมือง หรือร้านกาแฟอุ้งตีนหมี (Bear Paws Café) ที่พนักงานส่วนใหญ่เป็นคนพิการ ก็กำหนดอัตราค่าจ้าง ให้การฝึกอบรม สิทธิ์ในการได้รับหุ้นของบริษัท และสิทธิประโยชน์อื่นในระดับที่เหมาะสมแก่พนักงาน ซึ่งได้กระแสตอบรับจากสังคมอย่างมาก จนคาดว่าจะเปิด 100 สาขาได้ในปีแรกของการเปิดกิจการ

คำถามข้อใหญ่ก็คือ ภายใต้เป้าหมาย “ความเจริญรุ่งเรืองถ้วนหน้า” จีนจะเอาความมั่งคั่งของคนรวยมาแจกจ่ายให้คนจนหรือไม่ อย่างไร

ต่อประเด็นนี้ ผู้นำจีนได้ยืนยันหนักแน่นว่า พรรคฯ และรัฐบาลจีนจะไม่ทำเช่นนั้นอย่างแน่นอน เพราะความเจริญรุ่งเรืองถ้วนหน้าไม่ใช่การฆ่าคนรวย เพื่อช่วยเหลือคนจน “พวกเราจะสนับสนุนผู้ประกอบการที่ทำงานหนัก ทำธุรกิจอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และแบกรับความเสี่ยงในการเริ่มต้นธุรกิจ” ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า จีนจะไม่ลดบทบาทของภาคเอกชนในการพัฒนาประเทศ 

หากเราพิจารณาช่วงเวลากว่า 4 ทศวรรษที่ผ่านมานับแต่จีนเปิดประเทศ ภาคเอกชนได้เข้าไปมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในหลากหลายมิติ โดยมีสัดส่วนราว 60% ของการเติบโตของจีดีพี 70% ของนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี และกว่า 50% ของภาษีเงินได้ 

นอกจากนี้ ภาคเอกชนยังมีบทบาทสำคัญในการจ้างงาน โดยคิดเป็นราว 80% ของการจ้างงานในชุมชนเมือง และ 90% ของตำแหน่งงานใหม่ในจีน ซึ่งมีคุณภาพและผลตอบแทนที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

ด้วยเหตุผลดังกล่าว พรรคฯ และรัฐบาลจีนจึงมีมุมมองว่า ภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการเพิ่มความมั่งคั่งของประเทศ และช่วยลดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนในอนาคต 

เราจึงสังเกตเห็นผู้นำจีนกล่าวในหลายเวทีถึงความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของภาคเอกชน เท่านั้นไม่พอ จีนยังมองว่า การพัฒนาภาคเอกชนให้มีความแข็งแกร่งยังจำเป็นต่อการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวในระยะยาว

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ในด้านหนึ่ง จีนในยุคใหม่ให้ความสำคัญกับกลไกตลาดที่มี “มือที่มองไม่เห็น” (Invisible Hand) เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็ต้องมี “มือทางสังคม”  (Social Hand) ที่มีภาระผูกพันทางศีลธรรมและความคาดหวังของสังคม เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คนที่มีฐานะดีแบ่งปันต่อสังคมควบคู่กันไป

ในทางการเมือง ความเจริญรุ่งเรืองถ้วนหน้านับเป็นพื้นฐานภาคบังคับของระบอบสังคมนิยม และสะท้อนถึงลักษณะพิเศษของความทันสมัยในรูปแบบของจีน ประการสำคัญ ความเจริญรุ่งเรืองถ้วนหน้ากำลังมีนัยยะสำคัญที่สูงมากในทางการเมือง เพราะปี 2022 จะเป็นช่วงเวลาที่ที่ประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะพิจารณารับรองรายชื่อโพลิตบูโรถาวร หรือ “7 อรหันต์” ที่กุมอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศชุดใหม่ 

ขณะเดียวกัน ประเด็นสำคัญสุดที่ชาวจีนจับตามองอย่างใกล้ชิดก็คือ การดำรงอยู่ในตำแหน่งเลขาธิการพรรคฯ และผู้นำสูงสุดของประเทศเทอมที่ 3 ของสี จิ้นผิง หากเราประเมินท่าทีของสี จิ้นผิง ที่ออกงานสำคัญพร้อมนโยบายใหม่อย่างต่อเนื่องหลังการประชุมฤดูร้อนเป่ยไต้เหอ ท่านผู้อ่านก็พอจะมีคำตอบในประเด็นนี้เช่นกัน

ความเจริญรุ่งเรืองถ้วนหน้านับเป็น “จุดขาย” ของสี จิ้นผิงในทางการเมืองที่นอกจากจะช่วยจัดระเบียบทางเศรษฐกิจและสังคมจีนให้เป็นไปตามระบอบสังคมนิยมแล้ว ยังจะได้รับกระแสสนับสนุนในวงกว้าง เพราะคนจีนเบื่อหน่ายกับปัญหาที่มีอยู่ และล้วนอยากมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนชั้นล่างที่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมืองรองขนาดเล็กและชนบท 

การเดินหน้าเพื่อบรรลุเป้าหมายของความเจริญรุ่งเรืองถ้วนหน้า ไม่เพียงแต่กำลังเป็นปัจจัยที่ช่วยสร้างความเท่าเทียมกันในสังคมจีน แต่กำลังเสริมสร้างความชอบธรรมในทางการเมืองให้ สี จิ้นผิง ในอนาคต ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง