รีเซต

เปิดค่าปรับ "ไม่สวมหน้ากากอนามัย" เสียเงินเริ่มต้น 1,000 บาท ต้องใส่หน้ากากอนามัยที่ไหนบ้าง

เปิดค่าปรับ "ไม่สวมหน้ากากอนามัย" เสียเงินเริ่มต้น 1,000 บาท ต้องใส่หน้ากากอนามัยที่ไหนบ้าง
Ingonn
2 กุมภาพันธ์ 2565 ( 09:54 )
281
เปิดค่าปรับ "ไม่สวมหน้ากากอนามัย" เสียเงินเริ่มต้น 1,000 บาท ต้องใส่หน้ากากอนามัยที่ไหนบ้าง

หน้ากากอนามัย อาวุธสำคัญ ป้องกันโควิด-19 ที่ทุกคนจะต้องพกติดตัวและใส่ออกจากบ้านอยู่เสมอ ซึ่งมีทั้งหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ และหน้ากากผ้า เนื่องจากเชื้อโควิด-19 ติดได้ง่าย เพียงแค่หายใจ หรือพูดคุยใกล้กันน้อยกว่า 1 เมตร ก็เสี่ยงติดโควิด-19 ไม่รู้ตัว การสวมหน้ากากอนามัย จึงเป็นข้อบังคับหนึ่งที่ทุกคนต้องให้ความร่วมมือ หากไม่สวมหน้ากากอนามัยจะถูกปรับ เริ่มต้น 1,000 บาท เลยทีเดียว

 

เพจเฟซบุ๊ก ศูนย์ข้อมูล COVID-19 ได้เปิดเผยอัตราค่าปรับผู้ไม่สวมหน้ากาก ทำให้โควิดแพร่ระบาด โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้

 

อัตราค่าปรับผู้ไม่สวมหน้ากาก

ศบค. เตือนอัตราค่าปรับผู้ไม่สวมหน้ากาก ทำให้โควิดแพร่ระบาด

ครั้งที่ 1 ไม่เกิน 1,000 บาท

ครั้งที่ 2 มากกว่า 1,000 บาท แต่ไม่เกิน 10,000 บาท

ครั้งที่ 3 เป็นต้นไป มากกว่า 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 20,000 บาท

 

มีผลตั้งแต่ 8 มิ.ย. 64 ซึ่งหากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 สงบลงหรือกรณีมีเหตุอันสมควร หรือได้มีการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2558 แล้ว เห็นควรให้ยกเลิกระเบียบนี้ไปในคราวเดียวกันด้วย

 

เชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถแพร่กระจายในอากาศเมื่อมีการไอ จาม พูดคุย ตะโกนหรือร้องเพลง ไปยังบุคคลใกล้ชิด โดยการหายใจละอองฝอยเข้าไป การสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าจึงเป็นหนึ่งในมาตรการที่จะช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคที่อยู่ในละอองฝอย ทุกคนจึงควรสวมหน้ากาก แม้ยังไม่มีอาการป่วยโดยเฉพาะเมื่อมีความเสี่ยงหรืออยู่ในสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ของโรค 

 

บุคคลที่ควรสวมหน้ากาก

  • ผู้ที่อายุตั้งแต่ 2 ขวบขึ้นไป

 

บุคคลที่ไม่ควรต้องสวมหน้ากาก

  • ผู้ที่อายุต่ำกว่า 2 ขวบ เนื่องจากอาจมีผลต่อความปลอดภัยหรือพัฒนาการของผู้นั้น
  • ผู้ที่มีโรคหรือมีข้อห้ามทางการแพทย์เช่น ผู้ป่วยที่ต้องสวมใส่หน้ากากออกซิเจนหรือเครื่องช่วยหายใจหรือกรณีเหตุฉุกเฉิน

 

กิจกรรมหรือสถานการณ์ที่ต้องสวมหน้ากาก

  1. เมื่ออยู่ในสถานที่สาธารณะ ในอาคาร ห้องประชุม หรือสถานที่ที่ต้องพบกับผู้ที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในบ้านหรือที่พำนักเดียวกัน เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาด เป็นต้น ทั้งนี้ควรใช้เวลาให้สั้นที่สุด พูดคุยเท่าที่จำเป็น และเว้นระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1 เมตร

  2. เมื่อต้องเดินทางโดยยานพาหนะขนส่งสาธารณะ เช่น เครื่องบิน รถบัส รถไฟ แท็กซี่ เป็นต้น หรือเมื่ออยู่ในสถานีขนส่ง ทั้งนี้ควรงดการพูดคุยและงดรับประทานอาหารเมื่ออยู่ในยานพาหนะ

  3. เมื่ออยู่ใกล้กับผู้ที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในบ้านหรือที่พำนักเดียวกัน

  4. เมื่ออยู่ในบ้านหรือที่พำนักกับผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อโรคโควิด 19 (ในระหว่างรอเตียงของโรงพยาบาล) หรืออยู่ใกล้กับผู้สัมผัสเสี่ยงสูง เช่น ผู้ที่เป็นครอบครัวเดียวกันกับผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อโรคโควิด 19 ผู้ที่ไปยังสถานที่เสี่ยง ณ ช่วงเวลาเดียวกันกับผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อโรคโควิด 19 หรือผู้ที่ไปร่วมกิจกรรม ณ สถานที่และเวลาเดียวกันกับผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อโรคโควิด 19 เป็นต้น

 

ขั้นตอนและวิธีการสวมหน้ากากอนามัย

  1. ล้างมือก่อนสวมหน้ากาก โดยล้างด้วยสบู่และน้ำนาน 40-60 วินาที หรือใช้เจลแอลกอฮอล์นาน 20-30 วินาที
  2. สำรวจความเรียบร้อย ไม่ควรมีรอยฉีกขาด คราบสกปรกหรือผ่านการใช้งานแล้ว
  3. หาส่วนด้านบนของหน้ากากซึ่งปกติมักจะมีแถบลวดอยู่
  4. หาด้านในของหน้ากากโดยส่วนใหญ่มักจะมีสีอ่อน แล้วหันด้านที่มีสีเข้มหรือบานพับคว่ำไว้ด้านนอก หรือหันด้านที่มีบานพับหงายเข้าหาใบหน้า
  5. ดึงสายรัดทั้งสองข้างคล้องหู
  6. กดแถบลวดให้แนบสันจมูก
  7. ดึงหน้ากากให้คลุมจมูกและใต้คาง

 

เคล็ดลับการสวมหน้ากากอนามัย ปลอดภัยจากโควิด-19

  1. เมื่อสวมหน้ากากแล้ว ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสหน้ากาก และเมื่อถอดหน้ากากหรือสัมผัสหน้ากากโดยไม่ได้ตั้งใจ ให้ใช้เจลล้างมือที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ 70% หรือทําความสะอาดมือ ด้วยสบู่และน้ำหากมีคราบสกปรกติดที่มือ

  2. ควรเปลี่ยนหน้ากากทุก 6-8 ชั่วโมง หรือเมื่อหน้ากากเปียกชื้น สกปรก หรือเมื่อออกจากสถานที่แออัด

  3. ไม่ควรใช้หน้ากากซ้ำ โดยหน้ากากอนามัยควรใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ส่วนหน้ากากผ้าให้ซักด้วยน้ำยาซักผ้าเด็กหรือน้ำสบู่อ่อน หรือซักด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อแต่ไม่ควรแช่ทิ้งไว้ แล้วตากแดดให้แห้งเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่

  4. หลังจากถอดหน้ากากอนามัยแล้ว ให้ทิ้งด้วยวิธีตามที่กำหนดไว้ในข้อ 3.3 โดยทันทีและล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์

 

การทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว

  1. ถอดหน้ากาก ให้จับสายรัดและถอดหน้ากากอนามัยจากด้านหลัง พับหน้ากากอนามัยส่วนที่สัมผัสกับใบหน้าเข้าด้านใน เพื่อป้องกันสารคัดหลั่งจากน้ำมูกหรือน้ำลายแพร่กระจายและไม่ควรสัมผัสตัวหน้ากาก

  2. ม้วนหน้ากากใส่ถุงที่ปิดสนิท และทิ้งในถังขยะทั่วไปที่มีฝาปิด จากนั้นล้างมือด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์

  3. กรณีเป็นผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ที่อยู่ระหว่างรอเตียงของโรงพยาบาล หรือเป็นผู้สัมผัส เสี่ยงสูงที่ต้องกักตัว ให้นำหน้ากากใส่ถุง แล้วราดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ มัดปากถุง ซ้อนอีกถุง มัดปิดให้สนิทแล้วทิ้งถังขยะ

 

 

ข้อมูล เพจเฟซบุ๊ก ศูนย์ข้อมูล COVID-19 , กระทรวงสาธารณสุข

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง