ศ.ศ.ป. จัดการประกวด ประชันไอเดีย "ผ้าไทยใส่ได้ทุก Gen"
วันนี้ (14พ.ค.64) ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ ศ.ศ.ป. ได้จัดการประกวดผลงานศิลปหัตถกรรมเชิงสร้างสรรค์ SACICT Award 2021 ภายใต้หัวข้อ “ผ้าไทยใส่ได้ทุก Gen” ใน 4 ภูมิภาค โดยมีวัตถุประสงค์ในการเปิดโอกาสให้บุคคลที่มีความสามารถด้านการออกแบบแฟชั่น และเครื่องแต่งกาย ได้นำเสนอแนวคิดการสร้างสรรค์ผลงานการออกแบบแฟชั่น และเครื่องแต่งกายผ้าไทย ที่สื่อถึงกระบวนการ และเทคนิคเชิงช่างดั้งเดิมผสมผสานกับเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาลวดลาย รูปแบบ ให้มีความร่วมสมัย
ทั้งนี้ ส่งเสริมให้เกิดประโยชน์ใช้สอยที่เข้ากับวิถีชีวิตคนในยุคปัจจุบันมากขึ้น รวมถึงการนำเรื่องราวจากภูมิปัญญาท้องถิ่นมาถ่ายทอดสู่คนรุ่นใหม่ ให้เกิดแรงบันดาลใจในการอนุรักษ์งานศิลปหัตถกรรม โดยผู้เข้าประกวดที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้ารอบชิงชนะเลิศจะได้รับโอกาสในการพัฒนาทักษะกับ ศ.ศ.ป. ผ่านกิจกรรม หรือโครงการต่างๆ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ รวมถึงการเผยแพร่ผลงาน และนำไปสู่การต่อยอดผลงานเชิงพาณิชย์ สำหรับภาคอุตสาหกรรมแฟชั่นต่อไป
นายพรพล เอกอรรถพร ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าววถึงแนวความคิดของการจัดประกวดในครั้งนี้ว่า “SACICT” มุ่งหวังที่จะกระตุ้นให้เกิดการนำผ้าไทยมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในปัจจุบัน และขยายให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง เราต้องยอมรับว่า ผ้าไทยนั้นเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ และศิลปวัฒนธรรมไทย ผ้าไทยในแต่ละภูมิภาคมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันออกไป
เพราะฉะนั้น “SACICT” มีความคิดว่าเราต้องการจะเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไป และนิสิต/ นักศึกษา ที่มีความสนใจ และมีทักษะด้านการออกแบบแฟชั่น และเครื่องแต่งกาย ได้นำผ้าไทยมาสร้างสรรค์ผลงาน จนเกิดเป็นชุด Collection ที่น่าสนใจ และร่วมสมัย เหมาะกับคนในทุก Generation เพื่อที่จะทำให้ผ้าไทยเป็นที่รู้จัก จนเกิดเป็นค่านิยมให้คนทั่วไปหันมาสวมใส่ผ้าไทยมากขึ้น เพิ่มคุณค่า และมูลค่าให้แก่ผ้าไทยมากยิ่งขึ้น
การประกวด SACICT Award 2021 ภายใต้แนวคิด “ผ้าไทยใส่ได้ทุก Gen” ใน 4 ภูมิภาคในสำหรับปีนี้ ต้องการให้ผู้ที่สนใจสมัครประกวดส่งผลงานภาพร่างการออกแบบแฟชั่น และเครื่องแต่งกาย โดยนำผ้าไทยมาออกแบบ ตัดเย็บเป็นชุดเครื่องแต่งกายที่เหมาะกับ lifestyle ของคนในแต่ละ Generation และสามารถสวมใส่ได้จริงในชีวิตประจำวัน
แบ่งผลงานการออกแบบเป็น 4 หัวข้อ ได้แก่ Baby Boomer ชุดผ้าไทยสำหรับผู้ที่มีอายุระหว่าง 57-75 ปี Generation X ชุดผ้าไทยสำหรับผู้ที่มีอายุระหว่าง 41-56 ปี Generation Y ชุดผ้าไทยสำหรับผู้ที่มีอายุระหว่าง 25-40 ปี และGeneration Z ชุดผ้าไทยสำหรับผู้ที่มีอายุระหว่าง 9-24 ปี โดยแบ่งการประกวดออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. ประเภท “บุคคลทั่วไป” (ประกวดได้ทุกหัวข้อยกเว้น Generation Z) และ 2. ประเภท “นิสิต/นักศึกษา” (ประกวดได้เฉพาะ Generation Z) ซึ่งจะจัดการประกวดใน 4 ภูมิภาค เพื่อเฟ้นหาสุดยอดนักออกแบบแฟชั่น และเครื่องแต่งกายผ้าไทย ของแต่ละGeneration ในแต่ละภูมิภาค
นายพรพล กล่าวถึงแนวคิด และจุดมุ่งหมายในการจัดการประกวดออกไปใน 4 ภูมิภาคว่า “เกิดขึ้นจากการจัดการประกวดในปีที่แล้ว 2563 ซึ่งมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมประกวดเป็นจำนวนมาก จึงต้องการขยายโอกาสแก่ผู้สนใจให้สามารถเข้าร่วมโครงการฯ ได้อย่างทั้ง 4 ภูมิภาค ประกอบด้วย ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ แต่เราไม่ได้นำผู้ชนะของแต่ละภาคมาแข่งกัน เพราะเราถือว่าวัฒนธรรมของแต่ละภาคมีความสวยงามที่แตกต่างกันตามแต่ละภูมิภาค จึงไม่สามารถพูดได้ว่าความงามของภูมิภาคไหนสวยงามกว่ากัน
การประกวดในครั้งนี้จะมีเงินรางวัลรวมกว่า 700,000 บาท โดยผู้ชนะการประกวดในประเภท “บุคคลทั่วไป” ของแต่ละหัวข้อการประกวดจะได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติยศ ส่วนประเภท “นิสิต/นักศึกษา” จะได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติยศ ทั้งยังมีรางวัล Popular Vote จะได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติยศ โดยผู้ชนะในแต่ละหัวข้อการประกวดจะได้รับการส่งเสริม และอบรมองค์ความรู้เพื่อนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ รวมทั้งได้รับโอกาสก้าวเข้าสู่วงการแฟชั่นชั้นนำ ต่อไป
นายพรพล ได้กล่าวถึงการประกวดกับสถานการณ์ปัจจุบันว่า ในการประกวดครั้งนี้ “SACICT” ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงานให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยผู้สนใจสามารถสมัครเข้าประกวดได้ทางออนไลน์ ซึ่งอาจจะถือเป็นโอกาสที่ดีที่คนอยู่บ้านได้ใช้เวลาว่างในการศึกษาข้อมูลองค์ความรู้ผ้าไทยใน 4 ภูมิภาค และเริ่มทดลองออกแบบผลงานได้ แต่ในขณะเดียวกัน ผมหวังว่าสถานการณ์ Covid-19 จะอยู่กับเราอีกไม่นาน เพราะเมื่อถึงวันประกวดรอบชิงชนะเลิศ เราก็จะได้สามารถนำผลงานการออกแบบ ตัดเย็บชุดจริงไปร่วมเดินแฟชั่นโชว์บนเวทีการประกวด “ผ้าไทยใส่ได้ทุก Gen” ในแต่ละภูมิภาคได้ แต่ถ้าหากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นก็จะมีการปรับเปลี่ยนวิธีการนำเสนอผลงานผ่านช่องทางออนไลน์ตามหลักของ New Normal
เปิดรับสมัครผลงานเข้าร่วมโครงการฯ ตั้งแต่15 พฤษภาคม ถึง 30 มิถุนายน 2564 สามารถสมัคร และติดตามรายละเอียดได้ที่ www.sacictaward2021.com และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทาง FACEBOOK : SACICT Award 2021 (www.facebook.com/Sacictaward2021) หรือ โทร 084-4247464 และ 063-0944388 สำหรับผู้ที่รัก ชื่นชอบผ้าไทย และงานศิลปหัตถกรรมไทยยังสามารถติดตามข่าวสารองค์ความรู้เกี่ยวกับผ้าไทย และผลงานศิลปหัตถกรรมต่างๆ ได้ที่ www.sacict.or.th Facebook Instagram และ Youtube ของ SACICT