รีเซต

คืบหน้า เยียวยาคนเลี้ยงหมู-แก้โรคระบาด กมธ.เคาะ 6 ข้อ จ่อเสนอเห็นชอบ

คืบหน้า เยียวยาคนเลี้ยงหมู-แก้โรคระบาด กมธ.เคาะ 6 ข้อ จ่อเสนอเห็นชอบ
มติชน
22 มีนาคม 2565 ( 13:05 )
57

“สหกรณ์ผู้เลี้ยงหมูฉะเชิงเทรา” จี้ กมธ.แก้โรคระบาดหมู ช่วยเหลือเยียวยา 3 ข้อ ด้าน “วีระกร” ชี้ กมธ.เคาะความเห็น 6 ข้อ ช่วยเหลือคนเลี้ยงหมู

 

เมื่อเวลา 11.10 น. วันที่ 22 มีนาคม ที่รัฐสภา นายเสน่ห์ นัยเนตร ประธานกรรมการสหกรณ์ปศุสัตว์และสัตว์น้ำ ฉะเชิงเทรา จำกัด พร้อมด้วยเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูประมาณ 30 คน เข้ายื่นหนังสือต่อ นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาปัญหาการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟิกาในสุกร และศึกษาแนวทางช่วยเหลือประชาชนจากปัญหาสินค้าอุปโภคปรับบตัวสูงขึ้น สภาผู้แทนราษฎร เพื่อทวงถามความคืบหน้า หลังจากที่เคยยื่นขอความช่วยเหลือมาแล้ว เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2565

 

โดยต้องการให้เร่งรัดการเยียวยา และชดเชยความเสียจากโรคระบาดในสุกร และนำไปสู่การฟื้นฟูอาชีพการเลี้ยงสุกรโดยเร็ว ใน 3 เรื่อง คือ 1.การชดเชย เยียวยาให้กับสมาชิกสหกรณ์ฯ 38 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 139 ล้านบาท 2.ฟื้นฟูอาชีพเลี้ยงสุกร โดยรัฐจัดหาแหล่งเงินทุนปลอดดอกเบี้ย และ 3.พัฒนาสหกรณ์ฯ ให้มีศูนย์วิจัยโรคระบาด และวินิจฉัยโรคได้ทันสถานการณ์

 

ด้าน นายวีระกร กล่าวว่า กมธ.ฯ ได้เร่งพิจารณาปัญหาโรคระบาดในสุกร และสามารถจัดทำเป็นข้อสังเกตและข้อเสนอแนะที่จะรายงานต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ความเห็นชอบใน 6 ข้อ ดังนี้

 

1.รัฐบาลต้องให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) ธนาคารกรุงไทย และธนาคารออมสิน ปล่อยเงินกู้ ดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ปลอดดอกเบี้ย 6 เดือน และปลอดเงินต้น 2 ปี สำหรับเกษตรกรรายย่อยที่เลี้ยงสุกรไม่เกิน 50 ตัว เสนอเงินทุนให้ 2.5 แสนบาท

 

2.กรมปศุสัตว์จัดหาลูกสุกรหย่านมน้ำหนักตัว 16 กิโลกรัม ขายให้เกษตรกรในราคาไม่เกินตัวละ 2,000 บาท รวมถึงแม่พันธุ์ด้วย

 

3.กรมปศุสัตว์ต้องตรวจสอบพื้นที่โรคระบาดว่ามีความปบอดภัย สามารถเปิดฟาร์มได้ และเน้นให้เกษตรกรสร้างฟาร์มแบบใหม่ มีโรงเรือนปิด เพิ่มความปลอดภัยจากทั้งแมลง ฝุ่น หรือเชื้อโรคจากคน และออกใบรับรองมาตรฐานฟาร์มให้เกษตรกรนำไปยื่นกู้

 

4.จัดอบรมอาสาปศุสัตว์และเกษตรกรรายย่อย

 

5.จัดอบรมอาสาปศุสัตว์อำเภอให้มีความรู้ มีทักษะ ความสามารถในการเลี้ยงสุกร

 

และ 6.ลดภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง 100% เป็นการชั่วคราว

 

นายวีระกร กล่าวต่อว่า จากสถานการณ์ราคาอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น ซึ่ง กมธ.ฯ ได้ศึกษาเพิ่มเติมการนำข้าวกะเทาะเปลือก ทั้งข้าวสาลี และข้าวกล้อง เพื่อมาทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่ประเทศไทยผลิตได้ไม่เพียงพอต่อการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ทั้งนี้ในการประชุมกมธ.ฯ สัปดาห์หน้า จะเชิญตัวแทนจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับการผลิตและแปรรูปอาหารสัตว์ทดแทน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง