กองทัพสหรัฐฯ ลงนามอาวุธยิงคลื่นไมโครเวฟต่อสู้กับฝูงโดรน
กองทัพสหรัฐอเมริกาลงนามข้อตกลงร่วมกับบริษัท เอพรีอุส (Eprius) มูลค่า 66.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2,170 ล้านบาท พัฒนาระบบอาวุธยิงคลื่นไมโครเวฟต่อสู้และทำลายโดรนบิน (Epirus Leonidas) ของฝ่ายตรงข้ามในขณะเดียวกันก็สามารถป้องกันโดรนบินของฝ่ายตัวเองได้
ในสงครามความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนแสดงให้เห็นว่าการทำสงครามด้วยโดรนรูปแบบต่าง ๆ มีความสำคัญต่อการตัดสินชี้ขาดในสนามรบ ทั้งในภารกิจลาดตระเวน การระบุเป้าหมาย กำหนดจุดตกของกระสุนปืนใหญ่ รวมไปถึงการบัญชาการรบในแนวหน้า
ระบบอาวุธยิงคลื่นไมโครเวฟ (Epirus Leonidas) จุดอยู่ในอาวุธกลุ่มที่ใช้พลังงานโดยตรง เช่นเดียวกับปืนยิงแสงเลเซอร์ การยิงทำได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำด้วยความเร็วแสง ติดตั้งคุณสมบัติในการพิสูจน์ฝ่ายที่ชัดเจนก่อนการตัดสินใจยิงเพื่อป้องกันความผิดพลาดโจมตีใส่ฝ่ายตนเอง
จุดเด่นของอาวุธรูปแบบนี้นอกจากต้นทุนในการยิงแต่ละนัดมีราคาต่ำกว่าใช้กระสุนขนาดใหญ่หรือการใช้จรวดต่อต้านอากาศยานราคาหลายร้อยล้านบาทเพื่อยิงสกัดโดรนราคาหลักหมื่นบาท ระบบอาวุธยิงคลื่นไมโครเวฟ (Epirus Leonidas) ถูกออกแบบให้ไม่เป็นอันตรายกับมนุษย์ เน้นความสามารถในการตัดวงจรและเผาชิ้นส่วนโดรนบินกลางอากาศของฝ่ายตรงข้ามโดยใช้คลื่นไมโครเวฟ
แนวคิดการพัฒนาระบบอาวุธยิงคลื่นไมโครเวฟ (Epirus Leonidas) เกิดขึ้นจากการมองเห็นจุดอ่อนของระบบป้องกันภัยทางอากาศแบบเดิมที่ไม่สามารถยิงทำลายโดรนขนาดเล็กของฝ่ายข้าศึกได้ทันเวลาหากมีการใช้โดรนบินโจมตีพร้อมกันหลายลำ สำหรับการใช้โดรนด้านการทหารรูปแบบดังกล่าวคาดว่าจะเริ่มพบเห็นมากขึ้นในอนาคต
ที่มาของข้อมูล Newatlas
ที่มาของรูปภาพ Epirus