รีเซต

เปิดขั้นตอนและเงื่อนไข กยศ.ปรับโครงสร้างหนี้สู้ภัยโควิด ผ่อนสูงสุด 30 ปี หักเงินเดือนขั้นต่ำ 10 บาท

เปิดขั้นตอนและเงื่อนไข กยศ.ปรับโครงสร้างหนี้สู้ภัยโควิด ผ่อนสูงสุด 30 ปี หักเงินเดือนขั้นต่ำ 10 บาท
Ingonn
3 สิงหาคม 2564 ( 15:23 )
2.7K

 

กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เตรียมปรับโครงสร้างหนี้ผู้กู้ยืม ปรับลำดับตัดชำระหนี้และปรับเงื่อนไขการผ่อนชำระ ส่วนผู้กู้ยืมที่อยู่ในระบบหักเงินเดือนสามารถขอปรับลดจำนวนเงินที่หักเหลือขั้นต่ำ 10 บาทต่อเดือน เพื่อช่วยเหลือผู้กู้ยืมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19

 

 

คณะกรรมการกองทุนฯ ได้มีมติเห็นชอบแนวทาง การปรับโครงสร้างหนี้ ปรับเปลี่ยนลำดับตัดชำระหนี้และเปลี่ยนเงื่อนไขการผ่อนชำระสำหรับผู้กู้ยืมกลุ่มก่อนฟ้องคดีเพื่อช่วยเหลือผู้กู้ยืมที่ค้างชำระและลดปัญหาหนี้ค้างชำระของกองทุน

 

 

 

 

วันนี้ TrueID จึงรวบรวมเงื่อนไข 3 แนวทางได้แก่ การปรับโครงสร้างหนี้ ปรับเปลี่ยนลำดับตัดชำระหนี้และเปลี่ยนเงื่อนไขการผ่อนชำระสำหรับผู้กู้ยืม กยศ. พร้อมแนวทางในการแจ้งความประสงค์ขอปรับโครงสร้างหนี้

 

 


1. การปรับโครงสร้างหนี้

 

คุณสมบัติผู้ขอความประสงค์

 

เหมาะสำหรับผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างผ่อนชำระหนี้ที่ยังไม่ถูกฟ้องคดี กรณีไม่สามารถผ่อนชำระเงินคืนตามเงื่อนไขของสัญญาเงินกู้ยืมเดิมได้

 

 

 

เงื่อนไขการปรับโครงสร้างหนี้ กยศ.


- สามารถผ่อนได้สูงสุด 30 ปี แต่ในการชำระเงินงวดสุดท้ายผู้กู้ยืมต้องมีอายุไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์

 


- กองทุนจะให้ผู้กู้ยืมมาตกลงขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการผ่อนชำระเงินคืน โดยทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ เงื่อนไขการผ่อนชำระเป็นรายเดือนในอัตราเท่ากันทุกเดือน

 


- กองทุนจะคำนวณยอดหนี้คงเหลือใหม่ โดยนำเงินที่ผู้กู้ยืมชำระหนี้เงินกู้ยืมคืนมาแล้วทั้งหมดมาปรับเปลี่ยนลำดับการตัดชำระใหม่ โดยตัดชำระดอกเบี้ยและเงินต้นตามงวดครบกำหนดชำระหนี้ จนครบจำนวนเงินที่ผู้กู้ยืมเงินชำระมาเท่านั้น สำหรับเบี้ยปรับในอดีตที่ตัดชำระไปแล้ว ถือว่าผู้กู้ยืมได้ชำระครบถ้วนแล้ว

 


- กองทุนจะนำเงินต้นคงเหลือและดอกเบี้ยคงเหลือใช้เป็นยอดหนี้ในการปรับโครงสร้างหนี้ ส่วนเบี้ยปรับคงค้างที่สะสมอยู่ในระบบจนถึงปัจจุบัน กองทุนจะให้ส่วนลดเบี้ยปรับในอัตราร้อยละ 80 และให้ชำระเบี้ยปรับคงเหลือร้อยละ 20 ในงวดสุดท้าย

 

 


ขั้นตอนการยื่นความประสงค์ปรับโครงสร้างหนี้ กยศ.

 

ผู้กู้ยืมสามารถแจ้งความประสงค์ขอปรับโครงสร้างหนี้ได้ที่แอปพลิเคชัน กยศ.Connect  หรือทางเว็บไซต์ https://wsa.dsl.studentloan.or.th ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป 

 


- เข้าเว็บไซต์ www.wsa.dsl.studentloan.or.th


- ลงชื่อเข้าใช้งาน กรอกเลขประจำตัวประชาชน และรหัสผ่าน


- เลือกเมนูขอปรับโครงสร้างหนี้ “ยื่นคำขอปรับโครงสร้างหนี้”


- ยืนยันข้อมูล ระบบจะให้ตรวจสอบข้อมูลที่ปรากฏ พร้อมให้ระบุ เบอร์โทรศัพท์มือถือ ทำเครื่องหมายถูกหน้าช่อง ข้าพเจ้ายืนยันข้อมูลฯ จากนั้นกดปุ่ม ยืนยัน


- หากสำเร็จระบบจะแสดงข้อความว่า “ระบบได้ส่งคำขอปรับโครงสร้างหนี้แล้ว”

 

 

โดยผู้กู้ยืมต้องตรวจสอบข้อมูลของตนเองและผู้ค้ำประกัน และ อัปเดตข้อมูลต่างๆให้เป็นปัจจุบัน เช่น เบอร์โทรศัพท์ e-mail ที่อยู่ที่สามารถติดต่อได้ สถานที่ทำงาน

 

 


การนัดหมายทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ 


กองทุนจะแจ้งให้ผู้กู้ยืมนัดวันทำสัญญาผ่าน กยศ. Connect / e-mail โดยผู้กู้ต้องระบุ วัน เวลา และสถานที่ ผู้กู้ยืมเงินและผู้ค้ำประกัน (ทุกราย) ต้องไปลงนามในสัญญาตามวันที่กำหนด โดยมีเอกสารที่ต้องจัดเตรียมไปในวันทำสัญญา ดังนี้

 

- สำเนาบัตรประชาชน ผู้กู้ + ผู้ค้ำประกัน (ทุกราย) หลักฐานการเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล (ถ้ามี)


- กรณีผู้ค้ำประกันเสียชีวิต ไม่ต้องหาผู้ค้ำประกันใหม่ เตรียมสำเนาใบมรณบัตรด้วย


- การเปลี่ยนแปลงผู้ค้ำประกันทำได้ในกรณี ผู้ค้ำประกันเดิมไม่ใช่ พ่อ-แม่-ญาติพี่น้อง และไม่ยินยอมมาทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้

 

 

 

2. การปรับเปลี่ยนลำดับการตัดชำระหนี้ใหม่

 

คุณสมบัติผู้ขอความประสงค์


สำหรับผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างผ่อนชำระเงินคืนกองทุนที่ยังไม่ถูกฟ้องคดี

 

 

 

เงื่อนไขคุณสมบัติผู้ขอความประสงค์


จากเดิมกองทุนมีวิธีการตัดลำดับการชำระหนี้ โดยตัดชำระเบี้ยปรับค้างชำระสะสม ดอกเบี้ยค้างชำระสะสม แล้วจึงตัดเงินต้นค้างชำระของงวดที่ค้างนานที่สุดก่อนตามลำดับ กองทุนจะปรับเปลี่ยนลำดับการตัดชำระใหม่ โดยจะนำเงินที่ได้รับชำระหนี้ไปตัดชำระเงินต้น และดอกเบี้ยของแต่ละงวด เริ่มจากงวดที่นานสุดก่อนแล้วจึงค่อยตัดชำระยอดหนี้ที่ค้างชำระนานรองลงมาตามลำดับ จนถึงงวดปัจจุบัน หากมีเบี้ยปรับให้นำมาชำระในงวดสุดท้าย

 

 

 

3. การปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการผ่อนชำระเงินคืน

 

คุณสมบัติผู้ขอความประสงค์


สำหรับผู้กู้ยืมรายใหม่ และผู้กู้ยืมที่ยังไม่ครบกำหนดชำระเงินคืน ลักษณะที่ 1 ลักษณะที่ 2 และลักษณะที่ 3

 

 

 

เงื่อนไขการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการผ่อนชำระเงินคืน


- จากเดิมต้องผ่อนงวดชำระเป็นรายปี กองทุนจะปรับให้ผู้กู้ยืมผ่อนงวดชำระเป็นรายเดือนในอัตราเท่ากันทุกเดือน โดยกำหนดชำระทุกวันที่ 5 ของทุกเดือน

 

- เพิ่มระยะเวลาการผ่อนชำระเงินคืนจากเดิมไม่เกิน  15 ปี ปรับเป็นไม่เกิน 30 ปี ขึ้นอยู่กับยอดหนี้เงินกู้ยืมของผู้กู้ยืมแต่ละราย


- ชำระเงินงวดสุดท้ายผู้กู้ยืมต้องมีอายุไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์

 

 

 

ลดจำนวนหักเงินเดือน เหลือเพียงเดือนละ 10 บาท


กองทุนยังมีแนวทางแบ่งเบาภาระของผู้ที่ถูกหักเงินเดือน โดยสามารถขอปรับลดจำนวนเงินที่หักเหลือเพียง 10 บาทต่อเดือน มีผลตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 - มิถุนายน 2565 

 

 

โดยผู้กู้ยืมสามารถแจ้งความประสงค์ขอปรับจำนวนเงินดังกล่าวผ่านแอปพลิเคชัน กยศ.Connect แต่ยังคงมีหน้าที่ไปชำระส่วนต่างตามจำนวนเงินงวดที่ต้องชำระตามเงื่อนไขของสัญญา 

 

 

แนวทางหักเงินเดือนผ่านองค์กรนายจ้าง

 

- ผู้กู้ยืมสามารถขอปรับลดจำนวนเงินที่นายจ้างหักและนำส่งกองทุนเพื่อชำระเงินงวดที่จะครบกำหนด วันที่ 5 กรกฎาคม 2565 และ/หรือผู้กู้ยืมที่ครบกำหนดชำระเป็นรายเดือน จากเดิมต้องไม่น้อยกว่า 100 บาทต่อเดือน เป็นคงเหลือต้องไม่น้อยกว่า 10 บาทต่อเดือน เป็นการชั่วคราว

 

- มีผลตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 - มิถุนายน 2565


- ผู้กู้ยืมจะต้องแจ้งความประสงค์ขอปรับจำนวนเงินดังกล่าวต่อกองทุนผ่านแอปพลิเคชัน กยศ.Connect

 


- ผู้กู้ยืมยังคงมีหน้าที่ไปชำระส่วนต่างตามช่องทางที่กองทุนกำหนดให้ครบตามจำนวนเงินงวดที่ต้องชำระตามเงื่อนไขของสัญญารายเดือน (ภายในวันที่ 5 ของทุกเดือน) และเงื่อนไขการชำระหนี้ของสัญญารายปี (ภายในวันที่ 5 กรกฎาคม 2565) แล้วแต่กรณี มิเช่นนั้นจะถือว่าผิดนัดชำระหนี้

 

และต้องชำระเงินเพิ่มอันได้แก่ เบี้ยปรับหรือค่าธรรมเนียมกรณีผิดนัดชำระเงินคืนตามอัตราที่กองทุนฯ กำหนดของเงินต้นงวดที่ค้างชำระ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการแจ้งการหักเงินได้พึงประเมินด้วยระบบรับชำระเงินกู้ยืมคืนกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาผ่านกรมสรรพากร (e-PaySLF)

 

- หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่ไลน์บัญชีทางการ กยศ.หักเงินเดือน

 

 


หากผู้กู้ยืมยังไม่สามารถชำระหนี้ได้ในสถานการณ์นี้ กองทุนได้ลดเบี้ยปรับให้เหลือเพียง 0.5% รวมทั้งชะลอการฟ้องคดี บังคับคดี ยกเว้นคดีที่จะขาดอายุความ และงดการขายทอดตลาดไว้จนถึงสิ้นปีนี้

 

 

 

 

 

วิธีการใช้งาน กยศ. Connect

 

 

 

 


ข้อมูลจาก กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)

 

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง