รีเซต

เฉลิมชัย ยันไม่มีปกปิดโรคระบาดหมู แจงจ่ายชดเชยเฉพาะรายย่อย จับมือจุฬาฯเร่งคิดค้นวัคซีน

เฉลิมชัย ยันไม่มีปกปิดโรคระบาดหมู แจงจ่ายชดเชยเฉพาะรายย่อย จับมือจุฬาฯเร่งคิดค้นวัคซีน
มติชน
12 มกราคม 2565 ( 16:20 )
46

เฉลิมชัย ยันไม่มีการปกปิดข้อมูลหลังพบการระบาด ASF ในประเทศไทย ชี้ชัดการจ่ายค่าชดเชยจะจ่ายให้กับเกษตรกรรายเล็กและรายย่อยเท่านั้น ย้ำเนื้อสุกรสามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัย

 

เมื่อวันที่ 12 มกราคม  นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การเกิดโรค African Swine Fever หรือ ASF ในสุกร (อหิวาต์แอฟริกาในสุกร) กรมปศุสัตว์ได้ส่งชุดเฉพาะกิจลงตรวจสอบสภาวะโรคในพื้นที่เสี่ยง สุ่มตรวจสอบเพิ่มเติมโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการเลี้ยงสุกรหนาแน่น และนำไปตรวจหาโรคส่งวิเคราะห์ที่สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการของกรมปศุสัตว์ โดยผลการวิเคราะห์ตัวอย่างในเบื้องต้นจากจำนวนทั้งหมด 309 ตัวอย่าง พบว่ามีผลบวกพบเชื้อ ASF จำนวน 1 ตัวอย่าง จากพื้นผิวสัมผัสบริเวณโรงฆ่าสัตว์แห่งหนึ่งที่มาจากจังหวัดนครปฐม ซึ่งได้มีการแจ้งผลดังกล่าวต่อคณะกรรมการวิชาการป้องกันและควบคุมโรค ASF ได้รับทราบผลแล้ว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ จึงเห็นควรประกาศให้ประเทศไทยพบโรค ASF เพื่อให้สามารถดำเนินการป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและควบคุมโรคให้สงบโดยเร็ว และขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการรายงานไปยังองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (World Organization for Animal Health หรือ Office International des Epizooties; OIE) เพื่อแจ้งให้ประเทศสมาชิกทราบต่อไป

 

สำหรับการดำเนินการหลังตรวจพบโรคในประเทศแล้ว กรมปศุสัตว์จะดำเนินการประกาศเขตโรคระบาด และควบคุมการขนย้ายในรัศมี 5 กิโลเมตร รอบจุดที่พบโรค และจะพิจารณาทำลายสุกรที่มีเหตุอันสมควรให้สงสัยว่าเป็นโรค หรือมีความเชื่อมโยงทางระบาดวิทยากับฟาร์มที่เป็นโรค พร้อมจ่ายค่าชดเชยราคาสุกรที่ถูกทำลาย หลังคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบกลาง จำนวน 570 ล้านบาท เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา โดยกระทรวงเกษตรฯ จะจ่ายเงินชดเชยให้กับเกษตรกรรายเล็กและรายย่อยเท่านั้น เนื่องจากเป็นการดูแลเกษตรกรที่ต้นทุนน้อย และไม่มีความพร้อมในการดูแลฟาร์ม

 

นอกจากนี้ การดำเนินงานในพื้นที่อื่น ๆ ที่ไม่อยู่ในรัศมีการควบคุมโรค การเคลื่อนย้ายสุกรทุกวัตถุประสงค์จะต้องได้รับอนุญาตจากสัตวแพทย์ โดยคำนึงถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด รวมถึงการขออนุญาตนำสุกรเข้ามาเลี้ยงต้องได้รับการอนุญาตจากเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์

 

รมต.เกษตรฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรค ASF ในสุกรมีการระบาดไปยังหลายประเทศทั่วโลก และระบาดบริเวณประเทศรอบข้างประเทศไทยในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา สร้างความเสียหายในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรอย่างมาก และยังไม่มีวัคซีนในการป้องกัน กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมปศุสัตว์จึงได้จัดทำ MOU กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยร่วมกันคิดค้นวัคซีนเพื่อป้องกันโรคดังกล่าว ซึ่งขณะนี้มีความคืบหน้าอย่างมาก คาดว่าหากการทดลองประสบผลสำเร็จอีกสองขั้นตอน จะสามารถนำวัคซีนมาใช้ได้ และประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกที่ผลิตวัคซีนได้ ทั้งนี้ ASF เป็นโรคที่ไม่ติดต่อสู่คนหรือสัตว์ชนิดอื่น และเนื้อสุกรสามารถทานได้อย่างปลอดภัย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง