รีเซต

จังหวัดปัตตานีรวมจุดเด่นอัตลักษณ์พื้นถิ่น "ผ้าบาติก" ทุกรูปแบบสู่ตลาดสากล

จังหวัดปัตตานีรวมจุดเด่นอัตลักษณ์พื้นถิ่น "ผ้าบาติก" ทุกรูปแบบสู่ตลาดสากล
TNN ช่อง16
4 กันยายน 2566 ( 17:18 )
136

จังหวัดปัตตานี รวมจุดเด่นอัตลักษณ์พื้นถิ่น "ผ้าบาติก" ทุกรูปแบบ ร่วมพัฒนาลวดลายและผลิตภัณฑ์ผ้าพื้นถิ่นสู่ตลาดสากล 


เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดปัตตานี นำโดย นายธีรวิทย์ กู้เกียรติ พัฒนาการจังหวัดปัตตานี กล่าวรายงานการจัดกิจกรรม : พัฒนาลวดลายและผลิตภัณฑ์พื้นถิ่นสู่การเผยแพร่อัตลักษณ์ผ้าปัตตานี ตามโครงการสืบสานอนุรักษ์ภูมิปัญญาผ้าไทยและยกระดับสู่ผลิตภัณฑ์ร่วมสมัย ภายใต้โครงการตามแผนปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ของจังหวัดปัตตานี 



โดยมี นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เป็นประธานเปิดโครงการฯ ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายที่เป็นสมาชิกกลุ่มผู้ผลิตและผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย จังหวัดปัตตานี 150 คน จาก 30 กลุ่มผู้ประกอบการ มีเจ้าหน้าที่โครงการและเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกิจกรรมในพิธีเปิดโครงการในวันนี้ ณ ห้องน้ำพราว 1 โรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี โดยกิจกรรมดังกล่าวมีกำหนดจัดขึ้น 3 วัน ระหว่างวันที่ 28 – 30 สิงหาคม พ.ศ. 2566


กิจกรรม : พัฒนาลวดลายและผลิตภัณฑ์พื้นถิ่นสู่การเผยแพร่อัตลักษณ์ผ้าปัตตานี จัดขึ้นเพื่อกระตุ้นให้เกิดการสืบสานภูมิปัญญา การพัฒนาและเพิ่มศักยภาพผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ในการพัฒนาอัตลักษณ์ เสริมสร้างภาพลักษณ์และการรับรู้คุณค่าของผลิตภัณฑ์ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกายสู่ระดับสากล สามารถแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้าให้มีคุณภาพมาตรฐานที่สูงขึ้น เพิ่มมูลค่าและขยายตลาดเชิงพาณิชย์ได้มากขึ้น 



โดยได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าและแฟชั่นของเมืองไทย นำโดย นายธนันท์รัฐ โจ ธนเสฏฐการย์ ที่ปรึกษาโครงการ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และคณะฯ ร่วมเป็นวิทยากรพิเศษบรรยายและถ่ายทอดให้ความรู้ในกิจกรรม ดังนี้


1) การวิเคราะห์เทรนโลก ตลาดเป้าหมาย พฤติกรรมผู้บริโภคและออกแบบแนวคิดการจัดทำคอลเลคชั่น Collection

2) การกระตุ้น เสริมสร้างแนวคิดสร้างสรรค์ การค้นหาต้นทุนทางอัตลักษณ์ท้องถิ่น มาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม

3) วิเคราะห์ศักยภาพ การกำหนดโจทย์แนวคิดผลิตภัณฑ์ความต้องการพัฒนาและแก้ไขปัญหา

4) เทคนิคกระบวนการผลิตสิ่งทอต่าง ๆ เช่น การพิมพ์ การเขียน การมัด การเย็บ การทอ การฟอก การสกัดสี การย้อมสี การเลือกใช้สี ปัญหาที่พบบ่อยและแนวทางการแก้ไขปัญหา

5) การสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์

6) กิจกรรมเวิร์คช็อปร่วมกับวิทยากรที่มีความรู้ความสามารถด้านงานผ้า “ร่าง” แบบ หรือลวดลาย เทคนิคต่าง ๆ

7) เทคนิคการควบคุมมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ รวมถึงการวิเคราะห์การตลาด

8) การสร้างแบรนด์ ภาพลักษณ์ของแบรนด์



นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อวงการผ้าไทยที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งส่งเสริมให้พวกเราคนไทยทุกคนได้สวมใส่ผ้าไทยที่หลากหลายในรูปแบบที่มีความทันสมัยสู่สากล เป็นที่นิยมในทุกเพศ ทุกวัย ทุกโอกาส 


ซึ่งการที่จะสวมใส่ผ้าไทยในทุกโอกาสได้นั้น ขึ้นอยู่กับการพัฒนาลวดลายให้หลากหลายและออกแบบตัดเย็บที่น่าสนใจ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ด้านผ้าไทยมาถ่ายทอดความรู้แก่ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP และช่างทอผ้า เพื่อให้มีทักษะความรู้ นำไปสร้างอาชีพที่มั่นคง สามารถเพิ่มพูนรายได้ 

 


นอกจากนี้ พระองค์ทรงสอนให้พวกเราทุกคนมีความรับผิดชอบต่อโลกใบเดียวของเรา ทรงให้ความสำคัญกับการใช้สีธรรมชาติ เช่น การปลูกพืชและต้นไม้ให้สีธรรมชาติ การใช้วัสดุจากท้องถิ่น เป็นต้น ด้วยพระอัจฉริยภาพดังกล่าว กลายเกิดเป็น Sustainable Fashion หรือ "แฟชั่นแห่งความยั่งยืน" 


โดยนำสิ่งรอบตัวจากธรรมชาติมาผสมผสาน รวมถึงทรงส่งเสริมเรื่องการตลาดในการเพิ่มเรื่องเล่า Story Telling การพัฒนารูปแบบ Packaging และจัดกิจกรรมกระตุ้นให้เกิดการสวมใส่ ผ้าไทยเป็นวิถีชีวิตในชีวิตประจำวัน รวมทั้งการถ่ายทอดภูมิปัญญาสู่เด็ก เยาวชนคนรุ่นต่อไป เพื่อให้ภูมิปัญญาเหล่านี้อยู่คู่กับสังคมไทยไปชั่วกาลนาน 



ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว ยังมุ่งหวังให้ผู้ผลิตและผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย ทั้ง 30 กลุ่ม ในพื้นที่ 12 อำเภอ ของจังหวัดปัตตานี ได้ร่วมพัฒนาสินค้าให้มีอัตลักษณ์ มีรูปแบบในการผลิตสินค้าที่สวยงามร่วมสมัย รวมทั้งการพัฒนาสินค้าที่มีคุณภาพและสื่อให้เห็นถึงความแตกต่างอย่างมีคุณค่า ส่งเสริมให้สามารถเข้าถึงตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดที่มีมูลค่าสูง 



เพื่อให้สามารถสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับผู้ประกอบการ รวมทั้งสนับสนุนให้มีการจัดแสดงผลงานที่ผ่านการออกแบบและพัฒนาโดยใช้ผ้าไทยผ้าพื้นถิ่น ในพื้นที่เป็นวัตถุดิบในการผลิต สามารถกระตุ้นรณรงค์และเสริมสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมให้ประชาชนในพื้นที่ได้เข้ามามีส่วนช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงาน พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์การใช้และสวมใส่ผ้าไทยได้อย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น



ข่าวที่เกี่ยวข้อง