“จันทบุรี นครอัญมณีโลก” รัฐบาลหนุนอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ
เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2567 ณ ศูนย์ส่งเสริมอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดงานเทศกาลนานาชาติพลอยและเครื่องประดับจันทบุรี 2024 เป็นการจัดงานต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 แล้ว ภายใต้แนวคิด “จันทบุรี นครอัญมณี” “Chanthaburi City of Gems” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-9 ธันวาคม 2567
นายนภินทร เปิดเผยว่า งานเทศกาลนานาชาติพลอยและเครื่องประดับจันทบุรี เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่จะเร่งผลักดัน และสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจสู่ภูมิภาค สร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นอุตสาหกรรมที่ผู้ประกอบการส่วนมากเป็นระดับ MSME มีอยู่จำนวนประมาณ 11,990 รายซึ่งคิดเป็น 99.5% ของผู้ประกอบการทั้งหมด ซึ่งตามนโยบายของรัฐบาลต้องการที่จะเพิ่มสัดส่วน GDP ของ SME ให้ได้ถึง 40% โดยการผลักดัน MSME ของประเทศให้เติบโตนั้นธุรกิจหนึ่งก็คือการค้าอัญมณี
นายนภินทร กล่าวเพิ่มเติมว่า การผลักดันให้ธุรกิจอัญมณีเติบโตขึ้นได้ต้องดูองค์ประกอบหลายประการด้วยกัน ผมเชื่อว่าจังหวัดจันทบุรีมีความพร้อมครบทุกด้านโดยมีทั้งผู้เชี่ยวชาญเริ่มตั้งแต่การเผา โดยการใช้แรงงานฝีมือดี ประกอบกับมีนักออกแบบที่ได้รับรางวัลระดับโลก ถือว่าจันทบุรีมีความพร้อมในทุก ๆ ด้านเกี่ยวกับการผลิตอัญมณีที่มีคุณภาพ ซึ่งในอดีตจังหวัดจันทบุรีเป็นแหล่งของบ่อพลอยจำนวนมาก ทุกวันนี้แม้วัตถุดิบจะลดน้อยลง เราอาศัยการนำเข้าอัญมณี นำพลอยก้อนเข้ามา แต่เราทำอย่างไรให้พลอยก้อนที่นำเข้าจากต่างประเทศ มีศูนย์รวมอยู่ที่จันทบุรี ให้เขามาเลือกซื้อ มาเลือกช่างเจียระไน ช่างออกแบบที่จันทบุรี เพื่อให้มีศูนย์รวมของตลาดนัดพลอยและแรงงานฝีมือ สิ่งเหล่านี้จะทำให้จันทบุรีมีความพร้อมเป็นนครอัญมณีได้ โดยทั้งหมดนี้จะต้องมีการร่วมมือกันทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะผู้ประกอบการสมาคมต่างๆ เพื่อเติมความพร้อมความสมบูรณ์ให้กับจังหวัดจันทบุรีเป็นนครอัญมณีโดยสมบูรณ์อย่างแท้จริง
“ผมขอขอบคุณพันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนประกอบที่ร่วมกันจัดงาน และยังร่วมมือร่วมใจกันผลักดันในทุกมิติเพื่อให้จังหวัดจันทบุรีมีความพร้อมที่จะเป็นนครอัญมณีโลก โดยกระทรวงพาณิชย์จะเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนให้อย่างเต็มที่ และในวันที่ 5-9 ธ.ค. 67 ผมขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติมาร่วมงานนี้ นอกจากเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวแล้ว ยังถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างความสุขให้กับประชาชนในพื้นที่ ประกอบกับช่วงของการจัดงาน ยังเป็นช่วงในการจับจ่ายใช้สอยในการหาซื้อของขวัญในเทศกาลปีใหม่ คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ เดินทางเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเชื่อมั่นว่าจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะผู้เข้าชมจะได้เลือกซื้อสินค้ามีคุณภาพและราคาดีที่สุด โดยผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมงานในวันดังกล่าว ที่บริเวณศูนย์ส่งเสริมอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี และตลาดพลอย จ.จันทบุรี“ นายนภินทร กล่าว
งานเทศกาลนานาชาติพลอยและเครื่องประดับจันทบุรี มีกำหนดจัด 3 จุดแหล่งผลิต – จำหน่ายอัญมณีของโลก ได้แก่ ศูนย์ส่งเสริมอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี อาคารเคพีจิวเวลรี่ เซ็นเตอร์ และตลาดพลอยถนนศรีจันทร์ ซึ่งเป็นตลาดซื้อขายอัญมณีที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยไฮไลท์ที่สำคัญ ในปีนี้คือ โซนการจัดแสดงนวัตกรรม ตู้แสงและโคมไฟ LED สำหรับจัดระดับสีอัญมณี การจัดแสดงนิทรรศการเครื่องประดับงานประกวดระดับโลก และนิทรรศการในโครงการพัฒนาผู้ประกอบการในภูมิภาค Gems Treasure รวมไปถึงการนำเสนอผลงานวิจัยด้านอัญมณีและเครื่องประดับจากสถาบัน และคณะอัญมณี มหาวิทยาลัยบูรพา และกิจกรรม Work Shop โดยสถาบันการศึกษา และการจัดแสดงกิจกรรมสาธิตการแกะแว็กด้วยมือ และการชุบ ขัดล้างเครื่องประดับฟรี โดยสมาคมช่างทองไทย
ข้อมูลสถิติการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยพบว่า ตั้งแต่ช่วง มกราคม - กันยายน 2567 มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.85 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 โดยเป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 3 ของสินค้าส่งออกโดยรวมของประเทศไทย โดยสินค้าสำคัญของไทยที่เติบโตได้ดี คือ เครื่องประดับทอง เครื่องประดับเงิน พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน และเครื่องประดับเทียม ดังนั้น อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก และถือเป็นอุตสาหกรรมที่นำเงินตราต่างประเทศเข้าสู่ประเทศในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก
ภาพจาก สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (GIT)