รีเซต

‘บล.หยวนต้า’ ประเมินหุ้นแบงก์เจอปัจจัยลบเฉพาะตัว ทำบรรยากาศภาพรวมตลาดซึมลง

‘บล.หยวนต้า’ ประเมินหุ้นแบงก์เจอปัจจัยลบเฉพาะตัว ทำบรรยากาศภาพรวมตลาดซึมลง
มติชน
23 มิถุนายน 2563 ( 03:33 )
55
‘บล.หยวนต้า’ ประเมินหุ้นแบงก์เจอปัจจัยลบเฉพาะตัว ทำบรรยากาศภาพรวมตลาดซึมลง

‘บล.หยวนต้า’ ประเมินหุ้นแบงก์เจอปัจจัยลบเฉพาะตัว ทำบรรยากาศภาพรวมตลาดซึมลง

นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า จากกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ประกาศให้ ธนาคารพาณิชย์ งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลและงดซื้อหุ้นคืน โดยให้เหตุผลเพิ่มเติมว่า เพื่อรองรับความไม่แน่นอนในอนาคต เพื่อให้สามารถปล่อยสินเชื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเสรษฐกิจหลังโควิด-19 คลายตัวลง และเพื่อรอดูการแผนจัดการเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ใหม่ หลังได้ประเมินผลกระทบจากการช่วยเหลือลูกหนี้อย่างชัดเจนแล้ว รวมถึงยังออกมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระยะที่ 2 โดยการลดเพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ 2-4% ขณะที่ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อบ้านไม่มีการลดเพดานดอกเบี้ย แต่เลื่อนชำระค่างวด เลื่อนชำระเงินต้น และลดค่างวดโดยการขยายเวลาชำระหนี้ ทำให้หุ้นกลุ่มแบงก์ถูกกระทบอย่างหนัก ซึ่งประเมินว่าเป็นปัจจัยลบในเชิงบรรยากาศการลงทุนของหุ้นกลุ่มแบงก์ และตลาดรวม แต่เนื่องจากที่ผ่านมาหุ้นแบงก์ปรับราคาขึ้นช้ากว่าภาพรวมตลาดมากอยู่แล้ว ขณะที่เงินกองทุนของแบงก์อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง และปันผลคิดเป็นสัดส่วนที่น้อยมากของเงินกองทุน จึงมองว่าหากโควิด-19 ไม่ระบาดรอบ 2 และแบงก์สามารถจัดทำแผนบริหารเงินกองทุน เพื่อสะท้อนความเสี่ยงในปัจจุบันได้เร็ว ปันผลระหว่างกาลที่งดจ่ายจะเป็นเพียงการเลื่อนเพื่อทบไปจ่ายเป็นปันผลเต็มปีเท่านั้น

 

“กลุ่มแบงก์ยังถูกกดดันต่อเนื่อง แต่ถือเป็นช่วงท้ายๆของวิกฤตโควิด-19 แล้ว แต่ปัจจัยลบที่ออกมาก็ถือเป็นบรรยากาศเชิงลบของกลุ่มแบงก์ ที่จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมตลาดหุ้นไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ตลาดให้นํ้าหนักน้อยกว่าปกติอยู่แล้ว สังเกตได้จากการเคลื่อนไหวของหุ้นแบงก์ ติดลบที่ -31% นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน ถือว่าแย่กว่าระดับดัชนีรวมที่ติดลบเพียง -13% นับจากช่วงเดียวกัน ซึ่งจะเห็นว่าหุ้นแบงก์ติดลบลึกกว่าเป็นเท่าตัว โดยมองว่าการปรับระดับลงของกลุ่มแบงก์ยังค่อนข้างจำกัด และจะยิ่งจำกัดมากขึ้น หากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดดอกเบี้ยลง สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้น้อย ยังให้ชะลอการลงทุนในหุ้นกลุ่มแบงก์ไปก่อน และหากอยากได้ปันผลระหว่างกาล เราได้คัดหุ้นใน SET100 หรือหุ้น 100 อันดับแรกที่มีการจ่ายปันผลระหว่างกาลน่าสนใจไว้ให้ ได้แก่ แอดวานซ์, อินทัช, ดีแทค, พีทีที, บีพีพี, เอสซีซี, ทีพีไอพีพี, ทีทีดับบลิว, แอลเอช, ศุภาลัย” นายณัฐพลกล่าว

 

นายณัฐพลกล่าวว่า ในส่วนของการห้ามซื้อหุ้นคืน มองไม่มีนัยสำคัญต่อภาพรวม เนื่องจากมีเพียงเคแบงก์เท่านั้น ที่ประกาศซื้อหุ้นคืน แต่ดำเนินการซื้อแล้วเสร็จ จำนวน 23.9 ล้านหุ้น มูลค่า 3.2 พันล้สนบาท ทำให้ขณะนี้ยังไม่มีการซื้อหุ้นคืน เนื่องจากผลของการซื้อหุ้นคืนไม่ได้ช่วยกระตุ้นให้ราคาหุ้นกลับมาปรับดีขึ้นกว่าภาพรวมของหุ้นกลุ่มเดียวกันได้ อีกทั้งราคาหุ้นทั้งตลาดฟื้นจากจุดต่ำสุดขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญแล้ว แบงก์ใหญ่จึงไม่มีความจำเป็นต้องประกาศซื้อหุ้นคืนเพิ่มเติมหลังจากนี้อยู่แล้ว โดยแบงก์ส่วนใหญ่จ่ายปันผลปีละ 2 ครั้ง มีเพียง เคทีบีและทิสโก้ ที่จ่ายปันผลปีละครั้ง ซึ่งหากอิงปันผลงวดครึ่งปีแรกของ หุ้นแบงก์ ได้แก่ เบย์ บีบีแอล เคแบงก์ เคเคพี เอสซีบี และ ทีเอ็มบี ได้จ่ายปันผลรวมประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท เอสซีบี ปันผลสูงสุด 5.1 พันล้านบาท รองลงมาคือ บีบีแอล ปันผล3.8 พันล้านบาท ซึ่งปีนี้ที่ไม่ได้มีการจ่ายระหว่างกาล จะถูกทบไปจ่ายปันผลเต็มปี ในกรณีที่จัดทำแผนบริหารเงินกองทุนใหม่แล้วเสร็จ สิ่งที่นักลงทุนเสียประโยชน์ไป เป็นเพียงมูลค่าของเงินตามเวลาจากการได้ปันผลระหว่างกาลที่ช้าไป 6 เดือนเท่านั้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง