รีเซต

ไวรัสโคโรนา : ธนาคารโลกชี้โควิด-19 ซ้ำเติมสถานการณ์ความยากจนในเอเชีย ในไทยธุรกิจท่องเที่ยว-ค้าปลีกอ่วมสุด

ไวรัสโคโรนา : ธนาคารโลกชี้โควิด-19 ซ้ำเติมสถานการณ์ความยากจนในเอเชีย ในไทยธุรกิจท่องเที่ยว-ค้าปลีกอ่วมสุด
บีบีซี ไทย
31 มีนาคม 2563 ( 13:28 )
221
2

รายงานคาดการณ์เศรษฐกิจล่าสุดของธนาคารโลกที่เผยแพร่วันนี้ (31 มี.ค.) ประเมินว่าการระบาดของโควิด-19 จะสร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งไทย โดยในกรณีเลวร้ายที่สุดอาจจะส่งผลให้มีคนที่อยู่ใต้เส้นแบ่งความยากจนเพิ่มขึ้นอีก 11 ล้านคน

ก่อนหน้านี้คาดว่าจะมีคนหลุดพ้นความยากจนในภูมิภาคนี้ 35 ล้านคน (ในจำนวนนี้รวมในจีนราว 25 ล้านคน) แต่จากรายงานฉบับนี้ประเมินหลังจากวิกฤตโควิด-19 ในกรณีเลวร้ายที่สุดอาจจะส่งผลให้มียังคนอยู่ใต้เส้นแบ่งความยากจนเพิ่มขึ้น 11 ล้านคน และทำให้กลุ่มผู้ที่จะหลุดพ้นความยากจนจริง ๆ ในภูมิภาคนี้ลดลงต่ำกว่าคาดการณ์มาอยู่ที่ราว 24 ล้านคน

ในรายงานดังกล่าวยังระบุอีกว่า "ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ใหญ่หลวงในครั้งนี้ ยากที่จะหลีกเลี่ยงได้สำหรับทุกประเทศ" แต่ผลกระทบจะเลวร้ายมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับความเปราะบางของอุตสาหกรรมแต่ละประเภทที่จะได้รับผลกระทบจากวิกฤตการระบาดโควิด-19

โดยกรณีเลวร้ายที่สุดนั้น ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าประชาชนเกือบ 35 ล้านคนยังคงอยู่ในสภาพยากจน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นคนยากจนในจีน 25 ล้านคน

ทั้งนี้ ธนาคารโลกนิยามคนยากจนว่าเป็นผู้ที่มีรายได้ยังชีพไม่เกิน 5.50 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 180 บาทต่อวัน

"หลายชาติในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกซึ่งเผชิญกับภาวะความตึงเครียดทางการค้าระหว่างประเทศและการระบาดของไวรัสโควิด-19 กำลังเผชิญกับภาวะชะงักงันระดับโลก ข่าวดีก็คือภูมิภาคนี้ยังคงมีจุดแข็ง แต่บางประเทศจำเป็นต้องมีมาตรการรับมืออย่างรวดเร็วและเข้มข้นกว่าที่เคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้" นางวิคตอเรีย กวากวา รองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกล่าว

ธนาคารโลกได้ยกตัวอย่างอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบอย่ากหนักได้แก่ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศไทยและกลุ่มหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก และกลุ่มภาคการผลิตในเวียดนามและกัมพูชา โดยภาพรวมในปีนี้ เศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกคาดว่าจะขยายตัวราว 2.1% ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดเผยเมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมาว่า สถานการณ์โรคระบาดไวรัส COVID-19 กระทบต่อตลาดการเงิน เศรษฐกิจ และสังคม ทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน กนง. ปรับลดการขยายตัวของเศรษฐกิจลงเป็น 5.3% ในปีนี้ ก่อนที่คาดว่าจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ 3.0% ในปีหน้า

ท่องเที่ยว-ค้าปลีกไทยอ่วม

สำหรับมุมมองของธนาคารโลกต่อเศรษฐกิจของไทย รายงานฉบับนี้ได้ฉายภาพให้เห็นถึงปัญหาที่ไทยต้องเผชิญทั้งก่อนและหลังการระบาดของโควิด-19

เริ่มต้นด้วยผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศที่เรื้อรังมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง รวมถึงภัยแล้ง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจในปีที่แล้วต่ำกว่าเป้าหมาย

นี่ยังไม่รวมกับปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2563 ที่ล่าช้า ซึ่งส่งกระทบต่อภาคการบริโภคของประชาชน ท่ามกลางภัยแล้งที่ยังคงบั่นทอนภาคการผลิตอย่างภาคการเกษตรอีกด้วย

ในขณะที่ต้นปีนี้ การระบาดของโควิด-19 ก็ได้สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญต่อไทย เช่น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ถือว่ามีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยด้วยสัดส่วนเกือบ 16% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) จะได้รับผลกระทบจากการที่จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงอย่างฮวบฮาบ โดยในเดือนกุมภาพันธ์มีนักท่องเที่ยวลดลงถึง 45% และในเดือนมีนาคมลดลง 67% ซึ่งเป็นผลจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ

ผลกระทบจากโรคโควิด-19 ยังส่งผละกระทบต่อปัจจัยขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจภายในประเทศอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนที่ถูกฉุดลงต่ำสุดในรอบ 5 ปี ส่วนตลาดหลักทรัพย์ของไทยก็ต้องเผชิญกับภาวะผันผวนอย่างหนัก ทำให้มีนักลงทุนเทขายหุ้นออกมาอย่างต่อเนื่องทำให้การซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของไทยลดลงถึง 30.8%

ธนาคารโลกคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงยังคงเป็นปัจจัยกระทบต่ออุตสาหกรรมนี้ ในขณะที่การบริโภคของภาคครัวเรือนที่ลดลงจะส่งผลกระทบต่อกลุ่มอุตสาหกรรมค้าปลีก ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากมาตรการต่าง ๆ ทางสาธารณสุขที่ภาครัฐออกมาเพื่อควบคุมโรคระบาด เช่น การเว้นระยะห่างทางสังคม

นอกจากนี้สภาพการณ์เช่นนี้จะจะส่งผลกระทบต่อกลุ่มห่วงโซ่อุปทาน สำคัญของไทย อย่างกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่สำคัญต่อภาคการส่งออกของไทยอีกด้วย

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง