กทม.ชี้แจงเหตุผล ปรับค่าโดยสาร "รถไฟฟ้าสายสีเขียว" ตลอดสายไม่เกิน 104 บ.
จากกรณีที่ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงนามในประกาศเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวตามโครงสร้างราคาใหม่ หลังจากกทม.ให้ประชาชนใช้บริการฟรีส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ จะสิ้นสุดวันที่ 15 ม.ค.นี้ ซึ่งกทม.จะต้องติดประกาศราคาใหม่ล่วงหน้า 30 วัน จะเริ่มเก็บราคาใหม่ในวันที่ 16 ก.พ.64 โดยในระหว่าง 1 เดือนนี้ จะให้ประชาชนใช้ฟรีไปก่อนนั้น
ล่าสุด วันนี้ (16 ม.ค.64) สำนักงานประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร ได้ออกเอกสารชี้แจงของกรุงเทพมหานครต่อการปรับอัตราค่าโดยสารของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งหมด รวมทั้ง วิธีการคิดคำนวนราคา โดยมีรายละเอียดระบุว่า
สืบเนื่องจากการเปิดให้บริการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงแบริง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ที่ทยอยเปิดให้บริการเดินรถตั้งแต่ วันที่ 3 เม.ย.61 และเปิดให้บริการเดินรถ เต็มทั้งระบบ ในวันที่ 16 ธ.ค.63 โดยในช่วงทดลองให้บริการซึ่งยังไม่มีการเดินรถเต็มรูปแบบ ไม่มีการเรียกเก็บค่าโดยสารจากผู้ใช้บริการเป็นระยะเวลาเกือบ 3 ปีมาแล้ว เนื่องจาก กทม. ต้องการลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน
บัดนี้ เมื่อมีการเปิดให้บริการเดินรถเต็มทั้งระบบแล้ว ประกอบกับ กทม. มีภาระค่าใช้จ่ายในการเดิน รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย จึงมีความจําเป็นที่จะต้องเริ่มเรียกเก็บค่าโดยสารจากผู้ใช้บริการในส่วนต่อขยาย สายสีเขียว ตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ.64
โดยผู้ใช้บริการในส่วนหลัก ช่วงหมอชิต-อ่อนนุช จะไม่ได้รับผลกระทบ ยังคงเสียค่าโดยสารในอัตราเดิม และจะไม่มีการเรียกเก็บค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนกันระหว่างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนหลัก (หมอชิต-อ่อนนุช และสะพานตากสิน-สนามกีฬาแห่งชาติ) และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย (ช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า และอ่อนนุช-แบริ่ง และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) โดยประชาชนจะจ่ายค่าแรกเข้าสําหรับการใช้บริการโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเพียงครั้งเดียวต่อรอบ ปรากฏ ตามตารางด้านล่างนี้
ทั้งนี้ อัตราค่าโดยสารของโครงการสายสีเขียวสูงสุดตลอดสายจะอยู่ที่ 158 บาท แต่เพื่อบรรเทาผลกระทบ ที่เกิดขึ้นกับประชาชนภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 กทม. จะปรับอัตราค่าโดยสารสูงสุดตลอดสาย อยู่ที่ 104 บาท ซึ่ง กทม. จะมีผลขาดทุนจากการดําเนินการส่วนต่อขยายประมาณปีละ 3,000-4,000 ล้านบาท เมื่อนับรวมตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปี 2572 จะมีผลขาดทุนถึงประมาณ 30,000-40,000 ล้านบาท รายละเอียด ปรากฏตามตารางเปรียบเทียบด้านล่างนี้
ตลอดเวลาที่ผ่านมา กทม. ได้ตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนจากการปรับอัตราค่าโดยสาร ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดย กทม. ได้พยายามหาทางแก้ไข รวมถึงศึกษาแนวทางการดําเนินการต่างๆ ซึ่ง กทม. เห็นว่าแนวทางการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (Public-Private Partnership: PPP) เป็นแนวทาง ที่เหมาะสมและดีที่สุดในการที่จะมาแก้ปัญหาของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว
โดยจะให้เอกชนเข้ามารับภาระหนี้สิน ของ กทม. เพื่อที่จะทําให้ กทม. สามารถกําหนดอัตราค่าโดยสารที่ไม่เป็นภาระต่อประชาชนจนเกินสมควร และ จะทําให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณะที่ปลอดภัย สะดวก และมีประสิทธิภาพอยู่เหมือนเดิม
โดยในปัจจุบันนี้ กทม. อยู่ระหว่างการนําเสนอแก้ไขสัญญาสัมปทานต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ซึ่งหากมีการ เห็นชอบแล้ว การแก้ไขสัญญาสัมปทานนี้จะช่วยลดอัตราค่าโดยสารสูงสุดจาก 100 บาท เป็น 65 บาท ลดลง 39 บาท และแก้ไขภาระหนี้สินกว่า 120,000 ล้านบาทของ กทม. ได้ ซึ่งประกอบด้วย
- ภาระหนี้สินเดิมที่เกิดขึ้นจากการรับโอน โครงการส่วนต่อขยายที่ 2 ทั้งในส่วนเงินต้นค่างานโยธาที่ประมาณ 55,000 ล้านบาท
- ภาระดอกเบี้ยในอนาคต อีกประมาณ 10,000 ล้านบาท
- ค่าลงทุนในงานระบบ (E&M) ในส่วนต่อขยายที่ 2 ประมาณ 20,000 ล้านบาท
- ภาระหนี้ค่าจ้างงานเดินรถค้างจํายอีกประมาณ 9,000 ล้านบาท
- ภาระผลขาดทุนจากการดําเนินการส่วนต่อขยาย ตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปี 2572 รวมอีกประมาณ 30,000-40,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ เอกชนยังต้องแบ่งส่วนแบ่งรายได้ ค่าโดยสารหลังปี 2572 ให้ กทม. อีกกว่า 200,000 ล้านบาท และมีส่วนแบ่งเพิ่มเติมในกรณีที่ผลประกอบการจริง ดีกว่าที่คาดการณ์ตอนเจรจา
กทม. ยืนยันว่า ภายใต้อํานาจของ กทม. จะพยายามแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวอย่างดีที่สุด เพื่อให้ลดผลกระทบและความเดือดร้อนของประชาชนให้ได้มากที่สุด โดย กทม. จะอธิบายถึงเหตุผลความจําเป็น และประโยชน์ที่จะได้รับจากการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนต่อรัฐบาล เพื่อที่จะให้สามารถปรับอัตราค่าโดยสาร ให้ค่าโดยสารของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวตลอดสายลดลงมาเหลือ 65 บาทโดยเร็วที่สุด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รถไฟฟ้าบีทีเอส เผยความ(ไม่)ลับเปิดบริการ 21 ปี วิ่งมาแล้ว 3,500 ล้านเที่ยว
รถไฟฟ้าบีทีเอส ยืนยันไม่ใช่เรื่องจริง ค่าโดยสารแพงถึง 158 บาท
รถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีเขียว เปิด 7 สถานีใหม่ วิ่งยาวถึงคูคต 16 ธ.ค. เริ่มบ่ายโมง
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE