สิงคโปร์เอาจริง ! ประกาศแบนเรือที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล
หน่วยงานกำกับดูแลอุตสาหกรรมการเดินเรือในประเทศสิงคโปร์ (Maritime and Port Authority of Singapore หรือ MPA) ได้กำหนดให้ภายในปี 2030 เรือเดินทะเลลำใหม่ทั้งหมดจะต้องเป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งสามารถใช้เชื้อเพลิงชีวภาพบี 100 (B100) หรือเชื้อเพลิงที่รองรับกับนโยบายไร้การปลอดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbondioxide) ได้ เช่น เชื้อเพลิงไฮโดรเจน (Hydrogen) เพื่อรองรับนโยบายท่าเรือไร้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในปี 2050
“การเปลี่ยนผ่านไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนต้องใช้เวลา เราต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยมลพิษสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2050” - นายชี ฮง ทัท (Chee Hong Tat) รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมอาวุโสกล่าวในคำปราศรัยของรัฐสภา
ตัวอย่างโครงการนำร่อง
โดยทางหน่วยงานกำกับดูแลอุตสาหกรรมการเดินเรือในประเทศสิงคโปร์ได้ริเริ่มโครงการนำร่อง เช่น การนำเรือเฟอร์รีไฟฟ้าลำแรกของท่าเรือมาใช้, การนำเรือไฮโดรโมเวอร์ (Hydromover) ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมดลำแรกมาใช้ ซึ่งมีกำหนดการเปิดตัวในปีนี้, การเปิดตัวสถานีชาร์จไฟฟ้าแห่งแรกสำหรับเรือเดินทะเลไฟฟ้าที่จะเปิดให้บริการในปีนี้ รวมถึงการเปิดตัวแผนสถานีชาร์จขนาดใหญ่ขึ้นสำหรับท่าเรือที่ระบุว่าจะแล้วเสร็จในปี 2025
สำหรับท่าเรือสิงคโปร์ตั้งอยู่บนชายฝั่งทางตอนใต้ของสิงคโปร์ ตามแนวช่องแคบสิงคโปร์และช่องแคบมะละกา โดยมีท่าเรือหกแห่ง ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางสำคัญสำหรับการขนส่งและการค้าทั่วโลกจนได้รับการขนานนามว่าเป็นศูนย์กลางการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก อีกทั้งยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกและโครงสร้างพื้นฐานขั้นสูง
การปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการขนส่งระหว่างประเทศ
โดยนโยบายท่าเรือไร้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของหน่วยงานกำกับดูแลอุตสาหกรรมการเดินเรือในประเทศสิงคโปร์ต้องการที่จะแก้ปัญหาการปลดปล่อยมลพิษจากการเดินเรือ ซึ่งการขนส่งระหว่างประเทศคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกและกำลังเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ข้อมูลจาก electrek
ภาพจาก Ministry of Transport