รีเซต

สธ. เตรียม 4 มาตรการรองรับขนย้าย "กากแคดเมียม" กลับจังหวัดตาก

สธ. เตรียม 4 มาตรการรองรับขนย้าย "กากแคดเมียม" กลับจังหวัดตาก
TNN ช่อง16
6 เมษายน 2567 ( 15:17 )
37

กระทรวงสาธารณสุข ติดตามเฝ้าระวังผลกระทบสุขภาพและสิ่งแวดล้อม รองรับการขนย้าย "กากแคดเมียม" จากสมุทรสาคร กลับจังหวัดตาก เผย เหมืองต้นทางและสถานที่พักแร่ปิดทำการไปแล้วตั้งแต่ปี 2560 แต่หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่มีการเฝ้าระวังต่อเนื่อง 


วันนี้ (6 เมษายน 2567) นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงความคืบหน้าการเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพจากกรณีพบการลักลอบเก็บสะสมกากแคดเมียมและสังกะสีจำนวนมากในโรงงานจังหวัดสมุทรสาคร ว่า ล่าสุด ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครได้สั่งการให้ขนย้ายกากแคดเมียมและสังกะสีทั้งหมดกลับไปยังบริษัทต้นทางที่จังหวัดตาก เพื่อกำจัดให้ถูกต้อง รวมถึงห้ามหล่อหลอมแคดเมียมในโรงงานจนทำให้เกิดฝุ่นหรือฟูมโลหะหนักในอากาศที่ส่งผลต่อประชาชนโดยรอบ 


พร้อมทั้งให้หน่วยงานรับผิดชอบตามกฎหมายเข้าควบคุม กำกับ การจัดการให้ถูกต้องตามมาตรฐาน โดยในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายให้กองสาธารณสุขฉุกเฉิน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค และกรมอนามัย ติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง


นพ.สุรโชค กล่าวต่อว่า สำหรับเหมืองต้นทางในจังหวัดตาก ซึ่งเป็นเหมืองสังกะสีที่พบแคดเมียมอยู่ด้วย ทราบจากนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตาก ว่าหยุดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 แต่ยังคงเฝ้าระวังโรคที่เกิดจากแคดเมียม เช่น โรคอิไตอิไต มาอย่างต่อเนื่อง ส่วนสถานที่พักแร่ก่อนนำส่งมายังจังหวัดสมุทรสาคร ไม่มีการดำเนินการแล้วเช่นกัน 


ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 3 และ 4 เมษายน ที่ผ่านมา กรมอนามัย และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตาก ได้ร่วมประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อเตรียมการรับการขนย้ายกากแร่ โดยในด้านสาธารณสุขดำเนินการ ดังนี้ 


1.กำหนดมาตรการและแผนการเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพ และตรวจคัดกรองความเสี่ยงประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากการขุด การทุบ กากแคดเมียมและสังกะสี ซึ่งก่อให้เกิดฝุ่นละอองที่อาจส่งผลระยะยาวกับประชาชนโดยรอบพื้นที่ 


2.มีการเฝ้าระวังด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมในชุมชนโดยรอบ เน้นการตรวจวิเคราะห์สารแคดเมียมและสังกะสีปนเปื้อนน้ำอุปโภคบริโภค น้ำประปาชุมชน หรือประปาหมู่บ้าน รวมทั้งเก็บตัวอย่างอาหาร พืชผักที่จำหน่ายในตลาดเพื่อเฝ้าระวังการปนเปื้อนในแหล่งอาหาร 


3.โรงพยาบาล และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล แจ้งรายงานผู้ป่วยที่สงสัยได้รับผลกระทบจากการขุด ทุบ ขนกากแคดเมียมและสังกะสี พร้อมเฝ้าระวังผลกระทบสุภาพประชาชนในพื้นที่รอบที่ฝังกลบกากแคดเมียมและสังกะสี


4.เตรียมการสื่อสารความเสี่ยงสุขภาพประชาชน และการสังเกตความผิดปกติของอาหารและน้ำที่รับประทานเป็นประจำ รวมถึงการแจ้งให้หลีกเลี่ยงการใช้น้ำหรือกินอาหารกรณีที่พบการปนเปื้อน เพื่อลดความเสี่ยงสุขภาพได้อย่างรวดเร็ว




ที่มา กระทรวงสาธารณสุข 

ภาพจาก สธ./Getty Images

ข่าวที่เกี่ยวข้อง