รีเซต

ศึกรถไฟฟ้าเดือด สภาผู้บริโภคเบรกสายสีเขียวขึ้นราคา-บิ๊กป้อมสอบ 'สส.' งดออกเสียง

ศึกรถไฟฟ้าเดือด สภาผู้บริโภคเบรกสายสีเขียวขึ้นราคา-บิ๊กป้อมสอบ 'สส.' งดออกเสียง
มติชน
7 มีนาคม 2564 ( 13:39 )
133
ศึกรถไฟฟ้าเดือด สภาผู้บริโภคเบรกสายสีเขียวขึ้นราคา-บิ๊กป้อมสอบ 'สส.' งดออกเสียง

เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2564 มีรายงานว่า สถานการณ์โครงการและการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว รวมถึงการเปิดรับฟังความเห็นรอบใหม่และการเปิดประมูลรอบใหม่สัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ) ยังคงอยู่ในกระแสความสนใจของภาคส่วนต่างๆ ในสังคม โดยวานนี้ ที่พรรคภูมิใจไทย มีการเปิดเวทีสัมมนาหัวข้อ “ชำแหละค่ารถไฟฟ้า ที่เหมาะสม” สะท้อนปัญหาค่าโดยสารราคาแพง โดยเฉพาะประเด็นสายสีเขียว มีตัวแทนจากผู้เกี่ยวข้องส่วนต่างๆ ร่วมแสดงความเห็นทางวิชาการอย่างคึกคัก รวมถึงส.ส.ภูมิใจไทย ตัวแทนสภาองค์กรผู้บริโภคและสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่ง ประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ระบุว่า ปัญหาค่าครองชีพในปัจจุบันเป็นภาระหนักของประชาชน เป็นข้อเท็จจริงที่ทราบกันว่าค่ารถไฟฟ้าในปัจจุบันมีราคาแพง โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นผู้ดูแลโดยตรงนั้นมีราคาสูง ตามที่มีการออกประกาศของ กทม. เรื่องปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว 104 บาทตลอดสาย เมื่อวันที่ 15 ม.ค.2564 และในประกาศระบุไว้ว่า มีผล 16 ก.พ.2564 เป็นเหตุให้ตนและ ส.ส.ของพรรคภูมิใจไทย ไปดำเนินการยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อให้พิจารณายับยั้งการขึ้นราคา พร้อมทั้งให้พิจารณาว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เนื่องจากมองว่า เรื่องค่าโดยสารรถไฟฟ้า เป็นเรื่องสำคัญของประชาชน อีกทั้งระบบรถไฟฟ้า ควรเป็นระบบขนส่งสาธารณะที่ประชาชนทุกคนต้องเข้าถึงได้ และไม่เป็นภาระของประชาชน

“แม้ว่าล่าสุดกทม.จะประกาศเลื่อนการปรับขึ้นราคาดังกล่าว และศาลได้มีคำสั่งทุเลาการยื่นฟ้องนั้น ผมยังเชื่อว่า โอกาสที่ กทม.จะขึ้นราคาค่าโดยสาร ยังมีแน่นอน ผมจะเฝ้าจับตามอง และติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพราะประกาศของ กทม.ระบุไว้ว่า เลื่อนไม่ได้ยกเลิก ซึ่งหลังจากนี้ ถ้า กทม.มีประกาศอีกเมื่อไหร่ เราจะไปฟ้องร้องอีก เพราะราคา 104 บาทตลอดสาย ไม่ใช่ขนส่งมวลชนสาธารณะที่ทุกคนใช้ได้” นายสิริพงศ์กล่าว

ด้าน นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า เหตุใด กทม. ถึงต้องหวังมีกำไรรถไฟฟ้า เนื่องจากการเป็นการให้บริการขนส่งสาธารณะกับประชาชน ซึ่งควรพิจารณานำกำไรที่ได้ มาเฉลี่ยเป็นค่ารถไฟฟ้าให้ถูกลง ซึ่งถ้า กทม. ทำไม่ได้ รัฐก็ไม่ควรต่อสัญญา ควรชะลอให้ผู้ว่า กทม.คนใหม่เข้ามาตัดสินใจ เพราะดิฉันเชื่อว่า ราคาจะถูกลงได้ นอกจากนี้ ควรมาทบทวนทั้งระบบ โดยจะต้องมีราคาที่ถูกลง หรือไม่เกิน 10% ของค่าแรงขั้นต่ำ และบอกมาเลยว่า ต้องมีสัญญาสัมปทานกี่ปี ค่ารถไฟฟ้าถึงลดลงได้ ตอนนี้ถือเป็นโอกาสของผู้ว่า กทม. คนปัจจุบัน ย้ำว่า ถ้าทำไม่ได้ ต้องไม่ต่อสัญญา

รายงานข่าวระบุว่า ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และ 9 รัฐมนตรีที่เพิ่งผ่านพ้นไป ประเด็นเรื่องสายสีเขียวก็ได้ถูกหยิบยกมาอภิปรายฯ เช่นกัน อาทิ นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นมากล่าวถึงปมสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย โดยชี้คสช.ใช้ ม.44 ทำนิติกรรมอำพรางเพื่อหนี พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ และ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ขณะที่ค่าโดยสารแพงเกินไปกระทั่งทำให้ประชาชนเดือดร้อนและยังขัดต่อรัฐธรรมนูญ อีกข้อสงสัยคือเดิมส่วนต่อขยายสายสีเขียว อยู่ในความรับผิดชอบของรฟม. ทั้งการขยายไปถึงคูคต จ.ปทุมธานี และเคหะบางปู จ.สมุทรปราการ ซึ่งไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของกทม. แต่กลับไปรับมาดูแล พร้อมรับภาระหนี้ 4.5 หมื่นล้านบาท แล้วก็ใช้วิธีต่อสัมปทาน 30 ปี เพื่อให้บริษัทเอกชนกลุ่มหนึ่งรับภาระหนี้แทน รวมทั้งการอ้างว่าไม่มีเงินจ้างเดินรถ จนเป็นหนี้ 8 พันล้านบาท จนเอกชนขู่หยุดวิ่ง เหมือนเอาประชาชนไปเป็นตัวประกัน จึงต้องถามว่าแล้วเงินค่าโดยสารที่เก็บไปตลอดนั้นไปอยู่ที่ไหน

นอกจากนั้น ในการอภิปรายฯ ยังมีการพูดถึงประเด็นโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันตก ซึ่งทางหน่วยงานการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. ตัดสินใจเปิดประมูลใหม่ โดยนำปัจจัยเรื่อง “เทคนิคการก่อสร้าง” มาเป็นองค์ประกอบในการพิจารณาผู้ได้รับสัมปทานด้วยนอกเหนือจากการเสนอเรื่องตัวราคาเพียงอย่างเดียว ซึ่งนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจากพรรคภูมิใจได้ชี้แจงเอาไว้ว่า โครงการสายสีส้มดังกล่าวปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 และให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อปี 2563 ที่ให้ดำเนินการโครงการรูปแบบ PPP Net Cost รอหาเอกชนมาร่วมลงทุน คาดว่าจะเปิดให้บริการราวเดือนเมษายน 2570

นายศักดิ์สยาม อธิบายด้วยว่า ขอยืนยันว่ากระบวนการคัดเลือกเอกชนผู้ลงทุนโดยใช้ราคาและคุณภาพก็เพราะเป็นเรื่องการขุดอุโมงค์ ที่ผ่านมาการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าบางสายก็มีปัญหาเรื่องสิ่งปลูกสร้างแตกร้าว เช่น เกิดน้ำรั่วไหลเข้าไปในสถานี ทำให้เทคนิคการก่อสร้างมีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ต้องผ่านชุมชนหนาแน่น ซึ่งเป็นย่านเศรษฐกิจ การค้า รวมถึงพื้นที่สำคัญอื่นๆ เช่น เกาะรัตนโกสินทร์ วังหน้า วังหลัง ลอดแม่น้ำเจ้าพระยา จะดูแต่ราคาอย่างเดียวคงไม่ได้ ส่วนการยกเลิกการเปิดซองครั้งและเปิดประมูลใหม่เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นการดำเนินการตามกฎหมายที่สงวนให้มีการยกเลิกได้ ผู้ยื่นข้อเสนอไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียได้ และหารือร่วมกับสำนักนายกฯ แล้ว พร้อมทั้งสั่งการให้ รฟม. ดำเนินการตามระเบียบอย่างเคร่งครัด

รัฐมนตรีคมนาคม ชี้แจงด้วยว่า ข้อกล่าวหาว่าการดำเนินการเอื้อประโยชน์เอกชน ตนขอถามกลับว่า เอื้อประโยชน์ใคร ใครได้ประโยชน์ เพราะโครงการนี้ยังไม่มีการประกาศผลว่าใครชนะ ยังไม่มีการเปิดซอง ยืนยันว่ากระทรวงคมนาคมดำเนินการตามกฎหมายที่ให้อำนาจหน้าที่ และนายกรัฐมนตรีรับทราบสั่งการมาตลอด

ทั้งนี้ ภายหลังจบการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ปรากฎว่าเกิดปัญหาทางการเมืองขึ้น เมื่อส.ส.พปชร.กลุ่มหนึ่ง งดออกเสียงไว้วางใจนายศักดิ์สยาม รัฐมนตรีคมนาคม โดยอ้างว่า ชี้แจงเรื่องสายสีส้มไม่ชัดเจน ขณะที่มีข้อมูลเผยแพร่ทางสื่อมวลชนว่าสาเหตุของเรื่องเชื่อมโยงถึงทุนเอกชนกลุ่มหนึ่งที่ดูแลโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว และกำลังมีอุปสรรคเรื่องการประมูลโครงการสายสีส้ม ผลลัพธ์ที่ตามมา ทำให้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพปชร. จัดกระบวนทัพปราม สั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงขึ้นมาสอบสวนกลุ่มส.ส.ดังกล่าว

ด้านนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขาธิการ พปชร. เปิดแถลงข่าวกล่าวแสดงความเสียใจ และขอโทษจากใจต่อนายศักดิ์สยาม รมว.กระทรวงคมนาคมและเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย รวมทั้งพรรคภูมิใจไทย กรณีงดออกเสียงดังกล่าวทั้งนี้ รมว.คมนาคมชี้แจงได้ในทุกประเด็น และไม่มีสมาชิกพปชร. คนใดสงสัยในการอภิปรายที่ผ่านมา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง