แบรนด์ "HAROY" เขย่าตลาดไก่ทอดไทย ขอชิงเค้ก 30,000 ล้านบาท l การตลาดเงินล้าน

คุณมอส หรือคุณ จรรยธร บิลพัฒน์ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ HAROY (ฮาโร่ย) บอกว่า ตลาดไก่ทอด เป็นตลาดที่มีศักยภาพ และเติบโตขึ้นต่อเนื่อง เห็นได้จากแอปดีลิเวอรี จะมีหมวดหมู่ที่เป็นไก่ทอดโดยเฉพาะ ขณะเดียวกัน ไก่ทอด ก็เป็นอาหารที่สามารถกินได้ทุกโอกาส และกินได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกศาสนา และทุกชนชาติ อีกด้วย
เธอบอกด้วยว่า ตัวเองเป็นคนสงขลาที่เข้ามาเรียนในกรุงเทพ แต่ไม่สามารถหาไก่ทอดหาดใหญ่ที่เหมือนกับสูตรต้นตำรับกินได้เลย จึงคิดว่า ไก่ทอดหาดใหญ่ นี่แหละ น่าจะสามารถเข้าไปเติมช่องว่างในตลาดที่มีการแข่งขันสูงอยู่นี้ได้ โดยนำสูตรที่เป็นต้นตำรับจากครอบครัวของหุ้นส่วนอีกราย มาพัฒนา และต่อยอด
ซึ่งเอกลักษณ์ของไก่ทอดหาดใหญ่ก็คือ คลุกแป้งน้อย แต่กรอบ เนื้อไก่มีความความฉ่ำด้วยการใช้ไก่สด และด้วยกรรมวิธีในการทอด และมีรสชาติเค็ม นัว จากการหมัก นอกจากนี้ ต้องมีหอมเจียว และน้ำจิ้ม ที่เป็นสูตรจากสงขลา
นอกจากไก่ทอด ข้าวเหนียว และน้ำจิ้มแล้ว สิ่งที่แบรนด์ ฮาโร่ย ทำต่างจากทั่วไป ก็คือ การสร้างสรรค์เมนู "เหนียวไก่แร็ป" (ไก่ทอดหั่นเป็นชิ้นเล็ก ราดน้ำจิ้มห่อด้วยข้าวเหนียว) ทำให้แบรนด์ แม้จะเพิ่งเปิดตัวได้ไม่กี่เดือน แต่ก็เป็นที่รู้จักมากขึ้นในกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนทำงานออฟฟิศ ซึ่งส่วนใหญ่คนทำงานออฟฟิศจะมีเวลาน้อย การกินเหนียวไก่แร็ป ก็จะช่วยประหยัดเวลาได้มาก นอกจากนี้ เหนียวไก่แร็ป ยังเหมาะสำหรับบริการ แคเตอริง อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การทำธุรกิจอาหารในปัจจุบัน แม้การเริ่มต้นกิจการจะสามารถทำได้ง่าย แต่การจะอยู่รอดกลับทำได้ยาก ซึ่งเจ้าของร้านไก่ทอด ฮาโร่ย บอกว่า การจะอยู่รอดได้ คงไม่ใช่แค่ทำร้านอาหารแบบทั่วไป แต่จะต้องทำเป็น โซเชียล ฟู้ด (Social Food) ด้วย
นั่นหมายถึง จะทำอย่างไรให้ลูกค้าอยากจะถ่ายรูป และเมื่อจะถ่ายรูปอาหาร อาหาร ก็จะต้องขึ้นกล้องด้วย ภาพที่ออกมาแล้วโพสต์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ จะต้องดูแล้วน่ากิน และไม่ใช่แค่ตัวโพรดัสก์ที่เป็นอาหารเท่านั้น แพ็คเกจจิ้ง ก็สำคัญ ที่จะช่วยเสริมให้ภาพออกมาแล้วขึ้นกล้อง รวมถึงบรรยากาศภายในร้านเอง ก็ถูกออกแบบมา เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกว่า บรรยากาศของร้านนี้คุ้มค่าที่จะโพสต์ในโซเชียลของลูกค้าเอง
และเมื่อถามถึงเป้าหมายธุรกิจในอนาคต คุณมอส บอกว่าอยากผลักดันไก่ทอดหาดใหญ่ ที่เป็นอาหารของท้องถิ่นไทยไปสู่โลก แต่สำหรับแผนระยะ 3 ปี ตั้งเป้ายอดขายในปีที่ 3 ไว้ที่ 500 ล้านบาท
เธอเล่าว่า ช่วงแรกเริ่ม มีการเปิดสาขาทดลองตลาดที่ย่านบรรทัดทองก่อน จากนั้นก็เปิดร้านแบบถาวรที่ย่านบรรทัดทองเช่นกัน ซึ่งมองว่า ย่านนี้ เป็นทำเลที่มีศักยภาพในการเติบโต
ส่วนการขยายสาขาต่อไปนั้น ก่อนจะเปิดสาขาใหม่ จะออกไปเปิดร้านแบบคีออสก่อน และหากเห็นว่าไปได้ก็จะเปิดเป็นสาขาถาวรต่อไป โดยปีแรกนี้ ตั้งเป้าจะขยายสาขา 10 แห่ง และมีเป้ายอดขายที่ 50 ล้านบาท ส่วนปีที่ 2 จะมี 30 สาขา และมียอดขายเพิ่มขึ้น 150 ล้านบาท
และปีที่ 3 จะเป็นปีที่ทางแบรนด์มีความพร้อมด้านโอเปอเรชันทั้งหมด จึงวางแผนที่จะขยายสาขาออกไปต่างจังหวัด และจะมีสาขาในต่างประเทศด้วย โดยมีเป้าหมายยอดขายที่ 500 ล้านบาท และการที่มั่นใจจะออกไปต่างประเทศนั้น ก็เนื่องจากว่าปัจจุบันมีผู้ติดต่อเพื่อเปิดสาขาในต่างประเทศแล้ว แต่ทางเราอยากทำให้ทุกอย่างนิ่งก่อน ซึ่งคิดว่าในปีที่ 3 ทุกอย่างก็น่าจะพร้อมแล้ว
ไปสำรวจภาพรวมของตลาดไก่ทอดไทย มีคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดอยู่ที่กว่า 27,600 หรือเกือบ 30,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มธุรกิจบริการด่วน หรือ QSR ด้วยสัดส่วนราวร้อยละ 58
แบรนด์ยักษ์ใหญ่ คือ KFC ครองส่วนแบ่งตลาดมากกว่าร้อยละ 52 ซึ่งการขยายตลาดในไทยนั้น อยู่ภายใต้การบริหารของ 3 บริษัท และมีสาขารวมกันมากกว่า 1,000 สาขาทั่วประเทศ ได้แก่ บริษัท เดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย จำกัด (QSA) ในเครือไทยเบฟ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) ในเครือเซ็นทรัล และ บริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (RD)
อีกเชนยักษ์ใหญ่อย่าง แมคโดนัลด์ ก็เร่งผลักดันโพรดักส์ไก่ทอด เพื่อชิงส่วนแบ่งตลาดนี้ด้วยเช่นกัน
ขณะเดียวกัน ยังมีแบรนด์ไก่ทอดจากเกาหลีใต้ และ จีน เข้ามาชิงส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อาทิเช่น
บอนชอน (BonChon) ที่ปัจจุบันอยู่ภายใต้การบริหารของกลุ่ม ไมเนอร์ ฟู้ด
ยังมี ชุงมัน ชิคเค่น (Choongman Chicken) เข้ามาเปิดสาขาแรกในไทยเมื่อปี 2563
บีเอชซี ชิกเก้น (BHC Chicken) ซึ่งมาเปิดสาขาแรกในไทยเมื่อต้นปี 2567 ที่ผ่าน
กูร์กูร์ ชิกเก้น (GUGU Chicken) เป็นร้านไก่ทอดเกาหลี ที่เริ่มก่อตั้งธุรกิจและก่อตั้งแบรนด์ในไทย ตั้งแต่ปี 2563 โดยชาวเกาหลีใต้
พูราดัก (PURADAK) เข้ามาเปิดสาขาแรกในย่านบรรทัดทอง จากนั้นก็ขยายสาขาในห้างมากขึ้น
เพลิคาน่า (Pelicana) แบรนด์ร้านไก่ทอดเก่าแก่จากเกาหลีใต้ ที่เข้ามาขยายตลาดในไทยเมื่อไม่นานมานี้
ส่วน เจิ้งซิน ชิคเก้น สเต็ก (Zhengxin Chicken Steak) เป็นร้านไก่ทอดสัญชาติจีนที่มีสาขามากกว่า 20,000 สาขา และปัจจุบันเข้ามาขยายสาขาในไทยพร้อมๆ กับร้านอาหารแบรนด์จีนรายอื่นๆ
และแบรนด์น้องใหม่สัญชาติไทย ฮาโร่ย (HAROY) ไก่ทอดหาดใหญ่ที่เป็นสไตล์หาดใหญ่แท้
ล่าสุด “ไก่ทอด Joe Wings” แบรนด์น้องใหม่จากบ้านโอ้กะจู๋
อย่างไรก็ตาม การรุกตลาดไก่ทอดในไทย ที่มีแบรนด์ใหญ่ครองตลาดเกินครึ่ง ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เห็นได้จากแบรนด์ที่ถอดใจออกจากตลาดไปเมื่อสิ้นเดือนกันยายนปีที่แล้ว (2567) ก็คือ เท็กซัส ชิกเกน (Texas Chicken) หลังจากอยู่ในไทยมานานถึง 9 ปี
แต่การเติบโตต่อเนื่องของตลาด ก็ยังจูงใจแบรนด์น้องใหม่เข้ามาเพิ่มขึ้น และนั่นทำให้การแข่งขัน ดูจะเข้มข้นมากขึ้นเรื่อย ๆ