ผู้คน 1ใน 4 ทั่วโลกขาดแคลน 'น้ำดื่มปลอดภัย' ในบ้าน ถ่วงหยุดโรคระบาด
เจนีวา, 2 ก.ค. (ซินหัว) -- เมื่อวันพฤหัสบดี (1 ก.ค.) องค์การอนามัยโลก (WHO) และกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติหรือยูนิเซฟ (UNICEF) รายงานว่าผู้คนราว 1 ใน 4 ขาดแคลนน้ำดื่มที่ได้มีการจัดการอย่างปลอดภัยในบ้านพักอาศัยในปี 2020 และเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรโลกขาดแคลนสุขอนามัยที่มีการจัดการอย่างปลอดภัย
รายงานระบุว่าโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ได้ตอกย้ำความจำเป็นเร่งด่วนในการสร้างความมั่นใจว่าทุกคนสามารถเข้าถึงสุขอนามัยของมือที่ดีได้ เนื่องจากช่วงเริ่มต้นของการระบาดใหญ่พบว่า 3 ใน 10 ของผู้คนทั่วโลกไม่สามารถล้างมือด้วยสบู่และน้ำภายในบ้านของตนเองได้
"การล้างมือเป็นหนึ่งในวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการป้องกันการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 และโรคติดเชื้ออื่นๆ แต่ผู้คนหลายล้านคนทั่วโลกไม่สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำที่สะอาดและปลอดภัยได้" ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การฯ กล่าว
ด้านเฮนเรียตตา ฟอร์ ผู้อำนวยการบริหารยูนิเซฟ เสริมว่าแม้กระทั่งก่อนเกิดโรคระบาดใหญ่ เด็กและครอบครัวหลายล้านครอบครัวต้องทนกับความยากลำบาก โดยปราศจากน้ำสะอาด สุขอนามัยที่ปลอดภัย และสถานที่ล้างมือ
รายงานระบุว่าช่วงปี 2016-2020 มีประชากรโลกที่เข้าถึงน้ำดื่มที่มีการจัดการอย่างปลอดภัยภายในบ้านเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 70 สู่ร้อยละ 74 มีบริการสุขาภิบาลที่มีการจัดการอย่างปลอดภัยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 47 สู่ร้อยละ 54 และมีสถานที่ล้างมือด้วยสบู่และน้ำเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 67 เป็นร้อยละ 71 ซึ่งแม้มีความก้าวหน้าแต่ยังคงไม่เพียงพอ โดยภูมิภาคแอฟริกาใต้ทะเลทรายซาฮารา (Sub-Saharan Africa) มีอัตราความก้าวหน้าช้าที่สุดในโลก
รายงานเน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนด้านการลงทุน ระบุว่าผู้คนหลายพันล้านคนทั่วโลกจะไม่สามารถเข้าถึงบริการน้ำดื่ม สุขาภิบาล และสุขอนามัยที่มีการจัดการอย่างปลอดภัยในปี 2030 ได้ เว้นแต่ว่าจะมีอัตราความก้าวหน้าเพิ่มขึ้น 4 เท่า
"หากเราต้องการจะยุติการแพร่ระบาดนี้และสร้างระบบสุขภาพที่ดีมากขึ้น การลงทุนในน้ำ สุขาภิบาล และสุขอนามัย จะต้องได้รับการลำดับความสำคัญเป็นอันดับแรกในระดับโลก" ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกกล่าว