รีเซต

รู้จักเทคโนโลยี “Cryonics” การแช่แข็งร่างมนุษย์ ความหวังแห่งชีวิตในอนาคต

รู้จักเทคโนโลยี “Cryonics” การแช่แข็งร่างมนุษย์ ความหวังแห่งชีวิตในอนาคต
TNN ช่อง16
6 ตุลาคม 2563 ( 17:20 )
1.3K

จากกระแสสารคดีเรื่อง Hope Frozen ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องราวของครอบครัวชาวไทย ที่ตัดสินใจ “แช่แข็ง” ร่างของลูกสาว เพื่อหวังว่าสักวันหนึ่งอนาคตจะมีหนทางรักษาโรคร้ายของเธอได้ แท้จริงแล้วการแช่แข็งมนุษย์เป็นอย่างไร หาคำตอบได้ในบทความนี้เลย

ที่มาของภาพ https://interestingengineering.com/science-or-scam-9-things-you-should-know-before-you-sign-up-for-cryonic-suspension

การแช่แข็งร่างมนุษย์ หรือ ไครโอนิกส์ (Cryonics) คือศาสตร์ที่ได้รับการกล่าวขานมาเนิ่นนาน เดิมทีมันเกิดจากความพยายามในการเดินทางข้ามเวลา ซึ่งมิใช่การใช้เครื่องไทม์แมชชีน หากแต่เป็นการแช่แข็งร่างกาย ให้หลับใหลผ่านห้วงเวลไปเรื่อย ๆ และตื่นขึ้นมาในอนาคต และนี่จึงกลายมาเป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่มนุษย์ได้คิดค้นขึ้นมา


เราแช่แข็งมนุษย์ได้อย่างไร?

หลายคนอาจจะคิดว่าการแช่แข็งมนุษย์ คือการนำร่างอันไร้ความรู้สึกชโลมด้วยสารให้ความเย็นจัด เช่น ไนโตรเจนเหลว จนร่างกายเกิดการแข็งตัวแล้วเก็บบรรจุไว้ในแคปซูลออกแบบพิเศษ ดังเช่นที่เคยเห็นในภาพยนตร์ ทว่า ความเป็นจริงกระบวนการไครโอนิกส์มีขั้นตอนที่ยุ่งยากพอสมควร

การแช่แข็งร่างมนุษย์ครั้งแรก เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1967 โดยเป็นการแช่แข็งร่างของศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา เจมส์ เบดฟอร์ด (James Bedford) ซึ่งเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง อย่างไรก็ตาม กระบวนการไครโอนิกส์ในสมัยนั้นไม่ได้มีการศึกษาอย่างดีพอ ทำให้ร่างกายบางส่วนถูกทำลายจากความเย็นจัด ร่างของศาสตราจารย์ เจมส์ เบดฟอร์ดยังคงถูกแช่แข็งมาจนถึงปัจจุบัน และเก็บไว้ในสถาบัน Alcor Life Extension

 

แคปซูลที่ออกแบบมาเพื่อแช่แข็งร่างของ ศาสตราจารย์ เจมส์ เบดฟอร์ด
ที่มาของภาพ https://www.sciencefocus.com/future-technology/cryonics-could-you-live-forever/

กลับมาที่การแช่แข็งร่างมนุษย์ในปัจจุบัน สถาบัน Alcor Life Extension คือสถาบันที่วิจัยเรื่องการแช่แข็งร่างและชิ้นส่วนของสิ่งมีชีวิต เลือกใช้วิธีที่เรียกว่า Vitrification คือการทำให้ร่างหรือชิ้นส่วนดังกล่าวอยู่ในสถานะที่เป็น “แก้ว” แทนที่จะเป็น “น้ำแข็ง” อย่างที่หลายคนเข้าใจ ขั้นตอนการแช่แข็งด้วยวิธี Vitrification มีดังนี้

1. ร่างมนุษย์ที่ถูกแช่แข็ง ต้องถูกวินิจฉัยว่าเป็นผู้เสียชีวิตแล้วตามกฎหมาย (หยุดหายใจ หัวใจหยุดเต้น) แต่อาจจะไม่ได้เสียชีวิตในทางการแพทย์ (ก้านสมองตาย) 

2. เมื่อผ่านการวินิจฉัยเป็นผู้เสียชีวิตตามกฎหมายแล้ว ทีมฉุกเฉินจากสถาบัน Alcor Life Extension จะเข้ามารับร่างดังกล่าว พร้อมทั้งให้พยุงชีพเพื่อให้เลือดไปเลี้ยงสมองอย่างเพียงพอ (ป้องกันการเสียชีวิตทางการแพทย์) จนกว่าร่างจะถูกนำพาไปยังสถาบัน ระหว่างนั้นอาจมีการฉีดสารป้องกันเลือดแข็งตัว เพื่อให้เลือดสามารถไหลไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ได้เหมือนเดิม

3. เมื่อมาถึงที่สถาบัน Alcor Life Extension แล้ว ทีมแพทย์จะดำเนินการนำน้ำออกจากเซลล์ทั่วร่างกายให้มากที่สุด แล้วแทนที่ด้วยสารในกลุ่มกลีเซอรอล เพื่อป้องกันมิให้ร่างกายได้รับความเสียหายจากกระบวนการแช่แข็ง พูดง่าย ๆ คือทำให้ร่างที่ถูกแช่อยู่ในสถานะแก้ว ไม่ใช่น้ำแข็งนั่นเอง

4. หลังจากเตรียมการเรียบร้อย ร่างกายจะถูกแช่อยู่ในน้ำแข็งแห้งที่มีอุณหภูมิ -130 องศาเซลเซียส จากนั้นจึงนำร่างใส่ลงในแคปซูลบรรจุไนโตรเจนเหลว จนอุณหภูมิอยู่ที่ -196 องศาเซลเซียส แล้วร่างจะถูกบรรจุอยู่ในที่แห้งนั้นไปจนกว่าจะถึงวันที่เหมาะสม

การจัดเตรียมร่างเพื่อเข้าสู่กระบวนการไครโอนิกส์ (Cryonics)
ที่มาของภาพ My Video Tour of the Alcor Life Extension Foundation on Vimeo


เมื่อไรจึงจะถึงวันที่เหมาะสมในการ “ละลายร่างแช่แข็ง”

ณ ปัจจุบันยังไม่สามารถให้คำตอบประเด็นนี้ได้ ก่อนหน้านี้สถาบัน Alcor Life Extension เองเคยแช่แข็งหนอนตัวหนึ่ง ด้วยกระบวนการไคโอนิกส์ และละลายการแช่แข็งในเวลาถัดมา ปรากฏว่านอกจากเจ้าหนอนจะมีชีวิตรอดแล้ว มันยังจดจำสิ่งที่เคยทำหรือพฤติกรรมการเรียนรู้อื่น ๆ ได้เหมือนเมื่อครั้งก่อนถูกแช่แข็ง ทว่า นั่นคือการแช่แข็งหนอน และระยะเวลาในการแช่แข็งไม่ได้ยืดเยื้อนานมาก เหมือนกรณีการแช่แข็งร่างมนุษย์เพื่อเดินทางไปยังอนาคต ซึ่งต้องถูกแช่แข็งอยู่นานหลายปี

ยิ่งไปกว่านั้น ยังไม่มีกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ใดที่สามารถยืนยันได้ว่า หากมนุษย์ผู้นั้นถูกแช่แข็งตามกระบวนการ Vitrification แล้ว จะสามารถกลับมาดำรงชีพได้อีกครั้งหลังถูกละลายการแช่แข็ง

แคปซูลบรรจุร่างแช่แข็งจากสถาบัน Alcor Life Extension 
ที่มาของภาพ https://news.bitcoin.com/alcor-life-extension-foundation-now-accepts-bitcoin-cash-donations/

สิ่งที่ยังคงเป็นข้อกังขาในประเด็นการละลายร่างแช่แข็งนั้น ประการแรกคือ ก่อนถูกแช่แข็งร่างนั้นอาจอยู่ในสภาพที่ยังมีชีวิตในทางการแพทย์จริง แต่เมื่อแช่แข็งไปแล้วจะยังคงมีชีวิตอยู่หรือไม่ หากร่างดังกล่าวเสียชีวิตหลังแช่แข็ง เมื่อละลายร่างออกมา ก็ยากที่จะกลับมามีชีวิตได้ใช่หรือไม่? ประการถัดมาคือ คุณไม่สามารถถูกแช่แข็งทั้งเป็นได้ เพราะมันขัดต่อจริยธรรมและกฎหมาย เป็นเหตุให้ร่างของผู้ที่ถูกแช่แข็งจะต้องอยู่ในสภาพที่ตายแล้วทางกฎหมายเท่านั้น จึงเป็นการยากที่จะพิสูจน์ได้ว่าการละลายร่างอันสมบูรณ์จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่? 

ถึงกระนั้น ยังมีความเชื่อว่าในอนาคตคงจะมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะช่วยละลายร่างแช่แข็ง พร้อมคืนสภาพร่างกายให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งได้ด้วยเทคโนโลยี Nanorobot หรือหุ่นยนต์ขนาดเล็กจิ๋ว ที่จะเข้าไปช่วยฟื้นฟูเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกายให้กลับมาทำงานได้ตามปกติ แต่มันก็ยังคงเป็นเรื่องของอนาคต คำตอบที่เป็นไปได้ที่สุดในตอนนี้คือ ยังไม่มีวิธีการละลายร่างแช่แข็งที่หนักแน่นและเชื่อถือได้ ว่าจะช่วยให้ร่างกายกลับคืนมาได้ดังเดิม

ที่มาของภาพ https://interestingengineering.com/science-or-scam-9-things-you-should-know-before-you-sign-up-for-cryonic-suspension


พร้อมหรือยังสำหรับการทำไครโอนิกส์

ค่าใช้จ่ายสำหรับการแช่แข็งร่างมนุษย์นั้น อยู่ที่ราว ๆ 150,000 – 300,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 5-10 ล้านบาท) ซึ่งมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง อีกทั้งการแช่แข็งร่างที่สามารถทำได้ จะต้องอยู่ในสภาพเสียชีวิตแล้วตามกฎหมายเท่านั้น และเพื่อให้การแช่แข็งมีความเป็นไปได้ในการคืนสภาพในอนาคต ร่างกายหรือชิ้นส่วนของผู้เสียชีวิตจะต้องถูกดำเนินการในเวลาอันรวดเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างเกิดเน่าเสีย หรือสมองได้รับความเสียหายจนไม่สามารถทำงานได้อีกต่อไป มันจึงเป็นกระบวนการที่มีความเสี่ยงอย่างมาก และต้องดำเนินการอย่างละเอียดแม่นยำ

ณ เวลานี้ กระบวนการแช่แข็งร่างมีประสิทธิภาพดีพอที่จะช่วยให้ร่างหรือชิ้นส่วนถูกเก็บรักษาได้อย่างสมบูรณ์ หากแต่คำถามที่ยังไม่สามารถให้คำตอบได้อย่างชัดเจน คือการคืนสภาพร่างกายให้กลับมาทำงานได้ดังเดิม ปัจจุบันยังไม่สามารภทำได้ และยังคงเป็นเรื่องของอนาคตที่ต้องติดตามกันต่อไป หวังว่าสักวันหนึ่งเมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้ามากขึ้น ร่างทั้งหลายที่ถูกแช่แข็งจะสามารถกลับคืนมาได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

SciencefocusInteresting Engineering

เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com
facebook : TNNThailand
facebook live : TNN Live
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNThailand
Instagram : @tnn_online
TIKTOK : @tnnonline

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง