รีเซต

น้ำมันรั่วไหล-ทะเลไทย ภัยอันตราย ที่มนุษย์ทำแต่ธรรมชาติต้องแบกรับ

น้ำมันรั่วไหล-ทะเลไทย ภัยอันตราย ที่มนุษย์ทำแต่ธรรมชาติต้องแบกรับ
TNN ช่อง16
7 กันยายน 2566 ( 07:54 )
142


วันนี้ (7 กันยายน) แม้จะเป็นวันที่ 5 หลังเหตุการณ์น้ำมันดิบ ของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ถูกพบว่ารั่วไหลจากเรือบรรทุกน้ำมัน ขณะขนถ่ายน้ำมันดิบ บริเวณทุ่นผูกเรือกลางทะเล หมายเลข 2 (SBM-2) ของโรงกลั่นน้ำมัน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2566 เวลาประมาณ 21.00 น. 


โดยหลังเกิดเหตุทางบริษัทฯ ได้เข้าควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ทันที ด้วยการปิดวาล์วท่อน้ำมันที่เกิดปัญหาและวางทุ่นล้อมคราบน้ำมันเพื่อป้องกันและจำกัดการแพร่กระจาย



แต่ทั้งนี้ศูนย์ประสานงานป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน ภายใต้แผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติ 2545 ซึ่งประกอบด้วยกองทัพเรือ,กรมเจ้าท่า,ส่วนราชการจังหวัด,กลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมัน และกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน 


ยังคงติดตาม เฝ้าระวังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด ซึ่งตั้งแต่วันแรกที่เกิดเรื่องศูนย์ฯดังกล่าว ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจทันทีเพื่อป้องกันความรุนแรงและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น


พร้อมกับคาดการณ์ความเสียหายตามแบบจำลอง ซึ่งระบุว่า คราบน้ำมันจากเหตุนี้ จะเคลื่อนเข้าที่ชายทะเลอ่าวอุดม ในช่วงเย็นของวันที่ 7 ก.ย. จากนั้นช่วงเที่ยงวันที่ 8 ก.ย. จะเข้าที่เกาะลอย อ.ศรีราชา และวันที่ 10 ก.ย. เวลาประมาณ 15.00 น.คราบน้ำมันจะกระจายตัวถูกพัดเข้าหาฝั่งชายหาดบางแสน 


และด้วยเหตุที่เกิดขึ้นได้สร้างความเสียหายต่อประชาชน กรมเจ้าท่า จึงได้เข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้อง  ในฐานความผิด ทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งมีชีวิตหรือต่อสิ่งแวดล้อม หรือเป็นอันตรายต่อการเดินเรือ อันเป็นความผิดตามมาตรา 119 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พุทธศักราช 2456 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2535




 



นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล ทหารด่านหน้าที่ต่อสู้ปัญหาที่ไม่มีวันจบ


ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) หนึ่งในนักวิชาการคนสำคัญที่ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องท้องทะเลไทย ที่ครั้งนี้ก็ได้ติดตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันแรก 


โดยเมื่อวันที่ 5 ก.ย. ผศ.ดร.ธรณ์ โพสต์ความคืบหน้าล่าสุดผ่านเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ระบุว่า 


“ทีมของคณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ ลงพื้นที่ชายฝั่งศรีราชาเพื่อสำรวจคราบน้ำมัน แต่สิ่งที่พวกเราเจอคือมวลน้ำเขียวจากแพลงตอนบลูมกำลังเข้าสู่ชายฝั่ง ในบริเวณเดียวกับที่คาดการณ์ว่าจะมีคราบน้ำมันเข้ามา


ภาพที่เพื่อนธรณ์เห็น ถ่ายตอนบ่ายนี้เอง เห็นมวลน้ำเขียวกำลังมาสู่ชายฝั่งศรีราชาและพื้นที่ใกล้เคียง (สังเกตเกาะลอยมุมขวาบน) ข้อมูลจาก GISTDA มีปรากฏการณ์น้ำเปลี่ยนสี (แพลงตอนบลูม) เกิดตั้งแต่วันที่ 3 กันยายนเรื่อยมา (แผนที่ในเมนต์)


ตอนนี้เลยกลายเป็นปรากฏการณ์ซ้ำซ้อน เราหาคราบน้ำมันไม่เจอ อาจเป็นเพราะปนกับน้ำเขียว หรืออาจถูกกำจัดไปบ้างแล้วผลกระทบที่เกิดขึ้นจึงซ้อนกัน ทำให้ซับซ้อนจนไม่รู้จะอธิบายอย่างไร 


ได้แต่เศร้าว่าทำไมเราถึงเจอแบบนี้ทั้งหมดนี้ อาจเป็นเพราะเราใส่ใจทะเลไม่พอ ทำให้เกิดผลกระทบทางอ้อม เช่น น้ำทิ้ง เร่งให้เกิดแพลงตอนบลูมถี่ยิบ

ยังมีผลกระทบทางตรงจากคราบน้ำมัน แม้เป็นอุบัติเหตุ แต่เราก็ต้องยกระดับเพื่อไม่ให้เกิดซ้ำซาก มิฉะนั้น เจอทั้งน้ำเขียวบวกน้ำมัน ทะเลจะเป็นอย่างไร พี่น้องคนทำมาหากินชายฝั่งจะเหนื่อยแค่ไหน?”


และกระทั่งในโพสต์ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 ก.ย. ผศ.ดร.ธรณ์ได้รายงานผลกระทบคราบน้ำมันต่อแนวประการัง ระบุว่า


“อำลาทะเลศรีราชาด้วยแผนที่แนวปะการังตามเส้นทางที่คราบน้ำมันเคลื่อนผ่าน มีภาพดาวเทียมและการสำรวจทางอากาศยืนยัน แนวปะการังบริเวณนี้มีพื้นที่รวมกันมากกว่า 250 ไร่ หลักๆ คือเกาะค้างคาว ท้ายตาหมื่น เกาะร้านดอกไม้ และเกาะขามใหญ่ 




สำหรับเกาะสีชัง มีแนวปะการังกระจายกันไปตามจุดต่างๆ น้ำมันส่งผลกระทบต่อปะการัง 2 แบบ อย่างแรกคือเฉียบพลัน เกิดเมื่อน้ำมันเยอะๆ สะสมในอ่าว เมื่อน้ำลง คราบน้ำมันโดนปะการังโดยตรง ขาวทันทีตายทันที


อีกแบบคือส่งผลระยะยาว ปะการังอาจไม่ตาย มองภายนอกก็ปรกติ แต่จะอ่อนแอและเริ่มเกิดโรคเพิ่มมากขึ้น เมื่อโดนน้ำร้อนจะฟอกขาวง่ายฟื้นยาก หรืออยู่ในน้ำคุณภาพไม่ดี เช่น น้ำเขียวปี๋ ก็อาจมีผล


อย่างแรกประเมินไม่ยาก แต่อย่างที่สองยากครับ ต้องติดตามกันเป็นปีๆ ซึ่งก็คงต้องใช้งบประมาณเป็นกรณีพิเศษ


จึงหวังเป็นอย่างยิ่งๆๆ ว่าการตกลงกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ กรมทะเล และผู้ก่อเหตุ จะครอบคลุมถึงส่วนนี้ไว้ครบถ้วน ให้มากพอ ถี่พอ และรับผิดชอบต่อระบบนิเวศและท้องทะเลเพียงพอครับ”



ทั้งนี้สถานการณ์ทะเลไทยล่าสุดจากรายงานสถานการณ์ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2566 ระบุว่า ตั้งแต่ต้นปี 2566 ที่ผ่านมามีเหตุน้ำมันรั่วเกิดขึ้นทั้งหมด 22 ครั้ง โดยพื้นที่เสี่ยงสูงคือ จังหวัดระยอง และชลบุรี เนื่องจากเป็นพื้นที่มีกิจกรรมชายฝั่งหลากหลายประเภท ทั้งการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรม โดยที่ประชุมมีความเห็นว่าสถานการณ์ที่ต้องให้ความสำคัญ คือ ปัญหาน้ำมันรั่ว และก้อนน้ำมันดิน




45 ปีที่ผ่านมา เกิดเหตุน้ำมันรั่วในทะเลไทย มากกว่า 235 ครั้ง


มีรายงานว่าตลอดระยะเวลา 45 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องประสบเหตุน้ำมันรั่วไหลลงสู่ท้องทะเลมากกว่า 235 ครั้ง ตัวเลขนี้เป็นไปตามที่มีเอกสารรายงานอ้างอิงเท่านั้น ซึ่งไม่แน่ว่าอาจจะมีเหตุการณ์อื่นๆอีกที่ไม่ถูกบันทึกไว้


โดยพื้นที่ที่เกิดเหตุน้ำมันรั่วไหลส่วนมาก จะเป็นโซนอ่าวไทยฝั่งตะวันออก เนื่องจาก เป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรม และท่าเทียบเรือ มีการสัญจรทางน้ำเนืองแน่น โดยเฉพาะเรือบรรทุกน้ำมันที่ใช้เส้นทางนี้ผ่านไปมา 


ทีมข่าว TNN Online พบว่า เฉพาะในเดือนมกราคม ปี 2565 ที่ผ่านมามีรายงานเหตุการณ์น้ำมันรั่วลงทะเลในช่วงเวลาใกล้เคียงกันมากและเป็นที่จับตาจากสังคมถึง 2 ครั้ง


เหตุการณ์แรกที่เราจะพูดถึง คือ เหตุน้ำมันดิบรั่ว กลางทะเลมาบตาพุด จังหวัดระยอง เกิดขึ้นช่วงกลางดึกของวันที่ 25 ม.ค. 2565 ขณะนั้นท่อน้ำมันดิบใต้ทะเล เกิดการรั่วไหล บริเวณทุ่นผูกเรือน้ำลึกแบบทุ่นเดี่ยวกลางทะเลหรือจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเล ของบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) 


เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีคราบน้ำมันกระจายกลางทะเลเป็นวงกว้าง ทำให้จังหวัดระยองต้องประกาศให้เป็นพื้นที่ภัยพิบัติ ในช่วงแรกหลังเกิดเหตุมีการประเมินว่าปริมาณน้ำมันที่รั่วไหลอยู่ที่ 400,000 ลิตร และต่อมาหลังทีมนักประดาน้ำสำรวจอย่างละเอียดพบว่าปริมาณน้ำมันรั่วไหลอยู่ที่ 50,000 ลิตร   

 

ในเหตุการณ์เลวร้ายครั้งนี้ยังมีเรื่องที่ดีคือ ไม่มีรายงานว่าคราบน้ำมันเคลื่อนเข้าแนวปะการังเกาะเสม็ด ซึ่งจะสร้างความเสียหายครั้งใหญ่ แต่คราบน้ำมันถูกพบที่หาดหิน อย่างไรก็ตามแม้ความเสียหายจะไม่มากแต่การสืบสวนจำเป็นที่ต้องดำเนินต่อไปเพราะสิ่งแวดล้อม แหล่งท่องเที่ยวต่างได้รับผลกระทบทางตรง ทางอ้อมอีกหลายแห่ง เช่น ที่หาดแม่รำพึง จังหวัดระยอง ที่พบคราบน้ำมันกระจายเป็นลักษณะฟิลม์บางๆ 


เหตุการณ์ที่เกิดในเวลาไล่เลี่ยกัน คือ เหตุคราบน้ำมันรั่วไหลแถวจังหวัดชุมพร ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2565 เวลา 19.15 น. เกิดจากเรือบรรทุกน้ำมันอับปางกลางอ่าวไทย ซึ่งห่างจากปากน้ำชุมพรประมาณ 24 ไมล์ทะเล โดยเรือดังกล่าวจมที่ความลึกประมาณ 50 เมตร ในเรือมีน้ำมันดีเซลประมาณ 500,000 ลิตร


ต่อมาวันที่ 24 ม.ค. กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ลงพื้นที่ตรวจสอบเหตุพบว่ามีความรุนแรงระดับ 1 น้ำมันรั่วไหลมีขนาดเล็ก ไม่เกิน 20 ตัน คาดว่าอาจเป็นพวกน้ำมันหล่อลื่น และน้ำมันที่ใช้กับเรือดังกล่าว 


เหตุที่เกิดขึ้นจึงคาดการณ์ว่าแหล่งทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในน่านน้ำ จ.ชุมพร บริเวณ เกาะไข่ เกาะง่ามน้อย เกาะง่ามใหญ่ เกาะจรเข้ และบริเวณชายหาดต่างๆ ใน อ.ปะทิว ยังไม่ได้รับผลกระทบ 


คน สัตว์ ช่วงเวลาสั้น-ยาว ล้วนต้องรับผลจากกรรมนั้น


โดยส่วนมากเมื่อเกิดเหตุน้ำมันรั่วไหลลงสู่ทะเล การจัดการกับคราบน้ำมันที่ลอยอยู่ ซึ่งเรามักจะเห็นในข่าว หรือรายงานคือ หจ้าหน้าที่จะใช้สารเคมี Dispersant ฉีดพ่นลงไปที่เกิดเหตุและมีคราบน้ำมันเพื่อลดแรงตึงผิวของน้ำมันที่ลอยในทะเล ซึ่งจะทำให้น้ำมันรวมกับสารเคมีกลายเป็นหยดหรือละอองน้ำมันจมลงใต้ทะล


หากกรณีที่พื้นที่ที่ใช้ Dispersant  มีความลึกเพียงพอ ประกอบกับคลื่นลมแรง แบคทีเรียจะสามารถย่อยสลายน้ำมันโดยไม่กระทบกับสัตว์และพืชทะเล แต่ทางกลับกันหากใช้ Dispersant ในจุดที่ระยะใกล้ฝั่งไม่เกิน 5 กิโลเมตร หยดน้ำมันจะถูกย่อยสลายไม่ทัน และจะจับตัวกลายเป็นก้อนของน้ำมันเหลวจมลงใต้ทะเล และอาจไปปกคลุมหญ้าทะล ปะการัง หรือเป็นอันตรายกับสัตว์ทะเล และสร้างความสกปรกให้กับชายหาดซึ่งกระทบกับแหล่งท่องเที่ยว





อย่างไรก็ตามเมื่อมีสิ่งปนเปื้นเจือปนในน้ำทะเล สิ่งมีชีวิตกลุ่มแรกที่ไม่อาจหนีพ้นและได้รับผลทางตรงะมากที่สุดก็คือ กลุ่มของสัตว์น้ำ เช่น ปลา ที่อาจจะกิน หรือสัมผัสกับน้ำมันบางชนิด แม้สัตว์น้ำเหล่านี้ไม่ได้ตายในทันทีแต่ย่อมตกอยู่ในสภาวะมีสารพิษสะสมในตับและอวัยวะอื่นๆ 

แต่กรณีที่น้ำมันที่ตกค้างมีความเข้มข้นสูง สัตว์น้ำจำพวก ปู สามารถตายได้ทันที ส่วนพืชทะเลที่เป็นแหล่งอาหารของสัตว์น้ำ การที่น้ำมันลอยอยู่เหนือผิวน้ำจะส่งผลให้ออกซิเจนในน้ำลดลง แสงส่องไม่ถึงมีผลต่อการเติบโตด้วย 


สำหรับผลที่เกิดกับมนุษย์ แน่นอนว่าสัตว์น้ำในท้องทะเลคือหนึ่งในอาหารของคนเมื่อพวกมันได้รับสารพิษ ตัวเราเมื่อกินสัตว์เหล่านั้นก็เท่ากับกินสารพิษไปด้วย วัฎจักรหมุนวนกลับมาสู่ต้นเหตุที่ทำให้เกิดเรื่อง สุดท้ายสารพิษเหล่านี้ก็จะค่อยๆแทรกซึมและตกค้างในร่างกายเราในที่สุด


ส่วนเรื่องสภาพแวดล้อม สถานที่ท่องเที่ยว ชุมชน ผลระยะสั้นเป็นเรื่องนักท่องเที่ยวที่หดหาย ประมงพาณิชย์ ถูกสั่งห้ามเดินเรือ ส่วนในระยะยาวธรรมชาติที่รับมลพิษต้องเสื่อมโทรมไปตามเวลา วิถีชีวิตของคนที่ต้องอยู่กับธรรมชาตินี้ย่อมไม่เหมือนเดิม และถ้าหากสิ่งแวดล้อมไม่ได้รับการฟื้นฟู เยียวยาในทางที่ควรจะเป็น สักวันสัตว์ที่เคยมี สิ่งที่เคยเป็นต้องสูญสลายไป





เรียบเรียง : ยศไกร รัตนบรรเทิง บรรณาธิการ TNNOnline 

ภาพ : ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ / กองทัพเรือ / กรมควบคุมมลพิษ / ผู้สื่อข่าว ภูมิภาค จ.ชลบุรี 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง