รีเซต

ล้วงลึก!งบปี64 ทำไมตั้งสูงถึง 3.3 ล้านล้านบาท

ล้วงลึก!งบปี64 ทำไมตั้งสูงถึง  3.3 ล้านล้านบาท
TNN ช่อง16
3 กรกฎาคม 2563 ( 14:31 )
506
ล้วงลึก!งบปี64 ทำไมตั้งสูงถึง  3.3 ล้านล้านบาท

        การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ของรัฐบาลในครั้งนี้ ตามมติที่ประชุมครม. เห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่าย ที่วงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท ที่ตั้งเป้าหมายว่าจะใช้กระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายใต้งบก้อนนี้ หนุนจีดีพี ปี 2564 โตได้ที่ร้อยละ 4.8 

        ซึ่งงบฯปี64 นี้ได้เพิ่มขึ้น 1 แสนล้านบาทจากงบฯปี 63 ถือว่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1  ประกอบด้วย รายจ่ายประจำ 2.5 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 จำนวน 115,685.6 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8   รายจ่ายลงทุนอยู่ที่ 693,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 จำนวน 37,194.3 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7  จากสัดส่วนวงเงินงบประมาณร้อยละ 21 เป็นไปตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง และมีรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ วงเงิน 99,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 จำนวน 9,829.6 ล้านบาท


         สำหรับประมาณการรายได้สุทธิปี 2564 อยู่ที่ 2.77 ล้านล้านบาท งบประมาณขาดดุลอยู่ที่ 523,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 จำนวน 54,000 ล้านบาท

         อย่างไรก็ดี งบประมาณรายจ่ายที่รัฐบาลจัดทำขึ้น หลักการสำคัญคือต้องสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ.2561-2562) แผนแม่บทภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 รวมถึงนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ  แผนการปฏิรูปประเทศและนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ต้องการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศเพื่อไปสู่เป้าหมายของการเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ตามวิสัยทัศน์ที่ว่า ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

        โดยงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ประกอบด้วย รายการค่าดำเนินการภาครัฐ แบ่งออกเป็น แผนงานบริหารเพื่อรองรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 139,825.6 ล้านบาท และแผนงานบริหารจัดการหนี้ภาครัฐอีกจำนวน 293,454.3 ล้านบาท รวมเป็น  433,279.9 ล้านบาท

        ในการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 64 นั้น มีการตั้งข้อสังเกตว่าภายใต้งบฯรายจ่ายปี64  มีการตั้งงบกลางไว้สูง  ซึ่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ชี้แจงแล้วว่า  ส่วนหนึ่งเป็นงบประมาณรายจ่ายที่จะต้องใช้จ่ายประจำ รวมถึงรองรับกรณีภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น ถ้าหากไม่ปัญหาภัยพิบัติ ก็นำงบส่วนนี้ไปเพิ่มเติมให้ในส่วนท้องถิ่นที่มีความต้องการ งบกลางจึงมีความจำเป็นที่จะนำมาใช้ ขณะเดียวกันการอนุมัติงบฯต่างๆมีคณะกรรมการกลั่นกรองคอยดูแลและพิจารณาร่วมกัน กว่าที่งบฯจะจัดสรรให้แต่ละหน่วยงาน 


CR: thaigov.ac.th 

        นอกจากนี้ภายใต้งบฯรายจ่ายปี 64 ที่เหลือจะเป็นงบสำหรับงานยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ด้าน ที่ประกอบด้วย แผนงานรวม 61 แผนงาน ได้แก่

        1.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม  จำนวน 795,806.1 ล้านบาท มีทั้งหมด 11 แผนงาน  อาทิ แผนงานยุทธศาสตร์ส่งเสริมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ได้รับการจัดสรรงบ มากที่สุด คือ 319,232.8 ล้านบาท  

        2.ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์  จำนวน 577,755.2 ล้านบาท มี 8 แผนงาน ซึ่งส่วนใหญ่ถูกจัดสรรอยู่ในแผนงานบุคลากรภาครัฐ 417,039.2 ล้านบาท 

        3.ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ จำนวน 556,528.7 ล้านบาท มี 7 แผนงาน โดย แผนงานพื้นฐานด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐจะได้รับจัดสรรมากที่สุดที่ 430,387.9 ล้านบาท  

        4.ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง  416,003.9 ล้านบาท ประกอบด้วย 13 แผนงาน  งบส่วนใหญ่ของยุทธศาสตร์นี้อยู่ที่แผนงานของบุคลากรภาครัฐได้รับจัดสรรมากที่สุด 193,813.8 ล้านบาท

        5.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 402,310.9 ล้านบาท มี 16 แผนงาน ซึ่งแผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ ได้รับจัดสรรงบมากที่สุด จำนวน 109,023.8 ล้านบาท  

       และ 6.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จำนวน 118,315.3 ล้านบาท รวม  9 แผนงาน  โดยที่แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำได้รับจัดสรรงบมากที่สุด จำนวน  66,738.2 ล้านบาท 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com
facebook : TNNThailand
facebook live : TNN Live
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNThailand
Instagram : @tnn_online
TIKTOK : @tnnonline

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง