รีเซต

เช็กความพร้อม"สายสีแดง"ก่อนเปิดปชช.ทดลองใช้ก.ค.64

เช็กความพร้อม"สายสีแดง"ก่อนเปิดปชช.ทดลองใช้ก.ค.64
TNN ช่อง16
27 มกราคม 2564 ( 11:14 )
231
เช็กความพร้อม"สายสีแดง"ก่อนเปิดปชช.ทดลองใช้ก.ค.64

        ระบบขนส่งทางทางในกรุงเทพฯ เริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น เพราะแต่ละเส้นทางก็มีความคืบหน้าไปมาก ทั้งทยอยทดสอบระบบเดินรถ และบางสายก็ทยอยเปิดใช้บริการกันมาแล้ว 

        วันนี้เองโครงการ "รถไฟฟ้าสายสีแดง" สายชานเมืองที่หลายคนเฝ้ารอ ก็ได้มีการทดสอบระบบเดินรถอีกครั้ง โดยเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก็ได้ลงพื้นที่ไปตรวจดูความพร้อม  เริ่มตั้งแต่สถานีกลางบางซื่อ เพื่อติดตามความพร้อมโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ที่จะเปิดให้บริการจริงๆในปลายปี 2564  และจะเปิดให้ประชาชนเริ่มทดลองขึ้นรถไฟฟ้าได้ในช่วงเดือนกรกฎาคม  เพื่อเตรียมความพร้อมในการให้บริการเชื่อมต่อกับเส้นทางช่วงบางซื่อ-รังสิต ซึ่งจะเปิดให้บริการพร้อมกันทั้ง 2 เส้นทางในช่วงปลายปีนี้ 


พร้อมเปิดให้ประชาชนทดลองใช้ ก.ค.2564

        โดยตามกำหนดการเดิมในช่วงแรกโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน มีกำหนดการทดสอบระบบ และทดสอบการเดินรถเสมือนจริง เริ่มช่วงเดือนมีนาคม 2564 ให้แล้วเสร็จก่อนเปิดให้ประชาชนทดลองใช้รถไฟฟ้าในเดือนกรกฎาคม 2564  จากนั้นกำหนดเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการ ในเดือนพฤศจิกายน 2564 

        สำหรับการลงพื้นที่ในวันนี้  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ทดลองโดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ - ตลิ่งชัน ซึ่งมีระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร จำนวน 3 สถานี ได้แก่ สถานีบางซ่อน บางบำหรุ และตลิ่งชัน  จากการลงพื้นที่ตรวจความพร้อมในครั้งนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะต้องซ่อมบำรุงในส่วนที่เป็นสถานี ซึ่งได้ก่อสร้างแล้วเสร็จมานานและไม่ได้เปิดใช้บริการ ต้องมีการปรับพื้นทางให้ได้มาตรฐานเพื่อให้สามารถเดินรถได้เต็มประสิทธิภาพ


ร่นระยะเวลาเดินทางบางซื่อ - ตลิ่งชันจาก  1 ชั่วโมงเหลือ 15 นาที 

        จากการทดสอบวันนี้ การเดินทางด้วยรถไฟฟ้าสายสีแดงจากสถานีบางซื่อ - ตลิ่งชัน ใช้ระยะเวลาประมาณ 15 นาที หากใช้รถยนต์อาจต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ถือเป็นทางเลือกใหม่ให้ประชาชนเดินทางจากใจกลางกรุงเทพฯ ไปยังพื้นที่ด้านตะวันตกของกรุงเทพฯ ได้อย่างสะดวกสบายยิ่งขึ้น ทั้งนี้ รฟท. จะทดลองเดินรถเสมือนจริงในเดือนมีนาคม 2564 และมีแผนการซ่อมบำรุงระหว่างเดือนมกราคม - เมษายน 2564 ซึ่งในเดือนเมษายน 2564 ระบบทุกอย่างจึงจะสมบูรณ์

        ส่วนแผนการบริหารจัดการเดินรถไฟทางไกลของ รฟท. ที่มีสถานีต้นทางและปลายทางที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) มีขบวนรถประมาณ 188 ขบวน ซึ่งในปี 2566 จะไม่มีขบวนรถไฟทางไกลวิ่งเข้าสถานีหัวลำโพงนั้น สามารถปรับแผนบริหารจัดการเดินรถได้ จากการเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีแดงเชิงพาณิชย์ในเดือนพฤศจิกายน 2564  หากจะต้องมีขบวนรถไฟทางไกลวิ่งเข้าสถานีหัวลำโพงเพื่อทำการเติมน้ำมัน จะต้องวิ่งเข้าสถานีหัวลำโพงระหว่างเวลา 22.00 – 04.00 น. เท่านั้น เพื่อให้การจราจรทางถนนในกรุงเทพฯ ไม่ติดขัดเพราะขบวนรถไฟ  ขณะที่พื้นที่โดยรอบกรุงเทพฯ ได้วางแผนว่าจะทำเป็นขบวนรถไฟขนส่งสินค้า ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบทำแผนมาเสนอรัฐมนตรีฯภายใน 1 เดือน



อัตราค่าโดยสารเริ่มต้น 14 บาท 

         การกำหนดอัตราค่าโดยสารจะคิดตามระยะทาง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ค่าแรกเข้าไม่เกิน 14 บาท และค่าโดยสารตลอดเส้นทางถึงรังสิต ไม่เกิน 42 บาท และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ค่าแรกเข้าไม่เกิน 14 บาท และค่าโดยสารตลอดเส้นทางถึงตลิ่งชัน ไม่เกิน 42 บาท เช่นกัน อีกทั้งในอนาคตจะพัฒนาระบบตั๋วโดยสารร่วม เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่ใช้บริการด้วย 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 ส่องเทคโนโลยี"สายสีทอง" รถไฟฟ้าไร้คนขับขบวนแรกของประเทศ

 เปิดปม รถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่อแววสะดุดเพราะอะไร?

 มาแน่ รถไฟฟ้า 4 สายเปิดส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่

        โดยอัตราค่าโดยสารดังกล่าว เป็นมติร่วมกันระหว่างกรมการขนส่งทางราง (ขร.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.), การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด (รฟฟท.) หรือแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (ทีดีอาร์ไอ) ซึ่ง ขร.จะเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พิจารณาภายในเดือน ก.พ.64 เพื่อนำมาใช้จัดเก็บค่าโดยสารตั้งแต่เดือน พ.ย.64 เป็นต้นไป

พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ควบคู่ไปด้วย

         รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  ได้มอบนโยบายให้รฟท. ดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งมีพื้นที่มากกว่า 4 แสนตารางเมตร บริหารจัดการพื้นที่ให้มีรายได้มากกว่ารายจ่าย อีกทั้งวงคอนเซ็ปท์ให้เป็น Smart Station เปิดให้เป็นตลาดจำหน่ายสินค้า OTOP อย่างยั่งยืน โดยจะต้องรายงานแผนการใช้พื้นที่ต่อกระทรวงฯ ภายใน 1 สัปดาห์  และตั้งเป้าหมายเปิดให้บริการพื้นที่ค้าขายต่างๆได้ภายในเดือนกรกฎาคม 2564 

        สำหรับการบริหารพื้นที่โดยรอบสถานีกลางบางซื่อ ประมาณ 2,000 กว่าไร่ รฟท. ยืนยันว่า พื้นที่ 5 แปลงแรก สามารถออกข้อกำหนดได้ทันที โดยให้เป็นสถานที่ทำงาน ศูนย์ราชการ ที่อยู่อาศัย พื้นที่เชิงพาณิชย์ และเป็น Smart City ส่วนที่เหลืออีก 4 แปลง ซึ่งเป็นพื้นที่จะต้องรื้อย้ายสิ่งต่าง ๆ ออกไป เช่น สถานีขนส่งผู้โดยสารของบริษัท ขนส่ง จำกัด เป็นต้น จะกำหนดระยะเวลาในการรื้อย้ายที่ชัดเจน เพื่อให้พื้นที่ทั้งหมดสามารถดำเนินการควบคู่กันได้


เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ข่าวที่เกี่ยวข้อง