รีเซต

ไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 โอมิครอน 3 สายพันธุ์ย่อย XBB BF.7 และ BN.1

ไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 โอมิครอน 3 สายพันธุ์ย่อย XBB BF.7 และ BN.1
TNN ช่อง16
17 ตุลาคม 2565 ( 14:29 )
106
ไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 โอมิครอน 3 สายพันธุ์ย่อย XBB BF.7 และ BN.1

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผย ไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย XBB และ BF.7 อย่างละ 2 ราย ส่วนสายพันธุ์ BN.1 พบจำนวน 10 ราย


วันนี้ (17 ต.ค.65) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 ในประเทศไทย พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ XBB และ สายพันธุ์ BF.7 อย่างละ 2 ราย

ขณะเดียวกัน ประเทศไทยยังพบสายพันธุ์ BN.1 จำนวน 3 ราย และพบเพิ่มเติมจำนวน 7 ราย แต่ยังอยู่ระหว่างนำเข้าเผยแพร่บนฐานข้อมูล GISAID ส่วนสายพันธุ์ BQ.1.1 ยังไม่พบรายงานในประเทศไทย ทั้งนี้ ยังพบว่าสายพันธุ์ BA.5 ยังคงเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดอยู่ในไทย โดยมีรายละเอียด ดังนี้

สายพันธุ์ XBB

รายที่ 1 เป็นหญิง ชาวต่างชาติ อายุ 60 ปี มีอาการสำคัญ คือ ไอ ตรวจ ATK = Positive 1 วันก่อนมาโรงพยาบาล (28/09/2022) ผู้ป่วยไม่ได้ให้ประวัติเดินทางมาจากต่างประเทศ แต่ผู้ป่วยแจ้งที่อยู่กับทางโรงพยาบาล คือ ฮ่องกง ขณะป่วยอาศัยที่โรงแรมแห่งหนึ่ง โดยมีการเข้ารับ Home Isolate วันที่ 28/09/2022-7/10/2022 ซึ่งระหว่างกักตัวผู้ป่วยไม่มีอาการไอ ไม่มีไข้ และปัจจุบันได้หายเป็นปกติแล้ว

รายที่ 2 เป็นหญิง ชาวไทย อายุ 49 ปี มีอาการสำคัญ คือ ไอ คัดจมูก 2 วันก่อนมาโรงพยาบาล (27/09/2022) ผู้ป่วยให้ประวัติอาศัยอยู่ในประเทศไทย ขณะป่วยอาศัยที่บ้าน โดยการ Home Isolate วันที่ 27/09/2022-6/10/2022 ซึ่งระหว่างกักตัวผู้ป่วยมีอาการไอ ระคายคอ ไม่มีไข้ และปัจจุบันหายเป็นปกติแล้ว

สายพันธุ์ BF.7

รายที่ 1 เป็นชาย ชาวต่างชาติ อายุ 16 ปี อาศัยอยู่ในประเทศไทย จ.กรุงเทพฯ มีอาการไอ เจ็บคอเล็กน้อย

รายที่ 2 เป็นหญิง ชาวไทย อายุ 62 ปี เป็นบุคลากรทางการแพทย์ อาศัยอยู่ใน จ.กรุงเทพฯ ผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง (กลุ่ม 608)

สายพันธุ์ BN.1 หรือ BA.2.75.5.1

กลายพันธุ์บนโปรตีนหนาม จากการคำนวณทางสถิติพบว่า BN.1 มี อัตราการกลายพันธุ์ใกล้เคียงกับ BA.5

จากฐานข้อมูลของ GISAID ทั่วโลกพบผู้ติดเชื้อแล้ว 437 ราย ขณะที่ ประเทศไทยมีรายงาน BN.1 บน GISAID จำนวน 3 ราย และล่าสุดพบเพิ่มเติมในประเทศไทย จำนวน 7 ราย อยู่ระหว่างการนำเข้าเผยแพร่บนฐานข้อมูล GISAID

สายพันธุ์ BQ.1.1 หรือ BA.5.3.1.1.1.1.1.1

BQ.1.1 = BA.5.3 กลายพันธุ์หลายตำแหน่ง สามารถหลบภูมิคุ้มกันได้ดี ทั่วโลกมีรายงานพบ 1,284 ราย แต่ยังไม่พบรายงานในประเทศไทย

นพ.ศุภกิจ สรุปสถานการณ์การเฝ้าระวังเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย ดังนี้ BA.2.75.2 จำนวน 8 ราย BN.1 จำนวน 10 ราย BF.7 จำนวน 2 ราย XBB จำนวน 2 ราย โดยในประเทศไทยส่วนใหญ่ยังเป็น BA.5 และ BA.5.2 และมีสายพันธุ์ย่อยๆ เริ่มพบจำนวนหนึ่ง โดยขออย่าตระหนกเพราะตระกูลโอมิครอนจะเกิดอาการไม่ค่อยรุนแรง แต่อาจจะติดเชื้อเพิ่มจำนวนมากขึ้น.


ภาพจาก แฟ้มภาพ AFP


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง