รีเซต

"นโยบายเงินผัน" การกระตุ้นเศรษฐกิจที่ไม่ถึงฝัน ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ “นายก ฯ คนที่ 13” | Chronicles

"นโยบายเงินผัน" การกระตุ้นเศรษฐกิจที่ไม่ถึงฝัน ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ “นายก ฯ คนที่ 13” | Chronicles
TNN ช่อง16
24 สิงหาคม 2567 ( 12:09 )
24




การประกาศนโยบายของ “แพรทองธาร ชินวัตร” เรื่อง “การเติมเงินหนึ่งหมื่นบาท” เข้ากระเป๋าเงินประชาชน หากใครติดตามการเมืองมาเกิน 20 ปี ย่อมเข้าใจได้ในทันทีว่ามีกลิ่นอายนโยบายของ “ทักษิณ ชินวัตร” ที่เน้นการอัดฉีดเงินไปหาประชาชนโดยตรง อาทิ การประกันราคาสินค้าเกษตร กองทุนหมู่บ้าน หรือ OTOP


แนวนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในรูปแบบนี้ทักษิณไม่ได้เป็นผู้คิดค้นเป็นคนแรก เพราะหากย้อนไปในประวัติศาสตร์การเมืองไทย จะพบว่า เคยมีการผลักดันนโยบายที่มีเป้าหมายในการกระตุ้นเศรษฐกิจไปยังพื้นที่ชนบท ภายใต้ชื่อ "โครงการเงินผัน" ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช แต่นโยบายนี้กลับไปไม่ถึงฝัน และ ไม่ได้รับการจดจำในสังคมไทย  


เมื่อ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (พ.ศ. 2518 - 2519) เขาได้ทำตามพันธกิจของพรรคกิจสังคม ที่ต้องการช่วยเหลือผู้ยากไร้ในชนบทที่ในแต่ละปีทางการได้จัดสรรงบประมาณให้ในระดับที่ต่ำอย่างมาก วิธีการแก้ไขจึงต้องอัดฉีดเงินไปยังชนบทโดยตรงในปริมาณมาก ไม่ต้องผ่านงบประมาณจากข้าราชการ โดยสั่งให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินต่าง ๆ “ลดหรือตรึงดอกเบี้ยเงินกู้” เฉพาะพื้นที่ชนบท รวมถึงผ่านกฏหมายในสภาฯเพื่อบังคับให้ธนาคารต่าง ๆ ผันเงิน ดังที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เคยกล่าวว่า


… เป็นที่ทราบกันดีอยู่ว่า ชาวไร่ชาวนาของเราส่วนใหญ่กำลังทุกข์ยากด้วยเหตุที่การเพาะปลูกได้ผลน้อย เพราะขาดน้ำบ้าง เพราะน้ำท่วมบ้าง ศัตรูพืชก็รังควาญมาก ยิ่งหนี้สินด้วยแล้ว ส่วนมากก็มีท่วมท้นล้นตัวทีเดียว แผนปฏิบัติการรีบด่วนของรัฐบาลชุดนี้จึงอยู่ที่ช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้นทันที เพื่อจะไปบรรเทาความทุกข์ยากของชาวไร่ ชาวนา ลงอย่างฉับพลัน กล่าวคือ จะจัดสรรเงินงบประมาณมอบหมายให้สภาตำบลใช้จ้างแรงงานท้องถิ่นขุดคูคลอง ทำฝายเก็บน้ำ เป็นต้น ทั้งนี้โดยกำหนดจุดมุ่งหมายไว้ว่าบริเวณซึ่งกำลังเดือดร้อน เพราะถูกภัยธรรมชาติ เช่น เขตอีสาน ภาคใต้ และที่ราบภาคกลาง จะเป็นเขตที่ได้รับความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์พิเศษ ปริมาณเงินที่รัฐบาลจะจัดสรรให้เพื่อการนี้ จะไม่น้อยกว่า '2,500 ล้านบาท และจะจัดสรรให้ทันทีเพื่อให้ทันใช้ในช่วงก่อนถึงฤดูกาลทำไร่ทำนา ซึ่งเป็นระยะที่ชาวไรชาวนากำลังว่างงาน … 


สาระสำคัญของโครงการผันเงิน คือ ทางการไม่ต้องไปชี้นิ้วสั่ง หรือ กำหนดให้ชาวชนบททำอะไร แต่จะต้องปล่อยให้พวกเขานำเงินที่จัดสรรให้นี้ไปบริหารจัดการกันเอง เงินที่ส่วนกลางผันไปสู่ชนบทย่อมจะเอื้ออำนวยประโยชน์ให้ประชาชนในชนบทได้มีโอกาสนำไปใช้จ่ายสร้างสิ่งสาธารณูปโภคที่ขาดแคลน ชุมชนก็จะเข้มแข็ง และสามารถพึ่งพาตนเองได้


นอกจากนี้ นโยบายเงินผันสู่ชนบทยังเป็นเครื่องมือในการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมระหว่างสังคมเมืองกับชนบท และมุ่งหวังให้ประชากรทุกภาคส่วนได้รับผลของการพัฒนาอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งมีนัยยะของการ “ต่อต้านคอมมิวนิสต์” ที่กำลังระบาดหนักในยุคนั้น โดยเชื่อว่าหากประชาชนอยู่ดีกินดี ก็จะเลิกคิดเป็นคอมมิวนิสต์ปลดแอกตนเอง รัฐบาลก็ไม่ต้องมากังวลเรื่องความมั่นคงจากภัยคอมมิวนิสต์ที่กำลังโอบล้อมประเทศไทย


แต่ทุกอย่างก็ต้องสิ้นสุดลง เพราะรัฐบาลคึกฤทธิ์ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจว่าใช้นโยบายนี้เพื่อ “ซื้อเสียง” ประชาชนเพื่อให้ได้รับเลือกตั้งต่อไปอย่างยาวนาน หรือภาษาในปัจจุบันจะเรียกว่า “นโยบายประชานิยม” โดยไม่ได้คำนึงถึงผลเสียทางเศรษฐกิจที่จะตามมา หากประเทศต้องไปเป็นหนี้กู้เงินเพื่อนำมาผันให้แก่ชนบท ซึ่งก็จะกลับมาเป็นหนี้สาธารณะต่อหัวประชาชนอีกทอดหนึ่ง และยังเป็นการบั่นทอนความเข้มแข็งของสถาบันการเงินที่อาจจะลดลงจนล้มละลายได้


ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พ.ศ. 2519 ของพรรคฝ่ายค้าน (ประชาธิปัตย์) ได้โจมตีนโยบายเงินผันอย่างหนัก จนในที่สุด ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ได้ประกาศยุบสภาฯ เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2519 ก่อนที่นโยบายนี้จะหายไปตามกาลเวลา และกลับมาอีกครั้งแบบ “เหล้าเก่าในขวดใหม่” ในยุครัฐบาลไทยรักไทยที่นำโดย ทักษิณ ชินวัตร  


Chronicles by วิศรุต หล่าสกุล


แหล่งอ้างอิง


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง