รีเซต

รวม 8 มาตรการแบงก์ พักหนี้-ลดดอกเบี้ยฝ่าโควิด-19 รอบใหม่

รวม 8 มาตรการแบงก์ พักหนี้-ลดดอกเบี้ยฝ่าโควิด-19 รอบใหม่
TNN ช่อง16
15 มกราคม 2564 ( 11:39 )
315

        เหมือนเดจาวู! เพราะเชื่อว่าหลายๆคนอาจจะเพิ่งเริ่มกลับมาชำระหนี้ให้กับธนาคารเจ้าของหนี้ได้ไม่นาน  รายได้ก็เริ่มกลับมาเข้ากระเป๋า บางคนธุรกิจอาจจะเพิ่งกลับมาเข้าร่องเข้ารอย แต่เจ้า”โควิดตัวดี” ดันกลับมาระบาดรอบใหม่ ก็ทำให้รายได้สะดุด แต่ค่าใช้จ่ายยังเท่าเดิม ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ผ่อนบัตรเครดิต ก็ยังต้องจ่าย  

        ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ตกลงร่วมกันกับสถาบันการเงินและสถาบันการเงินเฉพาะกิจในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้รายย่อย ด้วยวิธีการรวมหนี้ (debt consolidation)  โดยให้สามารถนำสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่นที่อยู่ภายใต้ผู้ให้บริการทางการเงิน หรือบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของผู้ให้บริการทางการเงินเดียวกัน อาทิ บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ และสินเชื่อที่เกิดจากการให้เช่าซื้อ มาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ด้วยวิธีการรวมหนี้กับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเพื่อใช้ประโยชน์จากหลักประกัน

        ซึ่งวิธีการรวมหนี้นี้จะทำให้ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถลดอัตราดอกเบี้ยในส่วนของสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่นให้เหลือไม่เกินอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate: MRR) และขยายระยะเวลาการชำระหนี้ตามความสามารถของลูกหนี้ แต่แบงก์เองก็จะต้องให้ข้อมูลที่ครบถ้วนเพียงพอต่อการตัดสินใจของลูกหนี้ เช่น ข้อดีข้อเสียของการเข้าร่วมมาตรการ ข้อมูลเปรียบเทียบภาระหนี้เดิมกับภาระหนี้ใหม่ และทางเลือกการปรับปรุงโครงสร้างหนี้รูปแบบอื่นที่ลูกหนี้สามารถทำได้  ลดหนี้แล้วแต่ลูกหนี้ไม่เสียประวัติข้อมูลเครดิต และไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม  รวมทั้งยังสามารถใช้วงเงินบัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่มีลักษณะหมุนเวียนที่ยังเหลือได้ ตลอดจนไม่ต้องจ่ายเบี้ยปรับการชำระหนี้ก่อนกำหนด (prepayment fee) โดยมาตรการนี้สามารถเข้าร่วมและแสดงข้อมูลว่าได้รับผลกระทบต่อผู้ให้บริการทางการเงินได้ตั้งแต่วันนี้-31 ธันวาคม 2564


cr:Pixabay

         ขณะเดียวกันยังได้ออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย ได้แก่  1. ปรับลดเพดานดอกเบี้ยเป็นการทั่วไป 2-4% ต่อปี สำหรับบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ (มีผลตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2563)ได้แก่ บัตรเครดิต เพดานเดิม 18% ต่อปี ลดเหลือ 16% ต่อปี ,สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ทั้ง วงเงินหมุนเวียน (Revolving loan) เช่น บัตรกดเงินสด เพดานเดิม 28% ต่อปี ลดเหลือ 25% ต่อปี ,ผ่อนชำระเป็นงวด (Installment loan) เพดานเดิม 28% ต่อปี ลดเหลือ 25% ต่อปี, จำนำทะเบียนรถ เพดานเดิม 28% ต่อปี ลดเหลือ 24% ต่อปี

      นอกจากนี้ ยังได้ให้เพิ่มวงเงินบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล  ภายใต้การกำกับประเภทวงเงินหมุนเวียนหรือที่ผ่อนชำระเป็นงวด สำหรับลูกหนี้ที่มีความจำเป็นต้องใช้วงเงินเพิ่มเติม กลุ่มลูกหนี้ชั้นดี ภายใต้เงื่อนไขจะต้องมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่ำกว่า 30,000 บาท ขยายวงเงินจากเดิม 1.5 เท่า เป็น 2 เท่าของรายได้เฉลี่ยต่อเดือน เป็นการชั่วคราวถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 (มีผลตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2563)อีกด้วย 


cr:Pixabay

รวมมาตรการจากสถาบันการเงิน 

    1. ออมสิน

พักชำระเงินต้น-ลดจ่ายดอกเบี้ย ลูกค้าในพื้นที่สีแดง 28 จังหวัด

        โดยลูกค้าของธนาคารออมสินในพื้นที่จังหวัด ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด/พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดรวม 28 จังหวัด หรือพื้นที่สีแดง ตามคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-2019 ได้แก่ 1.ตาก 2.นนทบุรี 3.ปทุมธานี 4.พระนครศรีอยุธยา 5.สระบุรี 6.ลพบุรี 7.สิงห์บุรี 8.อ่างทอง 9.นครนายก 10.กาญจนบุรี 11.นครปฐม 12.ราชบุรี 13.สุพรรณบุรี 14.ประจวบคีรีขันธ์ 15.เพชรบุรี 16.สมุทรสงคราม 17.สมุทรสาคร 18.ฉะเชิงเทรา 19.ปราจีนบุรี 20.สระแก้ว 21.สมุทรปราการ 22.จันทบุรี 23.ชลบุรี 24.ตราด 25.ระยอง 26.ชุมพร 27.ระนอง และ 28.กรุงเทพฯ 

        ทั้งนี้ สามารถลงทะเบียนเข้ามาตรการช่วยเหลือลูกค้าธนาคารที่เดือดร้อนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ขณะนี้ได้  โดยธนาคารจะพิจารณาให้ลูกค้าสามารถขอพักชำระเงินต้นไว้ก่อน ซึ่งสามารถเลือกจ่ายเฉพาะดอกเบี้ย หรือขอลดการจ่ายดอกเบี้ยบางส่วนได้ แล้วแต่กรณีขึ้นอยู่กับความหนักเบาของผลกระทบที่ได้รับ ซึ่งมาตรการครั้งนี้มีระยะเวลา 3-6 เดือน เริ่มเปิดให้ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.gsb.or.th ตั้งแต่วันที่  8 มกราคม 2564 ที่ผ่านนมา เมื่อลงทะเบียนแล้วจะมีเจ้าหน้าที่ธนาคารจะติดต่อกลับเพื่อดำเนินการในรายละเอียดต่อไป

 ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมที่  www.gsb.or.th 


2. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 

     ธ.ก.ส. ออก 7 มาตรการ พักชำระเงินต้น-ดอกเบี้ย-ชดเชยรายได้ ดังนี้

    1. มาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ในภาพรวม ประกอบด้วยการขยายระยะเวลาชำระหนี้ ลดอัตราดอกเบี้ย ปลอดชำระต้นเงินใน 3 ปีแรก ให้กับลูกหนี้ปกติ และลูกหนี้ NPL ครอบคลุมทั้งเกษตรกรลูกค้า ผู้ประกอบการและสถาบัน ระยะเวลาดำเนินมาตรการ ตั้งแต่วันนี้-31 ธันวาคม 2564 และยังมีสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน (Working Capital) ในการประกอบอาชีพแก่ลูกหนี้เพิ่มเติมเพื่อเสริมสภาพคล่อง

    2. มาตรการพักชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยเงินกู้ทั้งระบบ ที่ถึงกำหนดชำระตั้งแต่งวดเมษายน 2563-มีนาคม 2564 เป็นเวลา 1 ปี โดยอัตโนมัติ และยังคงชั้นหนี้เดิมของลูกค้าก่อนเข้าโครงการฯ ให้กับเกษตรกรลูกค้า ทุกกลุ่ม ทั้งที่เป็นเกษตรกรรายคน บุคคล ผู้ประกอบการ (นิติบุคคล) กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง

 ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.baac.or.th

 3. ธนาคารกรุงเทพ

    บัตรเครดิต

        - ปรับลดอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำมาอยู่ที่ 5% (จากเดิม 10%) จนถึง 31 ธันวาคม 2564 สำหรับผู้ถือบัตรเครดิตธนาคารกรุงเทพทุกประเภท และทุกรายได้รับสิทธิ์อัตโนมัติ โดยไม่ต้องลงทะเบียนขอรับสิทธิ์

        - ปรับลดเพดานดอกเบี้ยมาอยู่ที่ 16% ต่อปี (จากเดิม 18% ต่อปี) มีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2563 สำหรับผู้ถือบัตรเครดิตธนาคารกรุงเทพทุกประเภท และทุกรายได้รับสิทธิ์อัตโนมัติ โดยไม่ต้องลงทะเบียนขอรับสิทธิ์

        - ขยายวงเงินให้แก่ลูกค้าที่มีความจำเป็นและมีประวัติการชำระหนี้ที่ดีมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับลูกค้าที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่ำกว่า 30,000 บาท จาก 1.5 เท่า เป็น 2 เท่า เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันนี้-31 ธันวาคม 2564 (เข้าร่วมโครงการ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 0-2638-4000

    สินเชื่อเงินกู้ที่ผ่อนชำระเป็นงวด (Installment Loan)

        - ปรับลดยอดผ่อนชำระ โดยขยายเวลาการชำระหนี้

    สินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่ออเนกประสงค์ที่ใช้ที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน

        - ผ่อนผันปลอดการชำระเงินต้น (Grace Period)

        - ปรับลดยอดผ่อนชำระ โดยขยายเวลาการชำระหนี้

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.bangkokbank.com

4. ธนาคารกสิกรไทย

    ลูกหนี้รายย่อย

        - สินเชื่อบ้านกสิกรไทยและสินเชื่อที่อยู่อาศัยอื่นที่มีหลักประกัน ผ่อนชำระเฉพาะดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 12 เดือน

        - สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ปรับลดยอดผ่อนชำระรายเดือนสูงสุด 50% ระยะเวลาสูงสุด 12 เดือน และขยายระยะเวลาการผ่อนสูงสุด 6 เดือน โดยรวมสัญญาล่าสุดต้องไม่เกิน 7 ปี

 5.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

        มาตรการช่วยเหลือลูกค้าผู้ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ระยะที่ 2 สำหรับสินเชื่อบ้าน และสินเชื่อส่วนบุคคล

        - พักชำระหนี้เงินต้น สูงสุดไม่เกิน 3 เดือน

        - พักชำระหนี้เงินผ่อนชำระค่างวด สูงสุดไม่เกิน 3 เดือน

        - ปรับลดจำนวนเงินผ่อนชำระค่างวด สูงสุดไม่เกิน 30%

        - เปลี่ยนจากวงเงินหมุนเวียน เป็นผ่อนชำระค่างวด สูงสุดไม่เกิน 48 เดือน (สินเชื่อส่วนบุคคล)

        ทั้งนี้ ต้องไม่เป็นสินเชื่อค้างชำระเกิน 90 วัน ไม่เคยปรับปรุงโครงสร้างหนี้ หรือไม่เป็นสินเชื่อที่อยู่ในกระบวนการทางกฎหมาย ก่อนวันที่ 1 มีนาคม 2563 และต้องเป็นลูกค้าที่มีสินเชื่อกับธนาคารก่อนวันที่ 1 เมษายน 2563

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.kasikornbank.com
 
cr:Pixabay

6.ธนาคารยูโอบี

    บัตรเครดิต

        ปรับลดอัตราผ่อนชำระคืนขั้นต่ำจากเดิม 10% เป็นดังนี้

- ปี 2563-2563 ชำระขั้นต่ำ 5%

- ปี 2565 ชำระขั้นต่ำ 8%

- ปี 2566 ชำระขั้นต่ำ 10% ตามเดิม

    บัตรกดเงินสดแคชพลัส

        ปรับลดอัตราผ่อนชำระคืนขั้นต่ำจากเดิม 5% เป็นดังนี้

- ปี 2563-2565 ชำระขั้นต่ำ 2.5%

- ปี 2566 ชำระขั้นต่ำ 5% ตามเดิม

        ธนาคารปรับอัตโนมัติ โดยลูกค้าไม่ต้องติดต่อธนาคาร

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.uob.co.th

 7. ธนาคารทิสโก้

    สินเชื่อเงินกู้ ประเภทจำนำทะเบียนรถ

- ลดค่างวด 30% ของค่างวดเดิม โดยขยายเวลาการผ่อนชำระ และอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 22% ต่อปี

สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์

- ปรับลดค่างวด โดยขยายเวลาการผ่อนชำระ

    สินเชื่อที่อยู่อาศัย

- เลื่อนการจ่ายเงินต้น 3 เดือน และพิจารณาลดดอกเบี้ยตามความเหมาะสม หรือลดค่างวดโดยขยายเวลาชำระหนี้

        โดยต้องเป็นลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 และ ณ วันที่ 1 มีนาคม 2563 มีสินเชื่อกับธนาคารและไม่ค้างชำระ/ค้างชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยไม่เกินกว่า 90 วัน 

        ลงทะเบียนเพื่อขอเข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือภายในวันที่ 31 มกราคม 2564

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.tisco.co.th

 8.  ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) 

        “โครงการ ธอส. รวมไทย สร้างชาติ ปี 2564” ด้วย 4 มาตรการลดเงินงวดผ่อนชำระ(ตัดเงินต้นและตัดดอกเบี้ย) นานสูงสุด 6 เดือน ครอบคลุมทั้งลูกค้าที่เคยหรืออยู่ระหว่างใช้ “มาตรการช่วยเหลือลูกค้าผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)” และ “โครงการ ธอส. ช่วยคนไทย ร่วมสร้างชาติ” รวมถึงลูกค้าที่ไม่เคยเข้าร่วมมาตรการฯ ทั้งลูกค้ารายย่อยและกลุ่ม SMEs ที่มีสถานะปกติ หรือสถานะ NPL ประกอบด้วย 

        มาตรการที่ 9 สำหรับลูกค้าที่เคยเข้าร่วมหรืออยู่ระหว่างใช้มาตรการช่วยเหลือฯ ของ ธอส.

        มาตรการที่ 10 สำหรับลูกหนี้สถานะ NPL และลูกหนี้สถานะ NPL ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ 

        มาตรการที่ 11 สำหรับลูกค้าที่ไม่เคยเข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือฯ ของ ธอส. 

        มาตรการที่ 12 สำหรับลูกค้าผู้ประกอบการ SMEs สินเชื่อประเภทแฟลต แบ่งเป็น 1.ได้ลดเงินงวดผ่อนชำระ(ตัดเงินต้นและตัดดอกเบี้ย) หรือ 2.พักชำระหนี้ถึงมิถุนายน 2564 ในกรณีที่ได้รับผลกระทบทำให้รายได้ไม่เพียงพอในการชำระหนี้ ยื่นคำขอเข้ามาตรการระยะแรกได้ที่สาขาทั่วประเทศภายในวันที่ 31 มีนาคม 2564



ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธอส. ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือ ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (Call Center) โทร 0-2645-9000 และ Facebook Fanpage
ธนาคารอาคารสงเคราะห์

            

เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ข่าวที่เกี่ยวข้อง