รีเซต

ม.ราชภัฏรำไพพรรณี พัฒนาเฟอร์นิเจอร์จากเปลือกทุเรียน ลดขยะ-สร้างมูลค่าเพิ่ม

ม.ราชภัฏรำไพพรรณี พัฒนาเฟอร์นิเจอร์จากเปลือกทุเรียน ลดขยะ-สร้างมูลค่าเพิ่ม
TNN ช่อง16
28 เมษายน 2566 ( 12:30 )
94

จังหวัดจันทบุรีสามารถปลูกทุเรียนได้เป็นอันดับหนึ่งของประเทศ ซึ่งในแต่ละปีจะมีปริมาณขยะจากชิ้นส่วนทุเรียนเป็นจำนวนมาก อีกทั้งเปลือกทุเรียนมีลักษณะแข็งจึงสิ้นเปลืองพื้นที่การจัดเก็บและใช้เวลาย่อยสลายนานกว่าขยะอื่น ๆ 

ด้านมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี นำโดยดร.จุฑาทิตย์ นามวงษ์ อาจารย์คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม หัวหน้าโครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเปลือกทุเรียนเพื่อการใช้สอยในยุคสังคมใหม่ ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เปิดเผยว่า คณะวิจัยได้พัฒนากรรมวิธีแปรรูปเปลือกทุเรียน สู่พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองการใช้งานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

ทั้งนี้คณะวิจัยได้พัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์เครื่องใช้สอยหรือวัสดุตกแต่งบ้าน เช่น ชั้นวางของ เครื่องใช้สอยประเภทกรอบรูป กระถางและตะกร้า ทำให้เกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ และของตกแต่งบ้าน ช่วยลดขยะจากเปลือกทุเรียนในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีได้ไม่กว่า 3,000 ตันต่อปี รวมถึงช่วยลดปริมาณการขนส่งและกำจัดขยะของเทศบาลต่างๆ อีกทั้งก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรสู่การแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้แก่คนในชุมชน 

จากการศึกษาพบว่าเปลือกทุเรียนมีเยื่อเซลลูโลสซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการเตรียมคาร์บอกซีเมทิลเซลลูโลสที่นำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยพันธุ์ที่มีปริมาณเซลลูโลสมากที่สุดร้อยละ 53 คือ หมอนทอง นอกจากนี้ยังนำไปทำกระดาษที่มีความสวยงามแต่ขาดความคงทน เพราะเส้นใยทุเรียนมีขนาดสั้น ทำให้การยึดติดระหว่างเยื่อไม่แข็งแรง จึงต้องผสมเยื่อชนิดอื่น ๆ ร่วมด้วย 

สำหรับเปลือกทุเรียนที่เหมาะสมต่อการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้สอย ได้แก่ หมอนทอง ชะนี และกระดุม เพราะมีปริมาณเปลือกเหลือใช้จำนวนมากและหาง่ายที่สุด โดยนำไปแปรรูปเป็นแผ่นกระดาษ แผ่นไม้อัด ด้วยกรรมวิธีการอัดขึ้นรูปด้วยความร้อนและทำเป็นเครื่องใช้สอยต่าง ๆ ด้วยการขึ้นรูปแบบอิสระ และสามารถนำไปอัดเคลือบเรซินเพื่อให้วัสดุเงางาม ไม่เป็นฝุ่น 

นอกจากนี้คณะวิจัยยังค้นพบการเก็บรักษาเปลือกทุเรียนไว้ใช้ในช่วงขาดแคลนด้วยการดองจากเปลือกสด โดยแช่น้ำให้ท่วมและปิดฝาให้สนิท สามารถเก็บไว้ได้นาน 3-6 เดือน เพราะเปลือกทุเรียนมีสารกำมะถันเจือปนอยู่จึงรักษาความขาวของเปลือกทุเรียนไว้ได้ และควรเปลี่ยนน้ำล้างเป็นระยะเพื่อลดการเน่าเสียของเปลือกทุเรียน 


ที่มาข้อมูล : TNN ONLINE

ที่มาภาพ : TNN 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง