รีเซต

‘แท็กซี่ทางเลือก’ กับการปรับตัวของ ‘ป้ายเหลือง’

‘แท็กซี่ทางเลือก’ กับการปรับตัวของ ‘ป้ายเหลือง’
มติชน
31 พฤษภาคม 2564 ( 07:24 )
58
‘แท็กซี่ทางเลือก’ กับการปรับตัวของ ‘ป้ายเหลือง’

 

นโยบายของกระทรวงคมนาคม โดย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กำลังเดินหน้าเต็มตัวกับการเพิ่มทางเลือกบริการรถโดยสารสาธารณะ โดยเฉพาะผู้ใช้บริการแท็กซี่

 

 

ล่าสุด ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผานมา มีมติเห็นชอบในหลักการร่างกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. …. เพื่อเพิ่มทางเลือกในการใช้บริการให้กับประชาชนแล้ว

 

 

ขณะนี้อยู่ระหว่างยกร่างกฎกระทรวงดังกล่าว ออกประกาศระเบียบหลักเกณฑ์โดยกรมการขนส่งทางบก คาดว่าบริการแท็กซี่ทางเลือกนี้จะเกิดขึ้นในไตรมาส 3 ปีนี้

 

 

หลักเกณฑ์คร่าวๆ สำหรับเจ้าของรถยนต์ ที่สนใจเข้ามาให้บริการผู้โดยสาร -รถยนต์ที่นำมาบริการต้องมีอายุการใช้งานได้ไม่เกิน 7 ปี -แบ่งรถเป็น 3 ประเภท ได้แก่ รถขนาดเล็ก (เครื่องยนต์ 50-90 KW) ตัวอย่าง นิสสัน มาร์ช, โตโยต้า วีออส, หรือ มิตซูบิชิ มิราจ เป็นต้น

 

 

รถขนาดกลาง (เครื่องยนต์ (90-120KW)) อาทิ โตโยต้า อัลติส, ฮอนด้า ซีวิค รถขนาดใหญ่ (เครื่องยนต์มากกว่า 120KW) อาทิ ฮอนด้า แอคคอร์ด, โตโยต้า เฟอร์จูนเนอร์ -ต้องทำประกันภัยเพิ่มเติมเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพผู้โดยสาร -คิดเครื่องแสดงการใช้แอพพลิเคชั่นที่ให้บริการคนขับ

 

 

ขณะที่ผู้ขับขี่ต้องมีใบขับขี่สาธารณะ ผ่านการตรวจสอบประวัติอาชญากรรม ใช้แอพ พลิเคชั่นของผู้ให้บริการที่ผ่านการรับรองจากกรมการขนส่งทางบก ส่วนคุณสมบัติของผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่น -เป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย -มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท -มีสถานที่ประกอบการในไทย -มีความพร้อมให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง

 

 

เชื่อได้ว่าผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นดิลิเวอรีปัจจุบัน อาทิ แกร็บแท็กซี่ ไลน์แมน ฟู้ดแพนด้า จะต้องลงมาร่วมเป็นผู้เล่นอย่างแน่นอน แน่นอนการเพิ่มทางเลือกดังกล่าว ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและคนขับแท็กซี่ปัจจบุัน ที่จะต้องถูกผู้แชร์ลูกค้า รายได้อาจลดลง ขณะเดียวกันก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงนี้

 

 

 

“ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม ระบุถึงร่างกฎกระทรวงดังกล่าวว่า จะเป็นการเพิ่มทางเลือกในการใช้บริการให้กับประชาชน เรื่องนี้ไม่ถือเป็นเรื่องใหม่ เพราะหลายประเทศดำเนินการแล้ว ในหลายรูปแบบ อาทิ แกร็บ โกเจ็ก และอูเบอร์ ผู้ใช้บริการสามารถรู้ข้อมูลราคาที่แน่ชัด ข้อมูลรถและคนขับได้อย่างชัดเจนก่อนใช้บริการ

ขณะนี้เลขาธิการ ครม.จะส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา คาดว่าจะใช้เวลายกร่างกฎกระทรวงไม่เกินต้นกรกฎาคมนี้

การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้จะไม่มีผลกระทบรุนแรง เนื่องจากผู้ขับแท็กซี่เดิมได้เปรียบตรงที่ไม่ต้องไปทำใบขับขี่รถสาธารณะใหม่ นอกจากนี้ ยังสามารถติดตั้งโฆษณาบนตัวรถเพื่อเพิ่ม รายได้อีกด้วย ซึ่งรถส่วนบุคคลยังไม่ได้รับอนุญาตในส่วนนี้ จึงอยากให้ผู้ให้บริการรถสาธารณะในปัจจุบันเปิดใจรับสิ่งใหม่ๆ ด้วย

ขณะที่ในฟากผู้ขับแท็กซี่ที่จะได้รับผล กระทบโดยตรง วิฑูรย์ แนวพานิช นายกสมาคมการค้าเครือข่ายแท็กซี่ไทย กล่าวว่า การที่ภาครัฐได้ยกเลิกแท็กซี่ โอเค เนื่องจากไม่ประสบความสำเร็จ เพราะแอพพ์ดังกล่าวรัฐซื้อมาแต่ตัวโปรแกรม แต่ไม่พัฒนาระบบให้ตรงต่อความต้องการของทั้งคนขับและผู้โดยสาร

ปัญหาที่เจอในตอนนั้นคือ เมื่อผู้โดยสารเรียกใช้แท็กซี่ผ่านแอพพลิเคชั่น แท็กซี่ โอเคแล้ว ทั้งผู้ขับและผู้โดยสารไม่ทราบตำแหน่งของกันและกัน ทำให้เกิดความล่าช้าในการเดินทางและการให้บริการ แท็กซี่ส่วนใหญ่จึงไม่นิยมใช้ เมื่อ จะเปลี่ยนมาให้ใช้แอพพลิเคชั่นใหม่แทนแท็กซี่โอเคเดิมก็พร้อมที่จะทดลอง แต่อยากให้รับฟังเสียงจากผู้ใช้จริง คือกลุ่มคนขับแท็กซี่ก่อน เพราะตอนนี้ยังไม่มีการเรียกเข้าไปขอความคิดเห็นใดๆ คาดว่าอาจจะอยู่ในช่วงของการพัฒนาแอพพลิเคชั่น แต่ถ้ากรมการขนส่งทางบกสามารถพัฒนาระบบที่ประสิทธิภาพพอก็พร้อมที่จะเข้าไปร่วมใช้แน่นอน

 

 

ส่วนเรื่องผลกระทบจากการที่อนุญาตให้รถป้ายดำเข้าร่วมแอพพลิเคชั่นใหม่ที่กำลังจะเกิดนี้ได้นั้น มองว่าไม่มีผลกระทบ เนื่องจากในปัจจุบันได้มีการแบ่งกันชัดเจนอยู่แล้วว่า ผู้ขับรถป้ายดำจะให้บริการอยู่ในแอพพ์ แกร็บ ส่วนผู้ขับรถแท็กซี่จะให้บริการอยู่ในแอพพ์ไลน์แมน

 

 

ซึ่งการที่จะดึงกลุ่มป้ายดำเข้าร่วมแอพพ์ใหม่ ดังกล่าวก็อาจจะไม่ได้ง่ายดายขนาดนั้น เพราะมีหลายขั้นตอน เช่น ต้องมีใบขับขี่รถสาธารณะ แต่ก็ถือเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชน อย่างไรก็ตาม ต้องดูก่อนว่าแอพพ์ที่จะออกมานี้จะมีประสิทธิภาพมากกว่าแอพพ์ที่มีอยู่หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้กระทรวงคมนาคมจะอยู่ระหว่างจัดทำแอพพลิเคชั่นออกมา เพื่อแบ่งเบาภาระผู้ขับแท็กซี่ ในส่วนของผู้ให้บริการแท็กซี่เองก็มีการปรับตัวอยู่เสมอ

 

 

ซึ่งในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้จำนวนผู้ขับรถแท็กซี่ลดลงจาก 8 หมื่นคน เหลือ 3 หมื่นคน ซึ่งจำนวนที่เหลืออยู่นี้ล้วนเข้าร่วมแอพพ์ไลน์แมนทั้งสิ้น เพื่อตอบโจทย์กับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้ใช้บริการ

 

 

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเปิดให้รถยนต์ส่วนบุคคลมาวิ่งให้บริการถือเป็นการซ้ำเติมแท็กซี่เดิม ทำให้รายได้ลดลงจากจำนวนรถให้บริการที่เพิ่มขึ้น เพราะมีผู้ที่ตกงานหันมาขับหารายได้ รวมทั้งลูกค้าก็น้อยลงจากการลดการเดินทาง การแข่งขันที่สูงขึ้นแท็กซี่ก็ต้องปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ หากประชาชนตอบรับ และนิยมให้รถยนต์ส่วนบุคคลมากกว่า ก็เป็นไปได้ที่จำนวนรถแท็กซี่ในระบบจะลดลงจนไม่มีอยู่ และอาจกระทบผู้โดยสารที่ไม่คุ้นชินกับการเรียกรถผ่านทางแอพพลิเคชั่นได้เช่นกัน

 

 

แท็กซี่คงต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น และต้องปรับตัวเพื่อจะอยู่รอดในอาชีพนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง